ไอเดียหาสินค้านำเข้าส่งออก

สำหรับท่านที่เป็นผู้ประกอบการนำเข้าส่งออก หรือ ขายสินค้าออนไลน์ นี่คงจะเป็นคำถามแรกที่สงสัยว่า “ขายอะไรดี” โดยเฉพาะมือใหม่ คำถามนี้อาจจะเป็นคำถามที่คาใจมาก และอาจจะเป็นคำถามที่ฉุดรั้งไม่ให้คุณเริ่มต้นธุรกิจใดๆ เลยด้วยซ้ำ ซึ่งผมก็เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ จนกระทั่งวันหนึ่งได้ตัดสินใจจะขายสินค้าสักตัว จากนั้น ชีวิตก็เปลี่ยนไป แทนที่จะคิดไม่ออกว่าขายอะไรดี กลับกลายเป็นเราจะขายให้ใครดี ขายยังไง จะขยายยังไงดี

ฉะนั้นวันนี้เรามาดูแนวทางในการหาไอเดียสินค้าใหม่กันนะครับ อ้อ! สำหรับใครที่อยากได้บทความที่ฟันธงไปเลยว่าสินค้าตัวไหนขายดี เอามาขายแล้วรวย ขออนุญาตแนะนำให้ผ่านบทความนี้ไปเลยนะครับ เพราะผมไม่ได้จะมาชี้แนะหรือฟันธงแบบนั้น มันดูมักง่ายเกินไป และที่สำคัญคือ เราก็ไม่รู้ว่ามันจะขายดีมั้ย จนกว่าเราจะขายจริง ผมมีอยู่ 5 แนวทางให้ลองไปใช้กัน เราไปดูแนวทางหาไอเดียกันเลยนะครับ

1. หาไอเดียจากสิ่งรอบตัว

เริ่มจากตัวเราและรอบตัวเรา รวมถึงคนที่อยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุด

บางคนอาจจะประหลาดใจที่ผมเริ่มด้วยวิธีนี้ แต่จริงๆ แล้วเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดเลยครับ และแนวทางแรกก็คือการหาว่าเราหลงใหล ขอบ รักอะไร หรือเชี่ยวชาญอะไรมากที่สุด

ก่อนอื่น ขอปรับทัศนคติก่อน เพราะมันจะมีคำพูดคำนึงที่คนมักพูดกันว่า การได้ทำสิ่งที่ตัวเองรัก มันจะรุ่ง ถ้าสิ่งที่ทำนั้นไม่รัก หรือไม่หลงใหล มันก็ไม่รุ่ง ผมคิดว่าประโยคนี้มันถูกแค่ครึ่งเดียวนะครับ จริงอยู่ว่าทำสิ่งที่ตัวเองรัก มันจะมีความไม่ยอมแพ้ สู้จนสุดใจขาดดิ้น เพื่อธุรกิจที่ตัวเองรัก แต่ไม่มีอะไรการันตีว่าจะประสบความสำเร็จ

เช่น คุณรักการทำเค้ก อยากให้ทุกคนได้กินเค้กที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย คุณเลยใส่ของดีทุกอย่างลงไป แต่มันดันไม่เวิร์ค เพราะราคามันสูงเกิน คนไม่ซื้อ และคุณก็จะกลับมาบ่นว่า ทำไมคนไม่ชอบซื้อของดี ทำไมของคุณภาพห่วยๆ ถึงขายได้ เพราะความชอบมันเป็นเรื่องของการหลงใหลส่วนตัว แต่ไม่ได้แปลว่าสิ่งที่เราหลงใหลนั้นจะทำเงินให้เรา

