Incoterms 2024 เทอมการค้าระหว่างประเทศ
หากเราเคยสงสัยว่าเวลาส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ เราจะต้องคิดราคารวมค่าส่งหรือไม่ แล้วค่าส่งควรคิดต้นทุนทั้งหมดถึงเมื่อไหร่ หรือจะต้องมีภาษีปลายทางมั้ย แล้วค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่ลูกค้าเราต้องชำระเงิน อ่านบทความนี้กันได้เลยครับ
ลองนึกถึงเวลาเราซื้อของในประเทศ ทั้งแบบออนไลน์ และแบบซื้อกับห้างร้าน เราจะต้องมีการตกลงกันเสมอว่า ราคาสินค้านั้น รวมค่าส่งหรือไม่ หากรวมแล้วส่งถึงที่ไหน
ในการส่งออกก็เช่นกัน เราจะต้องมีการระบุค่าส่งด้วย รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่แต่ละฝั่งทั้งผู้นำเข้า และผู้ส่งออกต้องรับผิดชอบ แต่ถึงจะระบุแล้ว มันก็อาจจะต้องมีการวุ่นวายหรือเข้าใจผิดกันอย่างมาก
เช่น ผู้ส่งออกไทย เวลาส่งสินค้าเราจะไม่บวกค่าอะไรเลย ให้ลูกค้ามารับของที่โกดังเรา แต่ในขณะที่ผู้นำเข้าหลายๆ ประเทศ ต้องการสินค้าส่งไปถึงหน้าบ้านเค้า มันเลยเกิดเหตุการณ์ว่าเข้าใจไม่ตรงกัน และนี่ยังไม่นับหลายๆ ประเทศ ต่างมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจเป็นของตัวเอง จึงทำให้การพูดคุยกันสับสนอลหม่านไปได้
หอการค้าระหว่างประเทศ (International Chamber of Commerce – ICC) ก็เห็นปัญหานี้เช่นกัน จึงได้กำหนดกติกาบางอย่างที่บังคับใช้กันทั่วโลก ที่เรียกว่า Incoterms ย่อมาจาก International Commercial Terms
Incoterms คืออะไร
Incoterms คือกติกา หรือข้อบังคับระหว่างประเทศ ที่ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าตกลงกันว่าจะปฏิบัติตาม จึงไม่ได้ถูกบังคับว่าต้องใช้กติกานี้ทุกครั้ง อย่างไรก็ตาม หากทั้งสองฝ่ายตกลงจะใช้กติกานี้แล้ว ก็ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพราะหากผิดข้อตกลง ก็อาจจะถูกฟ้องร้องค่าเสียหายได้ Incoterms พูดถึงอะไรบ้าง โดยจะระบุ 3 เรื่องหลัก ๆ ได้แก่
1) ใครเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หรือพูดง่ายๆ คือ ถ้าคุยกันด้วยเทอมหนึ่ง ผู้ส่งออกจะต้องออกค่าใช้จ่ายเมื่อสินค้าถูกลำเลียงถึงจุดไหนนั่นเอง และที่เหลือก็เป็นภาระค่าใช้จ่ายของผู้นำเข้า
2) ระบุขอบเขตความรับผิดชอบ เช่น กรณีเรืออยู่ระหว่างเดินทางในมหาสมุทร ปรากฎว่ามีการอัปปาง หรือสินค้าเสียหาย ผู้ส่งออก หรือ ผู้นำเข้า ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหาย หรือไล่เบี้ยกับสายเรือ และบริษัทประกันภัย เป็นต้น
3) ระบุว่าใครเป็นผู้ชำระค่าประกันภัย เรื่องนี้เป็นเรื่องขยายความจากหัวข้อ 2 นั่นเอง
Incoterms 2020 มีกี่เทอม มีอะไรบ้าง
Incoterms นั้นมีทั้งหมด 11 แบบ ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ทั้งสิ้น 4 กลุ่ม เราจะไปดูทีละกลุ่มกัน
กลุ่ม E คิดเฉพาะค่าสินค้า
-
EXW Term – EX-WORK
ในเทอมนี้ จะเน้นไปที่ราคาสินค้าเท่านั้น โดยผู้ส่งออก หรือผู้ผลิต มีหน้าที่ผลิตหรือจัดหาสินค้าให้ตรงตามที่ลูกค้าต้องการ ต้นทุนสินค้าบวกกำไรที่ต้องการ โดยไม่รวมค่าส่งสินค้า แล้วบอกสถานที่ให้ผู้นำเข้าจัดหาพาหนะมารับสินค้า
โดยเทอมกลุ่มนี้คนไทยนิยมใช้ เพราะคิดราคาเฉพาะแค่ต้นทุนสินค้ากับกำไรเท่านั้น และจะรวมเอกสารสำคัญที่จำเป็นต้องออกโดยผู้ส่งออกหรือผู้ผลิต ซึ่งค่าใช้จ่ายเอกสารจะรวมในต้นทุนหมดแล้ว
กลุ่ม F ผู้ส่งออกรับภาระค่าใช้จ่ายเฉพาะในประเทศต้นทาง
