ออเดอร์แรกของข้าพเจ้า

ขอเล่าประสบการณ์การส่งออกครั้งแรกของผมเองนะครับ เหมือนฟ้าประทานทั้งเงินและความรู้มาให้เรา

หลังจากที่ศึกษาแล้วมั่นใจว่าธุรกิจส่งออกนี่แหละ ที่จะนำพาชีวิตเราให้รุ่งเรืองได้ ผมจึงเริ่มหาลูกค้า ทั้งจากในและต่างประเทศ ด้วยวิธีที่ประหยัดที่สุดคือการทำออนไลน์และการส่งอีเมลไปหาลูกค้าเป้าหมาย

หลังจากเปิดบริษัทได้  1 ปี เพิ่งจะมีลูกค้ารายแรก เข้ามาสั่งซื้อ (ต้องบอกตามตรงว่าช้ามาก เพราะวิธีนี้ประหยัด แต่ลูกค้าไม่ค่อยเชื่อถือ)

วันนั้นผมยังจำได้แม่น ขณะที่ผมกำลังนั่งรถออกไปหาสินค้าใหม่ๆ เปิดโทรศัพท์เช็คอีเมล มีเมลมาจากลูกค้าที่ติดต่อมานานแล้วหายหน้าไป ในเมลนั้นลูกค้าบอกว่าจะสั่งซื้อสินค้าเป็นจำนวนเงินประมาณ 9 แสนกว่าบาท

ผมนี่ช็อคและดีใจมาก รีบโทรหาคนนู้นคนนี้บอกว่ามีคนสั่งของแล้ว เรากำลังจะได้ส่งออกแล้ว

แต่ไม่รู้เป็นเพราะอะไรอยู่ดีๆ ไม่เกินหนึ่งชั่วโมงหลังจากนั้น เค้าเมลมาบอกว่าขอเลื่อนไปก่อน .. อ้าว

อีกสัปดาห์ให้หลัง ก็มีเมลมาจากลูกค้ารายเดิมบอกว่า สั่งของแน่นอน ซึ่งผมก็ถามให้แน่ใจว่าเค้าสั่งจริง เค้าก็บอกว่าสั่งจริง พร้อมส่งใบสั่งซื้อ P.O. มาด้วย

ถ้าเป็นคุณจะทำยังไงครับ

ผมไม่รู้ว่าคุณทำยังไง แต่ผมรู้สึกเฉยๆ กับกระดาษใบนั้น นั่นเป็นเพราะ ผมไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อ เชื่อเหอะ ต่อให้เรียนมาเป๊ะแค่ไหน ถึงเวลานั้นจริงๆ ก็จับต้นชนปลายไม่ถูก

แต่อีกอย่างที่ผมนึกตอนนั้นคือ เอ๊ะ แล้วผมจะเอาเงินจากไหนไปสั่งซื้อสินค้าละเนี่ย

ผมเลยรวบรวมสติ แล้วตอบกลับลูกค้าไปว่า “ขอบคุณ เรารอคุณคอนเฟิร์มออเดอร์จากการโอนเงิน”

ซึ่งลูกค้าก็ตอบกลับมาว่า “โอเค รอบัญชีดำเนินเรื่องอยู่”

ด้วยความเป็นมือใหม่ ผมเชื่อว่าคำตอบนี้สบายใจเราสุดแล้ว แต่ก็ลืมไปว่า แล้วเค้าจะโอนมาเท่าไหร่กันเนี่ย เราไม่เคยคุยกันเรื่องเทอมการค้าไว้เลย ทำไงดี

โชคดีที่สุด ที่ลูกค้ารายนั้นโอนเงินมาเต็มจำนวนครับ 9 แสนกว่าบาท ฟังไม่ผิดครับ

หลังจากได้เงินเสร็จ ผมก็มีทางเลือกสองทาง 1) จะต้องโอนเงินสั่งซื้อโรงงาน หรือเราจะปิดบริษัทหนีดิ 555 (ล้อเล่นนะครับ)

ผมรีบโทรไปบอกโรงงานว่าสั่งซื้อสินค้า และโอนเงินมัดจำให้เค้า ถามว่าของเสร็จเมื่อไหร่ แล้วก็นั่งกระดิก.. รอ (ชีวิตช่างมีความสุข)