ในทางกลับกัน หากคุณทำธุรกิจที่ตัวเองไม่ได้รักมาก แต่คุณทำมันได้ดี เพราะคุณเข้าใจมัน ก็สำเร็จได้เหมือนกัน เช่น ธุรกิจรีไซเคิลขยะ ผมมั่นใจว่าเกิดมา คงไม่มีใครมีความฝันอยากเป็นคนซื้อขายขยะ แต่ก็มีคนรวยจากมันเยอะแยะ เห็นมั้ยครับ คำพูดนี้อาจจะไม่ได้ถูกซะทีเดียว ฉะนั้น จะทำสิ่งที่รัก หรือไม่รัก ก็ไม่ใช่ประเด็นอะไรทั้งนั้นครับ

ที่นี้เราลองมาดูวิธีการหาสิ่งที่ตัวเองหลงใหล และรัก มีอะไรบ้าง อะไรที่เราสามารถอยู่กับมันได้นานแสนนาน ไม่เบื่อเลย อะไรที่เราไม่เคยเหนื่อยที่จะทำมันจนกว่ามันจะสำเร็จ อย่าเพิ่งบอกว่าตัวเองไม่มี เพราะผมเชื่อว่าทุกคนมี โดยธรรมชาติคนเราจะเอาใจใส่กับเรื่องไม่กี่เรื่องแค่นั้น ลองเปิดมือถือคุณดู โหลดแอพมาเป็นร้อย แต่วันๆ นึงใช้แค่ไม่ถึงสิบแอพฯ ลองลิสออกมาดูครับ บางคนอาจจะชอบการดูหนัง ชอบการเย็บปักถักร้อย ชอบการสะสมของเก่า พวกนี้ก็เอามาทำเป็นอาชีพได้ครับ

อีกวิธีนึงก็คือ การหาว่าตัวเองถนัดด้านไหนบ้าง เราทำอะไรเก่งบ้าง เช่น เราทำขนมได้อร่อยมาก เราสามารถนำเสื้อผ้ามาดัดแปลงเป็นชุดที่ไม่เหมือนใครได้ เรามีมีหูที่ดี สามารถฟังความแตกต่างของเสียงลำโพงได้ เราก็ขายหูฟังมันซะเลย เป็นต้น ถ้ายังนึกไม่ออกจริงๆ ว่าเราเก่งอะไร ให้ลองนึกเล่นๆ ว่าปกติมีเพื่อนเรามาขอคำปรึกษาอะไรกับเราบ้าง นั่นล่ะครับ สิ่งที่เราเชี่ยวชาญ

หรือหากคุณยังไม่แน่ใจ ก็ลองดูงานที่คุณทำอยู่ ว่าคุณทำอะไรเป็นหลัก เป็นคนทำบัญชี วางแผนการตลาด หรืออะไรทำนองนี้รึเปล่า หรือหากใครมีธุรกิจ ก็ดูว่าธุรกิจที่บ้านตัวเอง มันใช่แนวทางรึเปล่า ผมคนนึงเลย ยอมรับว่าทำอะไรของที่บ้านไม่เป็น แต่เชื่อมั้ยครับ เพราะความที่เราเห็นมันมาแต่เด็กๆ ให้หลับตาก็รู้เลยว่าเราจะทำธุรกิจให้มันดีขึ้นได้ยังไง ลูกค้าเป็นใคร ขายช่อทางไหน ถ้าที่กล่าวมามันใช่ ก็นั่นแหละครับ สิ่งที่คุณกำลังมองหาอยู่นั่นเอง

ตอนที่แล้วผมเกริ่นถึงไอเดียแรก คือการหาสิ่งใกล้ตัวที่เราทำ ไม่ว่าจะเป็นตัวเรา ความชอบ หรือความเชี่ยวชาญของเราเอง มาตอนนี้ ผมจะบอกแนวทางที่ 2 ให้นะครับ ซึ่งก็คือ

