วิธีการหาชิปปิ้ง

วิธีการหาชิปปิ้ง

หลายท่านคงเคยเจอปัญหาในการเลือกชิปปิ้ง หรือตัวแทนออกของกรมศุลกากร ซึ่งผมเองก็เคยเจอปัญหาไม่ต่างกัน และผมเชื่อว่าปัญหาของผมก็ไม่เหมือนกับคนอื่นๆ ด้วย ต่างคนต่างเจอปัญหามากมาย

ปัญหาที่เรามักจะเจอบ่อยๆ เช่น จองเรือไม่ได้ พื้นที่ไม่พอ ตู้คอนเทนเนอร์ขาด ค่าเฟรทที่แพงเกินจริง จะส่งของไป แต่ไม่ผ่านด่าน ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม สารพัดปัญหา

บางคนแก้ปัญหาด้วยการ ทำชิปปิ้งเองเลย จะได้ไม่ต้องโดนฟันหัวแบะ แบบนี้ถ้าเป็นบริษัทใหญ่ที่ส่งออกเป็นประจำ ทำได้เลยครับ ผมก็แนะนำให้ทำด้วย

แต่บางคนเป็นบริษัทเล็กๆ แค่ไปเคลียร์ของก็หมดวันแล้ว จ้างเอา ง่ายกว่า ประหยัดกว่า ในเมื่อเราไม่มีทางเลือกมากนัก ก็หันมาใช้วิธีคัดเลือกชิปปิ้งแบบดีๆ กันครับ

รู้จักอาชีพชิปปิ้ง

ชิปปิ้ง คือ ตัวแทนดำเนินพิธีศุลกากรที่ได้รับอนุญาตจากกรมศุลกากรแล้วเท่านั้น พูดง่ายๆ ก็คือ ศุลกากร เค้ามีงานต้องทำเยอะ และจุกจิกมาก จะให้คนธรรมดาทั่วไป มาดีลงานด้วย คงทำให้งานมีปัญหา เลยต้องจำกัดเฉพาะคนที่เข้าใจงานหรือเอกสารพวกนี้จริงๆ

เค้าจึงต้องให้ผู้ที่มาติดต่อทุกคนมีใบอนุญาตในการดำเนินพิธีศุลกากร พูดง่ายๆ ก็คือ ใครมีใบนี้ แปลว่า คุยกับศุลกากรรู้เรื่องระดับนึงแล้ว (ในทางทฤษฎี) ซึ่งคนที่จะได้ใบนี้ ต้องไปสอบนะครับ เรียน และไปสอบ หลังจากสอบผ่านแล้วก็จะได้ใบอนุญาต แล้วมาดำเนินพิธีศุลกากรได้เลย

ในกรณีที่เราจะจ้าง เราจะต้องไปหาคนที่ใบอนุญาตนี้

อยากรู้ว่าใครที่มีใบอนุญาตบ้าง ให้ไปหาคำว่า “สมาคมชิปปิ้ง” ในกูเกิลเอานะครับ

ถัดมา เราจะเลือกว่าใครเหมาะกับเรา มันก็แล้วแต่วิธีครับ ในนั้นมีรายชื่อเยอะมาก เอาชื่อที่คิดว่าถูกโฉลกกับเรา สุ่มๆ เอา หรือ ถ้าใครมีเวลามากหน่อย ก็ไปหาริวิวประสบการณ์การใช้ชิปปิ้งเจ้านั้นในเน็ตได้ แต่อันนี้ต้องให้ความเป็นธรรมเค้านิดนึงว่า เรื่องดีๆ ไม่มีใครมาโพสต์นะครับ