จากนั้นพอของมาก็จัดแจงส่งไปที่ท่าเรือ เตชะบุญ ออเดอร์แรก มักจะมีแจ๊คพ็อตเสมอ

เรือที่จองไว้เลื่อนครับ ต้องเลื่อนไปส่งอีกอาทิตย์นึง อ่ะ ไม่เป็นไร แจ้งลูกค้าไป

พอถึงวันส่งจริง อ้าว ฝนตกอีก ดีที่ของไม่เปียก และเรือยังออกได้

สรุปแล้วออเดอร์แรก ผ่านฉลุยครับ แม้จะมีอุปสรรคนิดหน่อย แต่ไม่ยากเกินที่จะฟันฝ่าไป

แล้วผมได้เรียนรู้อะไรจากออเดอร์นี้

มันไม่ใช่แค่เรื่องความดีใจแน่นอน

มันเป็นเรื่องของการรับชำระเงินครับ

ผมคิดว่าผมคงไม่ได้โชคดีอย่างนี้ตลอดแน่นอน ที่จะมีลูกค้าใจดีโอนเงินมาให้เกือบล้าน ทั้งที่ไม่เคยเห็นหน้ากัน ไม่เคยค้าขายกัน คุยกันแค่ทางอีเมลเท่านั้น (ซึ่งมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะหลังจากนั้น ไม่ค่อยมีลูกค้าโอนเงินล่วงหน้าเต็มจำนวนเท่าไหร่)

ผมจึงเข้าไปหาแบงค์เพื่อขอสินเชื่อสำหรับออเดอร์ส่งออก ที่เรียกว่า Packing Credit

ส่วนรายละเอียดจะเป็นยังไง คราวหน้าจะมาเล่าให้ฟังนะครับ

สนใจคอร์สส่งออกนำเข้า คลิกที่นี่ 

การขอสินเชื่อส่งออกกับธนาคาร

ผมก็เริ่มเข้าหาธนาคารทันที และก็ยอมรับว่าตื่นเต้นอีกเหมือนกัน เพราะตลอดชีวิตเข้าธนาคารไปฝาก ไปถอน ไปซื้อกองทุน แต่ไม่เคยเข้าไปเพื่อกู้เงินจากแบงค์เลย และแน่นอน มันรู้สึกดีมากๆ เพราะการกู้เงินจากแบงค์ครั้งแรก มันคือการกู้เพื่อทำธุรกิจ ถ้าตามประสานักลงทุน มันเป็นหนี้ที่ดี

ผมเริ่มจากหาแบงค์ที่ต้องการ โดยมีสองที่ให้เลือก คือแบงค์พาณิชย์รายหนึ่งที่ผมเปิดบัญชีบริษัทอยู่แล้ว กับ EXIM Bank (ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย) และแน่นอน ผมเลือกอย่างหลัง

ถามว่าทำไม?

  1. แบงค์นี้เชี่ยวชาญด้านการส่งออกโดยเฉพาะ ชื่อก็บอก คิดว่าคงมีบริการดีๆ
  2. แบงค์นี้ลูกค้าน้อยดี น่าจะบริการเราดีกว่าแบงค์ใหญ่ที่ลูกค้าเยอะ
  3. แบงค์นี้มีรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน ค่าธรรมเนียมหรือดอกเบี้ย ไม่น่าจะแพงกว่า

ปรากฏว่าผมคิดถูกหมดเลยครับ

แบงค์นี้ มีผลิตภัณฑ์หลายแบบมาก ที่เหมาะกับการส่งออกที่แท้จริง

แบงค์นี้ บริการผมประหนึ่งเป็นเศรษฐีร้อยล้าน เพราะลูกค้าเค้ายังไม่เยอะมาก ใครเข้าไปที ก็ดูเป็นคนสำคัญทันที

และแน่นอน ดอกเบี้ย แม้จะถูกกว่ากันไม่มาก แต่ค่าธรรมเนียมถูกกว่า 555

อย่างไรก็ตาม แบงค์นี้ก็มีข้อด้อยที่ผมก็ลืมไปเช่นกัน

  1. สาขาน้อย จะไปทำเอกสารที ต้องชับรถไปค่อนข้างไกล
  2. ไม่มีบริการออนไลน์ จะเช็คยอดเงินแต่ละที ต้องโทรไปถาม หรือไม่ก็ต้องรอ statement สิ้นเดือน
  3. Statement ก็ไม่มาส่งให้ด้วย ต้องไปเอาเอง หรือให้แมสเซนเจอร์ไปรับ

พอแค่นี้ละกันครับ ไม่ได้ตั้งใจจะมาเขียนรีวิวแบงค์นี้ อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าแบงค์นี้ก็มีข้อดีเยอะพี่ที่จะลืมข้อด้อยเหล่านั้น และผมก็ยังใช้บริการเรื่อยมาจนถึงตอนนี้ (ตอนนี้ดีขึ้นมากแล้วครับ ส่ง statement ให้ทางอีเมล์ได้แล้ว)