2. การออกไปเดินตลาด

อาจจะฟังดูธรรมดา แต่รายละเอียดการเดินตลาดของผม ไม่ธรรมดา มาอ่านต่อกันเลยนะครับ

ก่อนจะไปเดินตลาด เราต้องถามตัวเองก่อนว่าตลาดมีกี่แบบ อะไรบ้าง แล้วเราชอบ หรือแนวทางเราคือตลาดแบบไหน บางคนนะครับ ไปเดินสำเพ็งไม่ได้เลย ร้อน เหงื่อแตก เมื่อย (ทั้งที่มันมีระยะทางแค่กิโลเศษๆ) แต่สามารถเดินห้างได้ทั้งวัน เพราะแอร์เย็น มีอะไรให้มองเยอะแยะ นี่ก็แล้วแต่ความชอบ แต่บางคนก็ไม่เข้าห้าง เพราะไม่ใช่แนว และจะรู้สึกเบิกบานใจทุกครั้งที่ไปเดินตลาดนัด เพราะมันคือตัวเค้า ก็เป็นได้ทั้งนั้น

ถัดมา เรามาดูกันนะครับว่าตลาดแบบไหนที่เราควรเดิน ซึ่งมันขึ้นอยู่กับว่าเรามีวัตถุประสงค์อะไร การไปหาของมาขาย หรือไปเช็คราคา ไปดูกลุ่มลูกค้า หรือไปหาซัพพลายเออร์ เพราะตลาดมีทั้งตลาดค้าส่งและค้าปลีก ลองไปดูรายละเอียดของแต่ละที่กันนะครับ

  • ตลาดนัด

สำหรับใครที่อยากขายของตลาดที่เน้นราคา ความคุ้มค่า หรือบางคนก็เรียกติดปากว่าตลาดล่าง (สำหรับผม ตลาดล่าง ไม่ได้แปลว่าต่ำ หรือจน แปลว่าไม่เคร่งครัดมาก.. อย่าดราม่าน้า) สิ่งที่เราจะต้องไปสำรวจก็คือ เค้าขายอะไรกัน ขายกันที่ราคาเท่าไหร่ เราจะหามาสู้ได้มั้ย ที่สำคัญที่สุดก็คือ หากเรานำเข้าสินค้ามาแล้ว จะไปขายได้ต่ำสุดราคาเท่าไหร่ เห็นมั้ยครับ เราไปเดินแบบมีวัตถุประสงค์ ไม่ได้ไปเดินซื้อเสื้อผ้าแล้วกลับนะครับ ไปที่ไหนก็ได้ ใกล้บ้านคุณ มีประโยชน์ทั้งนั้น

  • ตลาดขายส่ง

ถ้านึกถึงตลาดเหล่านี้ก็ต้องนึกถึงพวก สำเพ็ง พาหุรัด โบ๊เบ๊ คลองถม ถ้าในต่างจังหวัดก็จะเป็นตลาดใหญ่ๆ ประจำจังหวัด หรือห้างค้าส่ง เมื่อเราเดิน ให้สังเกตดูว่าสินค้าไหนที่มีคนซื้อเยอะๆ แปลว่าแม่ค้าก็สนใจ และกำลังขายดี เราก็สามารถเลือกซื้อได้ครับ และหากใครไปเดินตลาดนัดมาก่อน เมื่อเทียบราคาแล้วอาจจะตกใจว่า ทำไมต้นทุนมันถูกอย่างงี้

อีกประเภทคือตลาดเฉพาะทาง หากใครมีธงอยู่แล้ว ว่าจะขายเสื้อผ้า ก็ไปจตุจักร แพลตินั่ม ได้เลยครับ

  • ห้างสรรพสินค้า / ซูเปอร์มาร์เก็ต / ร้านสะดวกซื้อ

หากตลาดคุณคือ ตลาดกลางถึงบน ก็ควรไปดูสินค้าพวกนี้แทน เราอาจจะไปซื้อไส้กรอกในเซเว่น จนลืมสังเกตไปว่าสินค้าในเซเว่นนั้นมีมากมายหลายพันรายการ เราจะไม่อยากเชื่อเลยว่า เรามองข้ามพวกนี้ไปได้ยังไง วันก่อนผมก็ไปเดินเซเว่น และก็ไปดูบนชั้นวางเครื่องสำอางค์ พบว่าเครื่องสำอางค์ในเซเว่น ขายกันที่ราคาไม่แพงเลย แต่แพกเกจจิ้ง รวมถึงคุณสมบัติดูดีไม่แพ้ในห้างเลยนะครับ ฉะนั้นอย่ามองข้ามอะไรพวกนี้