หากเราไปหาในเว็บไซต์แล้วยังไม่ถูกใจ ให้หาวิธีอื่นๆ แทน ผมมีวิธีง่ายๆ 3 วิธีครับ

วิธีแรกคือการหาในกูเกิล พิมพ์คำว่าชิปปิ้ง จะมีรายชื่อบางบริษัทขึ้นมา ดูเอาเลย ชอบรายไหน ข้อดีคือ เราจะได้ชิปปิ้งที่ใส่ใจการทำตลาดทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งแปลว่า เค้าก็มีกำลังคนมากระดับนึงอยู่แล้ว ก็ถือว่าทำได้ครับ

วิธีที่สองคือการไปตามงานแฟร์ พวก งานแฟร์เกี่ยวกับลอจิสติกส์ ก็จะมีอยู่ครับ

วิธีสุดท้าย ให้คนในวงการ เช่น ธนาคารแนะนำให้ ปกติเราจะรู้จักชิปปิ้งจากวิธีนี้เยอะครับ

หรือถ้า 3 วิธีนี้ก็ยังไม่แน่ใจอีก แนะนำว่าไม่ต้องหาครับ เดี๋ยวเค้ามาเอง ผมไม่รู้ว่ามันเป็นเพราะอะไร ชิปปิ้งมักจะเจอเรา เมื่อเราพร้อมส่งของเสมอ พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้ายังไม่มีออเดอร์ ก็ยังไม่ต้องรีบหาครับ เข้าทำนอง เมื่อผู้ส่งออกพร้อม ชิปปิ้งจะปรากฏตัวเอง

เมื่อหาได้แล้ว เราก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการคัดเลือกชิปปิ้งนะครับ

ขั้นตอนการคัดเลือกชิปปิ้งที่ดี

ชิปปิ้งที่ดี ควรมีคุณสมบัติยังไงบ้าง นี่เป็นปัญหาที่หลายคนสงสัย และยังหาทางออกไม่ได้ อาจจะต้องอาศัยประสบการณ์มากหน่อย ทำไปเรื่อยๆ เราจะรู้ว่าควรคัดเลือกแบบไหน แต่ในทางปฏิบัติผมมีแนวทางมาให้พิจารณา 6 ขั้นตอนครับ

1. บริการของชิปปิ้งมีอะไรบ้าง

ปกติชิปปิ้งที่ทันสมัยแล้ว เค้าจะมีบริการจองเรือ คือทำหน้าที่เป็นตัวแทนสายเรือ ขายพื้นที่ให้เรือด้วย ถ้าเจ้าไหนมีแบบนี้ ก็ถือว่าผ่านครับ แต่ถ้าเจ้าไหนบอกว่าพี่ต้องไปจองเอง ตัดไปเลยครับ ไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่

ผมเคยใช้รายนึงดีมากๆ แต่บังเอิญว่าเค้าเป็นรายเล็ก จึงตัดบริการยางอย่างออกไป ซึ่งมันสำคัญมาก ผมจึงต้องเปลี่ยนเจ้า

2. ค่าบริการชิปปิ้ง

ผมเคยเจอเจ้านึงครับ เสนอค่าเฟรทให้ผม 65 เหรียญต่อคิว ในขณะที่อีกสองราย เสนอให้ผม 40 เหรียญ แพงกว่ากัน 25 เหรียญ เกือบเท่าตัวเลย พอเจอแบบนี้ แนะนำให้ถามเค้าไปเลยครับว่า ทำไมแพงกว่าเจ้าอื่น ผมหามาได้ถูก ชิปปิ้งแทบทุกรายก็จะไม่พูดอะไร หรือบางคนก็จะบ่นว่า ค่าเฟรทกำไรน้อย เราไม่ได้บวกเยอะหรอกครับ แล้วทำราคามาใหม่ให้ถูกกว่า 40 เหรียญ อาจจะเสนอแบบกวนประสาทที่ราคา 39 เหรียญ ก็ได้ ผมเคยเจอมาแล้ว