ในกลุ่มนี้นั้น ผู้ส่งออกจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเฉพาะในประเทศต้นทาง ซึ่งอาจจะรวมหรือไม่รวมบางอย่าง แต่จะไม่เกินขอบเขตประเทศต้นทางแน่นอน โดยมีเทอมดังนี้
-
FCA Term – Free Carrier
เป็นเทอมที่ผู้ส่งออกคิดค่าสินค้า ต้นทุนบวกกำไร และคิดค่าขนส่งด้วย โดยผู้ส่งออกมีหน้าที่ส่งสินค้าไปยังโกดังหรือสถานที่รับของลูกค้าที่ได้ตกลงกันไว้ ซึ่งจะอยู่ในประเทศของผู้ส่งออกนั่นเอง
ส่วนใหญ่จะเป็นกรณี ลูกค้าต่างประเทศมาเช่าโกดังในไทยเพื่อรับสินค้าไปส่งต่อเอง
-
FAS Term – Free Alongside Ship
เทอมนี้จะค่อนข้างซับซ้อน เพราะใช้กับการขนส่งบางประเภทเท่านั้น เช่น น้ำมัน ซึ่งสินค้าโดยส่วนใหญ่จไม่ใช้เทอมนี้ ดังนั้นจะไม่ขอลงรายละเอียด
-
FOB Term – Free on Board
ผู้ส่งออกมีหน้าที่ส่งสินค้ามาถึงท่าเรือประเทศต้นทาง โดยรวมต้นทุนค่าใช้จ่ายทุกอย่างแล้วไม่ว่าจะเป็นค่าสินค้า ค่าขนส่งในประเทศ ค่าธรรมเนียมศุลกากร และค่ายกสินค้าลงเรือ ส่วนนอกเหนือจากนั้น ผู้นำเข้าเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่าย
กลุ่ม C กลุ่มนี้ ผู้ส่งออกจะต้องคำนึงถึงค่าขนส่งระหว่างประเทศด้วย
-
CPT Term – Carriage Paid-To
เป็นการขนส่งสินค้ารวมค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่ประเทศต้นทาง แล้วรวมกับค่าขนส่งระหว่างประเทศ เพื่อไปส่งยังจุดหมายปลายทางของประเทศผู้นำเข้า ซึ่งจะเป็นที่ใดก็ได้ที่ระบุไว้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นสนามบิน หรือศุลกากรฝั่งผู้นำเข้า
-
CIP Term – Carriage and Insurance Paid-To
เหมือน CPT โดยผู้ส่งออกรับภาระออกค่าประกันภัยแทนผู้นำเข้า
-
CFR Term – Cost and Freight (เดิมชื่อ C&F)
เป็นการขนส่งทางเรือ ที่รวมค่าใช้จ่ายทุกอย่างของประเทศต้นทาง (FOB) แล้วบวกด้วยค่าขนส่งระหว่างประเทศไปถึงปลายทาง
-
CIF Term – Cost, Freight and Insurance
เหมือน CFR แต่รวมค่าประกันภัยด้วย
กลุ่ม D เทอมนี้ผู้ส่งออกต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในประเทศปลายทางด้วย
-
DAP Term – Delivery at Place
เป็นการขนส่งถึงสถานที่ของลูกค้าผู้นำเข้าปลายทาง แต่จะไม่รวมค่าศุลกากรขาเข้าของประเทศปลายทาง
-
DPU Term – Delivery at Place Unloaded (ชื่อเดิม DDU Term)
เหมือน DAP แต่จะรวมค่ายกสินค้าลงจากรถด้วย
-
DDP Term – Delivery Duty Paid
เป็นการชำระค่าใช้จ่ายศุลกากรปลายทางให้ลูกค้าด้วย รวมค่าใช้จ่ายทุกอย่างแล้ว แต่จะไม่รวมค่ายกสินค้าลงจากพาหนะ
สรุปข้อสังเกตจาก Incoterm เทอมการค้าทั้ง 11 เทอม
- เทอมการค้าทุกรายการสามารถใช้กับการขนส่งได้ทุกประเภทยานพาหนะ ไม่ว่าจะเป็น เรือ เครื่องบิน รถยนต์ รถไฟ ยกเว้นเทอมการค้า FAS, FOB, CFR, CIF ที่ใช้เฉพาะการขนส่งทางเรือเท่านั้น
- ในทุกเทอม ผู้ส่งออกรับผิดชอบถึงเทอมไหน ส่วนที่เหลือเป็นของผู้นำเข้า
- เราจะสังเกตได้ว่า ไม่มีเทอมไหนที่ผู้นำเข้าไม่ต้องชำระเพิ่มเติมเลย ทุกเทอมจะมีผู้นำเข้าเกี่ยวข้องด้วยเสมอ แม้จะส่งของถึงที่อยู่ผู้นำเข้าแล้วก็ตาม
- Incoterms นี้ ใช้ได้อีก 10 ปี จากปี 2020 ไปถึงปี 2029 ฉะนั้นหากท่านหาข้อมูลว่า incoterms 2022, 2023, 2024, 2025, 2026, 2027, 2028 ก็ใช้เทอมแบบเดียวกันนั่นเอง
สนใจคอร์สเรียน Incoterms คลิกที่นี่
สนใจศึกษาความรู้เพิ่มเติมเพื่อป้องการผิดพลาดในเรื่องการเสนอราคาสินค้าต่างประเทศ สามารถดูคอร์สได้จากทางสถาบันครับ