ส่วนในห้างนั้น หากคุณทำสินค้าส่งออกหรือขายสินค้าแนวๆ ของฝาก ก็ควรไปหาดูพวกห้างที่คนต่างชาติมาเดินเยอะๆ ดูว่าเค้านิยมซื้ออะไรกัน ตอนแรกๆ ที่ผมเริ่มทำธุรกิจก็มาจากตรงนี้เลยครับ ไปดูว่าเค้าซื้ออะไร ไปดูว่าคู่แข่งไปถึงไหนแล้ว

3. เดินในงานแสดงสินค้า

นี่เป็นวิธีที่ผมใช้บ่อยที่สุดเลยนะครับ เพราะการไปเดินงานแฟร์ เราสามารถมองเห็นจับต้องได้เลยว่า สินค้าที่เราอยากขาย หน้าตาเป็นยังไง คนที่ขายอยู่แล้ว เค้ามีลักษณะแบบไหน สินค้าที่เค้าขายเป็นยังไง ฟังก์ชั่นอะไร ราคาโดนมั้ย เหมาะกับการทำธุรกิจมั้ย

เท่าที่ผมเคยเจอมา กลับพบว่ามีหลายคน แม้จะเป็นผู้ประกอบการเองด้วย ไม่ค่อยอยากไปเดินงานแฟร์เท่าไหร่ เพราะว่ากลัวว่าเราจะไปเจอคู่แข่ง หรือคู่แข่งจะคิดว่าเราไปหาสินค้าเพื่อเลียนแบบเค้า อันนี้ผมขอแนะนำว่าอย่าไปคิดอย่างนั้นนะครับ

เพราะว่าคู่แข่งเรานี่แหละ ที่เค้ามายืนตรงนี้ได้ ก็เพราะเค้าเคยเดินงานแฟร์มาก่อนเช่นกัน และในเมื่อเค้าเคยทำมาก่อน เค้าก็คงรู้ตัวอยู่แล้วว่า คนที่มาเดินงานไม่ใช่ว่าจะมีแต่ลูกค้า ก็คงมีคู่แข่งด้วยแน่นอน และเค้าก็คงหาวิธีป้องกันไว้แล้วนั่นเอง ฉะนั้น ไม่ต้องห่วงว่าเค้าคิดยังไง ห่วงว่าเราจะหาสินค้าเจอมั้ยมากกว่าครับ

กลับมาที่งานแฟร์ งานแฟร์ทั่วไป จะแบ่งออกเป็น 2 แบบหลักๆ คือ งานแฟร์สำหรับนักธุรกิจ หรือ เรียกว่า Trade Fair และอีกประเภทคืองานแฟร์ขายปลีก สำหรับประชาชนทั่วไป เรียกว่า Consumer Fair หรือ Public Fair งานบางแห่งก็มีทั้งสองประเภท เค้าจะจัดวันให้เลย เช่น ในงานมี 5 วัน 3 วันแรกเป็นวันสำหรับนักธุรกิจ (Trade Day) จะจัดกันในวันธรรมดา ส่วนอีกสองวันเป็นวันสำหรับขายปลีก (Public Day) จะจัดกันในวันเสาร์อาทิตย์

เหตุผลที่ต้องมีแบบนี้เพื่อป้องกันการสับสน หากคนอยากซื้อของมาวันเดียวกับลูกค้ารายใหญ่ คงสับสนกันน่าดู เลยจัดให้คุยรายใหญ่ให้จบก่อน แล้ววันขายปลีก ก็ขายของที่มาออกงานให้หมด ไม่ต้องเอากลับ เป็นต้น

