9 สิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับเอเปค 2022 (APEC 2022)

1. เอเปค (APEC) คืออะไร

เอเปค คือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ย่อมาจาก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) จัดตั้งขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ. 2532 โดยมีเป้าหมายหลักในเรื่องการส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าและการลงทุน และยังมีความร่วมมือในด้านสังคมและการพัฒนาประเทศทางอื่นๆ เช่น การเกษตร เศรษฐกิจ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการพัฒนาด้านสาธารณสุข เพื่อนำไปสู่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประชาชนในภูมิภาค

2. APEC มีกี่ประเทศ

ในปี 2022 นี้ เอเปคมีสมาชิกทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่

  • รัสเซีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย. นิวซีแลนด์, ปาปัวนิวกินี
  • สาธารณรัฐประชาชนจีน, ฮ่องกง, ไต้หวัน
  • ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, บรูไน, สิงคโปร์, เวียดนาม
  • แคนาดา, ชิลี, เม็กซิโก, เปรู, สหรัฐอเมริกา และไทย

โดยการประชุมคราวนี้มีแขกรับเชิญพิเศษอีก 3 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ซาอุดิอาระเบีย และ ฝรั่งเศส

นอกจากนี้ยังมีผู้สังเกตการณ์อีก 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) สภาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภาคพื้นแปซิฟิก (Pacific Economic Cooperation Council – PECC) และกรอบการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก (Pacific Islands Forum – PIF)

 

3. เอเปคสำคัญยังไง

ประเทศที่เป็นสมาชิกมีประชากรรวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 2,300 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของโลก (โลกมีประชากรประมาณ 7,800 ล้านคน) และ GDP ของทุกประเทศสมาชิกมีขนาดใหญ่เกินครึ่งนึงของ GDP โลก

ฉะนั้นแล้วหากมีความร่วมมือหรือการเคลื่อนไหวสำคัญๆ ก็จะกระทบกับเศรษฐกิจโลกอย่างไม่ต้องสงสัย

 

4. เอเปคประชุมอะไรบ้าง

ในการจัดการประชุมเอเปคนั้น มีการประชุมความร่วมมือระหว่างประเทศกันใน 5 มิติ ดังนี้

  1. การอำนวยความสะดวกทางการค้า การลงทุน และการดำเนินธุรกิจ
  2. การบูรณาการและการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ
  3. การพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืน โดยทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน
  4. การสร้างความร่วมมือเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
  5. การพัฒนาเทคโนโลยี ดิจิตอล และการสร้างนวัตกรรม

 

5. ทำไมเอเปคจัดขึ้นที่ประเทศไทย

ครั้งล่าสุดที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพคือปี 2546 และครั้งที่แล้วจัดขึ้นที่นิวซีแลนด์ ในปี 2564 โดยจะมีการผลัดเปลี่ยนหมุดเวียนกันเป็นเจ้าภาพในแต่ละปี ซึ่งหากนับจำนวนสมาชิกแล้วก็อีกประมาณ 20 ปีเศษๆ ถึงจะได้เวียนมาจัดที่ไทยอีกครั้ง

6. แนวคิดหลักของเอเปคครั้งนี้คืออะไร

แนวคิดหลักของเอเปคครั้งนี้คือ “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ ภาษาอังกฤษ “Open. Connect. Balance” โดยประเด็นสำคัญคือการทำให้เอเปคเปิดกว้างสู่ทุกโอกาส เชื่อมโยงทุกมิติ และสร้างสมดุลในทุกด้าน ภายใต้วิสัยทัศน์ที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาควาไม่สมดุลที่เห็นเด่นชัดขึ้นจากวิกฤตโรคระบาด โดยมีสัญลักษณ์เป็นชะลอม ที่สื่อถึงการรวมตัวกันอีกด้วย

และการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคด้วยการนำแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BGC Economy) มาเป็นรูปแบบในการพัฒนาเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน

 

7. การประชุมเอเปคครั้งนี้สำคัญอย่างไร

หลังจากทั่วโลกผ่านวิกฤตโรคระบาดมาแล้ว 2-3 ปี นี่เป็นครั้งแรกที่จะมีการประชุมระหว่างประเทศแบบพบปะเจอหน้ากันเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ทำให้มีการประชุมพบปะกันในหลายระดับตั้งแต่ผู้นำ ผู้บริหารไปถึงระดับปฏิบัติงาน และมีการพบปะกันเป็นกลุ่มย่อยหลายกลุ่ม เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี (อัดอั้นกันมานาน)

ในขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันของโลก เกิดวิกฤตมากมายไม่ว่าจะเป็นการระบาดของโควิด-19 วิกฤตการณ์อาหาร พลังงาน สงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี รวมถึงสงครามอาวุธกันด้วย เวทีนี้จึงเป็นเหมือนสปอตไลท์ที่ทั่วโลกกำลังจับตาว่าสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้จะมีท่าทีอย่างไรต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน

นอกจากนี้หากสังเกตดีๆ บางประเทศที่มีผลกระทบโดยตรงต่อปัญหา ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ รัสเซีย และจีน ก็เข้าร่วมประชุมนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งทำให้ทั่วโลกจับตามองว่า ท่าทีของประเทศเหล่านี้จะเป็นอย่างไร

8. ไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากการประชุมเอเปคครั้งนี้

  1. ประเทศไทยจะมีบทบาทมากขึ้นในการร่วมกำหนดทิศทางและนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ
  2. ประเทศไทยจะมีช่องทางในการผลักดันท่าที ส่งเสริม และปกป้องผลประโยชน์ของไทยในเวทีระหว่างประเทศ
  3. ประเทศไทยจะมีโอกาสลดอุปสรรคทางการค้า และส่งเสริมโอกาสการค้า การลงทุนกับประเทศสมาชิกให้มากขึ้น
  4. ประเทศไทยจะได้รับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ วิชาการ การศึกษา วิทยาศาสตร์ พลังงาน สิ่งแวดล้อมและการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ
  5. ประเทศไทยจะได้ประโยชน์ในฐานะผู้นำความเปลี่ยนแปลงในการยกระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจของไทยให้ทันสมัยและเป็นสากลมากขึ้น รวมถึงการส่งเสริมศักยภาพให้แก่ภาครัฐและเอกชน

 

9. เอเปคจัดขึ้นที่ไทย จัดวันไหน จัดที่ไหน หยุดวันไหน

มาถึงหัวข้อที่คนส่วนใหญ่รอคอย นั่นคือจะจัดวันไหนและหยุดวันไหนบ้าง

สำหรับการประชุมเอเปคนี้ จะจัดขึ้นในวันที่ 14 – 19 พฤศจิกายน 2565 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต์ โดยมีกำหนดการดังนี้

  • วันที่ 14-16 พฤศจิกายน เป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส
  • วันที่ 17 พฤศจิกายน เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี
  • วันที่ 18-19 พฤศจิกายน เป็นการประชุมผู้นำและกิจกรรมของคู่สมรส

ทั้งนี้รัฐบาลประกาศให้หน่วยงานในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และ จังหวัดสมุทรปราการ หยุดในวันที่ 16 – 18 พฤศจิกายน 2565 เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจร และเพื่อความปลอดภัยในการอารักขาผู้นำของทุกเขตเศรษฐกิจ ยกเว้นสถานบริการสำคัญ เช่น ธนาคาร หรือ โรงพยาบาล ยังเปิดได้ตามปกติ สำหรับภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจนั้น ให้พิจารณาตามความเหมาะสม

 

เราจะเห็นว่าการประชุมเอเปคครั้งนี้สำคัญมากกับหลายประเทศ โดยเฉพาะสำหรับประเทศไทย หลังจากที่ผ่านพ้นวิกฤตมาแล้ว การหาเวทีเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ เป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าสถานการณ์ในประเทศจะเป็นอย่างไร ขอเชิญชวนคนไทยเป็นเจ้าภาพที่ดีในการประชุมครั้งนี้ เพราะสุดท้ายแล้วผลประโยชน์ก็จะตกอยู่กับประเทศไทยและคนไทยนั่นเอง

 

แหล่งข้อมูล

https://www.apec2022.go.th/th/what-is-apec-th/

https://th.wikipedia.org/wiki/เอเปค_2022

https://www.tnnthailand.com/news/politics/121408/

https://www.tnnthailand.com/news/politics/104524/

https://www.tnnthailand.com/news/wealth/121109/

https://www.thansettakij.com/apec-2022/542761

https://www.chula.ac.th/highlight/88490/

 

 

บทความเกี่ยวข้อง

Leave a Comment