FOB คืออะไร แตกต่างจาก CFR, CIF อย่างไร

FOB คืออะไร แตกต่างจาก CFR, CIF อย่างไร

สำหรับคนทั่วไปที่ทำงานด้านการนำเข้าส่งออก จะรู้จักและคุ้นเคยเทอมการค้าระหว่างประเทศ ได้แก่ FOB, CFR, CIF เป็นอย่างดี เพราะเป็นเทอมหรือเงื่อนไขการส่งมอบสินค้าที่ใช้กันบ่อย ซึ่งเทอมนี้เป็นข้อตกลงที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมากจนกระทั่งผู้ที่ไม่ได้อยู่ในวงการนำเข้าส่งออก ก็เคยได้ยินเช่นกัน ฉะนั้น หากบุคคลที่สนใจการนำเข้าส่งออก เข้าใจเทอมเหล่านี้ ก็จะช่วยให้การนำเข้าส่งออกทำได้ง่ายขึ้นด้วย

วันนี้เรามาทำความรู้จักกับการเทอมการค้าระหว่างประเทศ FOB, CFR และ CIF กัน แต่ก่อนจะไปเข้าใจทั้ง 3 เทอม เราควรรู้จักเทอมการค้าระหว่างประเทศ หรือ Incoterms กันก่อน

Incoterms ข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ

คือข้อตกลงที่กำหนดเป็นกติกาให้ผู้นำเข้าและผู้ส่งออก รับทราบถึงความเสี่ยงในการส่งมอบสินค้า จุดส่งมอบ และความรับผิดชอบที่จะเกิดขึ้นสำหรับทั้ง 2 ฝ่าย โดยหอการค้านานาชาติ (ICC) เป็นผู้กำหนดข้อตกลงนี้ขึ้นมา นั่นทำให้ข้อตกลงนี้เป็นกติกาสากลที่ผู้นำเข้าส่งออก ผู้ให้บริการการเดินเรือ สายการบิน ชิปปิ้ง ตัวแทน และศุลกากร เข้าใจตรงกัน

โดยกติกาใน Incoterms นี้จะมีทั้งหมด 11 ข้อ ซึ่งมี FOB, CFR, CIF รวมอยู่ในนั้นด้วย ซึ่งในบทความนี้เราจะพูดถึงเฉพาะ 3 เทอมนี้ ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ท่านสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ ข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ

FOB คืออะไร

FOB ย่อมาจากคำว่า Free On Board แปลว่า ผู้ส่งออกปลอดภาระความรับผิดชอบต่อสินค้า เมื่อสินค้านั้นถูกวางบนเรือที่กำลังจะออกจากท่าเรือต้นทาง ซึ่งท่าเรือต้นทางนี้ เป็นสิ่งที่ต้องตกลงกันระหว่างผู้ส่งออกและนำเข้าว่าจะต้องส่งสินค้าที่ไหน เมื่อตกลงกันได้แล้ว ก็ต้องไปส่งมอบที่ท่าเรือที่ได้ตกลงกันไว้นั่นเอง

FOB Bangkok คืออะไร

อย่างที่อธิบายไปข้างต้น ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกต้องตกลงจุดส่งมอบ ซึ่งหากจุดส่งมอบนี้คือท่าเรือสักแห่งในกรุงเทพฯ ชื่อเทอมก็ต้องเขียนต่อท้ายด้วยชื่อท่าเรือ ซึ่งก็คือท่าเรือกรุงเทพฯ (Bangkok Port) นั่นเอง ฉะนั้น หากส่งสินค้าต้นทางจากที่แหลมฉบัง เทอม FOB ก็ต้องเปลี่่ยนชื่อเป็น FOB Laemchabang ด้วยนั่นเอง โดยการเขียนชื่อท่าเรือกำกับไว้นี้ เป็นอันเข้าใจกันว่า ราคาสินค้าที่ผู้ส่งออกแจ้งมานั้น รวมค่าใช้จ่ายทุกอย่างจนกระทั่งสินค้านี้วางบนเรือที่ท่าเรือต้นทางแล้ว ค่าใช้จ่ายหลังจากนั้นคือภาระความรับผิดชอบของผู้นำเข้า

CFR  คืออะไร

CFR ย่อมาจาก Cost and Freight คำว่า Cost แปลว่าค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งจะหมายถึงราคา FOB ส่วน Freight คือค่าเรือที่ผู้ส่งออกยินดีชำระให้ โดยรวมไว้ในราคาเรียบร้อยแล้ว ถ้าจะให้เขียนง่ายขึ้น CFR = FOB + Freight นั่นเอง

โดยเทอมนี้ ค่าใช้จ่ายที่ผู้ส่งออกรวมให้จะเป็นค่าสินค้าทั้งหมดจนกระทั่งของมาวางถึงเรือต้นทาง และค่าเรือที่จะส่งไปถึงท่าเรือปลายทางด้วย ตัวอย่างเช่น CFR Hong Kong แปลว่า ค่าสินค้านี้รวมค่าใช้จ่ายทุกอย่างในไทยหมดแล้ว (FOB) และบวกค่าขนส่งจากไทยไปยังฮ่องกงอีกด้วย ซึ่งค่าขนส่งนี้ชำระที่ต้นทางโดยผู้ส่งออก และผู้นำเข้าไม่ต้องชำระใดๆ ทั้งสิ้น

CIF ต่างจาก CFR อย่างไร

CIF เหมือน CFR ทุกอย่าง ยกเว้นผู้ส่งออกซื้อประกันภัยการขนส่งระหว่างประเทศเพื่อครอบคลุมความเสี่ยงที่ต้นทางไว้แล้ว ฉะนั้นผู้นำเข้าไม่ต้องซื้อประกันภัยขนส่งระหว่างประเทศเพิ่มเติมนั่นเอง

ซึ่งนั่นหมายความว่าราคา CIF จะเท่ากับ CFR + Insurance

สรุปราคา FOB, CFR, CIF

เมื่อทำความเข้าใจราคาแต่ละเทอมแล้ว เราจะได้ข้อสรุปดังนี้

FOB ราคาสินค้ารวมใช้จ่ายทุกอย่างที่เกิดขึ้นในไทย จนกระทั่งสินค้ามาถึงท่าเรือพร้อมส่งออกในไทย

CFR = FOB + Freight

CIF = CFR + Insurance (หรือ CIF = FOB + Freight + Insurance) นั่นเอง

FOB, CFR, CIF มีความเสี่ยงเหมือนกัน

ในแง่ราคาทั้ง 3 เทอม จะแตกต่างกัน แต่ในแง่ความเสี่ยง ทั้ง 3 เทอม มีเหมือนกันนั่นก็คือ ความเสี่ยงของผู้ส่งออกจบลงตรงที่นำของมาวางบนเรือนั่นเอง

สนใจอ่านเพิ่มเติม Incoterms

สนใจเรียนนำเข้าส่งออก อ่านที่นี่

บทความเกี่ยวข้อง

Leave a Comment