ในการไปเดินงานวันธุรกิจ สิ่งที่สำคัญเลยคือการแต่งกายและนามบัตร หากคุณแต่งกายเหมาะสม และมีนามบัตรอยู่แล้วจะยิ่งมีความเป็นมืออาชีพ และสามารถหาข้อมูลได้ลึกกว่า เพราะดูเป็นผู้ตั้งใจมากกว่านั่นเอง แต่สำหรับคนที่ทำงานประจำ ก็ไม่ต้องกลัวนะครับ คุณสามารถไปเดินดูในวันเสาร์อาทิตย์เพื่อติดต่อธุรกิจได้ จะแต่งตัวให้ลำลองหน่อยก็ได้ครับ ไม่มีปัญหาเลย

งานแฟร์นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่มีสินค้าเฉพาะอยู่แล้ว เช่น ThaiFex เป็นงานสินค้าอาหาร OTOP Fair / BIG & BIH สำหรับสินค้าของขวัญและของแต่งบ้าน เป็นต้น และงานใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ ก็จะจัดกัน 3 ที่หลักๆ คือ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต์ ไบเทคบางนา และอิมแพ็คเมืองทองธานี (ในต่างจังหวัด อาจจะมีน้อยหน่อยนะครับ) ซึ่งใครที่ยังไม่มีไอเดียนั้น ผมแนะนำให้กางปฏิทินจัดงานของทั้ง 3 ที่นี้ไว้เลย ว่าทั้งปี มีจัดงานอะไรบ้าง แล้วก็กำหนดวันไปเดินดูได้เลยครับ

นอกจากนี้ งานแฟร์ต่างประเทศ ก็น่าสนใจไม่น้อยนะครับ ตัวอย่างที่ผมเคยแนะนำไป คืองานกวางโจวแฟร์ (Canton Fair) มีสินค้าหลากหลายมากมายนับไม่ถ้วนจริงๆ เดินมากกว่าหนึ่งวันแน่นอน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในบทความ Canton Fair ได้ครับ

สำหรับการเดินงานแฟร์นั้น คุณอาจจะต้องเตรียมตัวมากกว่าที่อื่นนิดนึง เพราะมันเป็นทางการมากขึ้น ข้อแนะนำของผมก็คือ ควรมีคำถามไว้ในใจ อยู่ 3 คำถาม แค่นั้นพอครับ 1) สินค้าตัวนี้ ขายลูกค้ากลุ่มไหนได้บ้าง 2) สั่งซื้อขั้นต่ำเท่าไหร่ และระยะเวลาการผลิตเท่าไหร่ 3) รับตัวแทนจำหน่ายมั้ย หรือรับทำแบรนด์มั้ย แค่สามคำถามนี้ก็พอให้คุณได้เริ่มต้นรู้รายละเอียดสินค้าได้มากขึ้นแล้วครับ

4. การหาสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์

ฟังแล้วใกล้ตัวจริงๆ เบสิคมากๆ แต่รายละเอียดไม่ธรรมดาเหมือนเดิม ไปอ่านกันเลยครับ

การหาสินค้าผ่านออนไลน์นั้น แยกเป็นสองหมวดหลักๆ คือ เว็บไซต์ของสินค้านั้นๆ เลย หาผ่านทางกูเกิล หรือการหาสินค้าผ่านเว็บขายของชื่อดังทั้งหลาย เราไปดูกันทีละแบบเลยครับ

  • การหาสินค้าผ่านกูเกิล

กูเกิลนั้นเป็นเว็บรวบรวมเว็บที่เกี่ยวข้องกับคำค้นหานั้นๆ และไอเดียก็คือ หากสินค้าที่กูเกิลแนะนำ ก็จะมีคนเจอเยอะ และถ้ามีคนเจอเยอะ ก็แปลว่ามีคนซื้อเยอะนั่นเอง ไม่งั้นคงไม่มีเงินมาลงโฆษณากับกูเกิลอีกแน่ๆ สรุปก็คือหาจากกูเกิลครับ แต่จะหายังไงล่ะ