ชิปปิ้งแบบนี้ ผมก็บายเช่นกัน เพราะว่าไม่จริงใจต่อลูกค้า

3. คัดเลือกชิปปิ้ง อย่างน้อย 10 ราย

สืบเนื่องจากข้อสองครับ เราจะรู้ได้ไงว่าราคาที่เราได้ ถูกที่สุด หรือแพงเกิน ถ้าเราไม่คัดเลือกมากพอ ทำไปเลยครับหลายๆ เจ้า ใช้เวลาไม่มากหรอกครับ

ที่ผมทำคือคัดมา 10 รายเลยนะครับ เอามาเทียบกันว่า แต่ละเจ้ามีบริการอะไรบ้าง คิดเท่าไหร่ เราจะเจอบางรายที่แพงเว่อ ก็ตัดทิ้งไปเลย บางรายที่ถูกเว่อร์ ก็ตัดทิ้งเช่นกัน เอาราคากลางๆ เกาะกลุ่มๆ กันดีที่สุดครับ พวกถูกเว่อร์ แพงเว่อร์ มีอะไรแอบแฝงแน่นอน

4. ทดสอบบริการและความเก่ง โดยการหาเคสมาปรึกษาเค้า

ในบางครั้ง เราจะเจอเคสแปลกๆ ในการส่งออก เช่น นำเข้าจากประเทศเอ ไปส่งออกประเทศบี ผมจึงปรึกษาวิธีการว่าจะทำยังไงให้ประหยัดงบได้บ้าง หรือ การทำเอกสารต้องทำยังไง หรือบางครั้ง ก็ปรึกษาเรื่องนำเข้าไปด้วยได้เลย

ทีนี้ เราก็จะได้ดูว่าเค้าเต็มใจบริการเรามากน้อยแค่ไหน ยินดีไปหาวิธีแก้ไขมามั้ย และวิธีแก้ไขเค้า ดีมากน้อยแค่ไหน

ในบางครั้ง ผมเคยเจอชิปปิ้งดีๆ ที่บอกมาตามตรง ด้วยก็มีครับ

5. สอบถามความชำนาญของชิปปิ้ง

ชิปปิ้งแต่ละรายมีความชำนาญไม่เหมือนกัน บางรายเก่งเรื่องการนำเข้า บางรายเก่งการส่งออก บางรายเก่งจีน บางรายเก่งยุโรป เรื่องแบบนี้ต้องถิ่นใครถิ่นใครมันจริงๆ

การใช้ชิปปิ้งควรใช้ชิปปิ้งมากกว่า 1 ราย เพราะเหตุผลข้างต้น ไม่อย่างนั้นเราจะได้ของที่ราคาแพงเสมอ บริการที่ไม่เป็นมืออาชีพ หรือมีปัญหาด้านเอกสารและขั้นตอนอื่นๆ อีกมากมาย

ในกรณีนำเข้าก็เช่นกัน แต่ละราย จะมีช่องทางการติดต่อกับศุลกากรในแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราควรหาไว้มากกว่า 1 ที่ ในกรณีรายแรกทำเรื่องศุลกากรให้เราไม่ได้ รายถัดไปอาจจะทำได้ก็ได้ครับ

6. อย่าทำตัวไม่มีประสบการณ์

เราต้องยอมรับว่าในบางครั้ง เราก็เป็นมือใหม่จริงๆ แต่อย่างน้อยๆ ก็ต้องแสดงอะไรบางอย่างให้เค้ารู้ว่าเราไม่ได้โดนหลอกง่ายๆ นะ

การหาข้อมูลจากหลายๆ ชิปปิ้ง แล้วเอามาคุยประกอบการสนทนา จะทำให้ชิปปิ้ง สะกิดใจนิดนึงว่า ลูกค้ารายนี้เชี้ยว หลอกไม่ได้ หลอกยาก จะทำให้เค้ามีแนวโน้มว่าจะไม่ทำครับ

สนใจเรียนธุรกิจส่งออก คลิกที่นี่

บทความเกี่ยวข้อง

Leave a Comment