วิธีการก็คือ พิมพ์คำว่า ขาย แล้วเว้นวรรคตามด้วยตัวอักษร เช่น ขาย ก…. ขาย ข… ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะเจอแล้วครับ ง่ายมั้ยครับ คุณจะได้ไอเดียสินค้าใหม่แบบที่ไม่เคยเจอมาก่อนเลย เยอะแยะมากมายจริงๆ

ถามว่าเจอแล้วทำไงต่อ ก็ไปหาต่อว่า สินค้านั้นมีคนขายเยอะมั้ย คู่แข่งเยอะมั้ย ให้ไปหาจาก Google Keywords Planner เรื่องนี้ผมไม่ได้ลงลึกนะครับ ต้องไปตามในคอร์สนำเข้าสินค้าจากจีนเอาเอง

จากนั้นก็ดู Google Trends ครับ ว่าสินค้าตัวนี้ขายดีมั้ย แนวโน้มดีมากน้อยแค่ไหน แค่นี้ก็เป็นอันจบครับ

  • การหาผ่านเว็บไซต์ขายของชื่อดัง

ยกตัวอย่างเช่น Lazada, Shopee, Alibaba, amazon, ebay, taobao, 1688, aliexpress เป็นต้น เว็บพวกนี้ ก็จะมีสินค้าขายดีโชว์หราอยู่แล้ว เราสามารถไปท่องเว็บ ไล่ไปทีละหมวด ทีละชื่อสินค้า ได้เลยครับ การหาสินค้าในเว็บเหล่านี้ก็เหมือนเราไปเดินงานแฟร์นั่นเอง เพียงแต่ไปเดินงานแฟร์เราจะเมื่อยขา หาในเว็บพวกนี้เราจะเมื่อยมือหน่อยครับ

แต่ก่อนเราไปหา เราต้องรู้จักเว็บเหล่านี้ให้ดีๆ ก่อนครับ ว่าเป็นยังไงกัน ผมแบ่งออกเป็นสองแบบคือ เว็บขายส่งกับเว็บขายปลีก

เว็บขายส่งนั้น เช่น Alibaba, Thaitrade, Tradeindia, HKTDC แต่ละเว็บนั้นจะเป็นของแต่ละประเทศเป็นหลัก แต่ก็ไม่ได้ห้ามชาวต่างชาติเข้าไปขาย เราจะเจอทั้งผู้ผลิตและผู้ค้าส่งสำหรับแต่ละหมวดสินค้านั้นๆ ก็เลือกตามความเหมาะสมได้เลยครับ แต่อย่าลืมนะว่าเค้าเป็นเว็บขายส่ง คงต้องการออเดอร์จำนวนมากๆ หน่อย เพื่อแลกกับราคาที่ถูกลง

เว็บขายปลีก คือ การซื้อแบบชิ้นเดี่ยว แน่นอนว่าราคาสูงกว่า แต่ก็สามารถซื้อได้ทีละชิ้น ก็แล้วแต่ความต้องการเลยครับ ที่สำคัญคือ หากจะสั่งซื้อต้องหาชิปปิ้งให้ได้เท่านั้นเองครับ

5. การหาไอเดียจาก สิ่งประดิษฐ์ หรือนวัตกรรม

อย่าเพิ่งตกใจครับ มันไม่ได้ยากเย็น หรือวุ่นวายซับซ้อนขนาดนั้น

คำว่านวัตกรรมนั้น หมายถึง สิ่งที่พัฒนาขึ้นดีกว่าเดิม ใหม่กว่าเดิม แต่ไม่ได้จำเป็นต้องไม่เคยเกิดบนโลกใบนี้ สินค้าพวกนี้เกิดจากการต่อยอดจากปัญหาเดิมๆ ที่เป็นอยู่ และเกิดเป็นไอเดียสินค้าใหม่นั่นเอง ซึ่งข้อดีการขายสินค้ากลุ่มนี้คือ การมีกฏหมายเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาคุ้มครองอยู่นั่นเอง เราจะปวดหัวน้อยลงกับการแข่งขัน หรือสินค้าเหมือนๆ กัน แล้วแข่งกันที่การตัดราคา

การจะได้สินค้านวัตกรรมนั้น มีอยู่ 2 วิธี คือ เราคิดเอง หรือ สินค้าที่คนอื่นคิดมาแล้ว

สินค้าที่เราคิดเอง อาจจะเกิดจากปัญหาในการทำงานของเราได้ เช่น เราสามารถผลิตสินค้าได้ดีกว่าเดิม หากเรานำขั้นตอน หรือ กรรมวิธีต่างๆ มาใช้ เราสามารถยืดอายุสินค้าได้นานกว่าเดิม รวมถึงการผลิตสินค้าที่มีแต่เราเท่านั้นที่ทำได้ เป็นต้น

ยกตัวอย่างเพื่อนผมคนหนึ่ง ขายข้าวสังข์หยด เป็นข้าวที่ต้องเพาะปลูกในพื้นที่จำกัดเฉพาะเท่านั้น เพราะดิน น้ำ ฟ้า อากาศ ของสถานที่แห่งนั้น เป็นปัจจัยทำให้ข้าวพันธุ์นี้มีลักษณะเฉพาะ และเค้าก็ทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ใช้ข้าวสังข์หยดเป็นวัตถุดิบออกมามากมาย ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครเลียนแบบได้เลยครับ

วิธีที่สอง คือ การไปซื้อสิทธิบัตร มาจากเจ้าของสิ่งประดิษฐ์นั้นอยู่แล้ว ผมเล่าเลยละกันครับ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะมีโครงการที่ให้ทุนนักวิจัย นักประดิษฐ์ คิดค้นนวัตกรรมต่างๆ ที่ทำให้การทำงานดีขึ้น ประหยัดต้นทุนมากขึ้น หรือใช้ของได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และทุกปีก็จะมีงานประกวดการวิจัยเหล่านี้ และเราก็สามารถเข้าไปดู ไปเจรจาการค้ากับเจ้าของนวัตกรรมเหล่านั้นได้ครับ เพราะพวกเค้ามีความสามารถด้านการประดิษฐ์แต่อาจจะไม่เก่งด้านการพาณิชย์ เลยทำออกมาเพื่อหาผู้ร่วมทุน หรือผู้ที่จะซื้อสิทธิบัตรต่อนั่นเองครับ สินค้าที่ผมเคยเห็น จะเป็นพวก ผงปรุงรสที่ไม่มีผงชูรส เครื่องสับมะละกอ ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีพวกงานวิจัยในห้องแล็บวิทยาศาสตร์ เช่น การดึงเอาสารสกัดจาก xxx มาผลิตเป็น yyy เพื่อประหยัดต้นทุน พวกนี้ก็มีคนทำเยอะเหมือนกันนะครับ

และนี่ก็คือวิธีการหาไอเดียสินค้าทั้งหมด ที่เหมาะกับการทำธุรกิจนำเข้าส่งออก ซึ่งผมเคยใช้ และหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่าน

สำหรับท่านไหนที่สนใจเริ่มต้นธุรกิจนำเข้าส่งออก สงสัยขั้นตอนบางอย่าง สามารถติดต่อได้ที่ ไลน์ด้านล่างนี้ครับ

โทร 093-2364951
Add Line ID @intertrader
Facebook: inter trader academy
Email: intertraderacademy@gmail.com
ลงทะเบียนที่นี่

บทความเกี่ยวข้อง

Leave a Comment