กลับมาที่การไปยื่นขอ Packing Credit

ผมเข้าไปที่แบงค์ แล้วถามว่า ถ้าวันนึงผมจะมีออเดอร์มาอีก (ซึ่งมีแล้ว) และผมต้องการเงินไปซื้อสินค้ามาขาย ผมต้องกู้เงินแบบไหน แบงค์ก็บอกผมคำเดียวว่าให้ทำสินเชื่อส่งออก (Packing Credit) ความหมายก็ตามนั้นเลย แบงค์จะให้เงินกู้ระยะสั้น เมื่อคุณมีออเดอร์ส่งออกเท่านั้น ถ้าเมื่อไหร่ไม่มี ก็ไม่ให้นะ

เงินก้อนนี้ให้เอาไปซื้อวัตถุดิบมาผลิตสินค้า (กรณ๊โรงงาน) หรือไปสั่งสินค้ามาขาย (กรณีคนกลาง) และเมื่อลูกค้าโอนเงินมาชำระแล้ว แบงค์ก็จะหักเงินเพื่อชำระเงินกู้คืนทันที ซึ่งสินเชื่อก้อนนี้คือวงเงิน หมายความว่า ถ้าใช้เงินคืนครบ วงเงินก็จะกลับมาเท่าเดิม แต่ถ้าไม่ได้ใช้ ก็ไม่ได้เสียดอกเบี้ยอะไร และถ้าใช้เกิน ก็ไม่ได้นะ เพราะมีจำกัดไว้เท่านี้

ก็เป็นอันตกลง ผมก็สมัครผลิตภัณฑ์สินเชื่อนี้เลย

และขึ้นชื่อว่าแบงค์ เค้าจะไม่ได้ให้ผมกู้ได้เลยนะครับ เค้าก็ต้องถามผมก่อนว่า ผมคิดว่าจะใช้เงินหมุนประมาณเท่าไหร่ สิ่งที่ผมทำก็คือ ต้องไปประมาณการยอดขายมาก่อนครับ ผมก็ประเมินจากลูกค้าที่สั่งซื้อก่อนหน้านี้ และลูกค้าที่กำลังติดต่อกันและมีแนวโน้มว่าจะสั่งซื้อ แบงค์พอฟังแล้วก็เห็นภาพ

แต่แบงค์คงไม่ได้ฟังผมเฉยๆ แน่นอนครับ เค้าต้องการสิ่งอื่นๆ ที่มาสนับสนุนความคิดผมด้วย นั่นก็คือหลักทรัพย์ค้ำประกัน

หลักทรัพย์ค้ำประกัน

หลักทรัพย์ค้ำประกันการส่งออก

ต่อให้แบงค์เห็นด้วยแค่ไหน ถ้าไม่มีหลักทรัพย์มาค้ำ แบงค์ก็ไม่สามารถปล่อยกู้ได้

หลักทรัพย์นี้เป็นได้ทั้งของจับต้องได้ และจับต้องไม่ได้นะครับ

ของจับต้องได้ เช่น อสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน บ้าน หรือ พวกเงินฝาก พันธบัตร พวกนี้เอามาค้ำได้

ของจับต้องไม่ได้ เช่น เครดิตทางการค้า ชื่อเสียงในวงการ คนอื่นมาค้ำประกัน ซึ่งแน่นอนว่าอย่างที่สองผมไม่มีครับ  ยังไงก็ต้องใช้อย่างแรก

และนี่เป็นสิ่งที่ผมไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะต้องใช้ ตอนแรกเข้าใจว่าทำธุรกิจ ใช้แค่เงินทุน กับ เงินหมุนก็พอ ไม่เคยรู้เลยยว่าต้องใช้หลักทรัพย์ด้วย จึงต้องขอยืมจากพ่อแม่ และผมก็ถือโอกาสขอบคุณพ่อแม่ผมมา ณ ที่นี้ด้วย ไม่มีท่าน ธุรกิจผมคงไมได้เติบโตมาถึงทุกวันนี้

หลังจากเอาหลักทรัพย์ไปยื่นค้ำเสร็จ แบงค์ก็จะใช้เวลาประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ในการยื่นเรื่องทำวงเงินต่อไป ผมแนะนำว่าหากใครมีแนวโน้มว่าจะต้องใช้เงินก้อนนี้ ให้รีบทำแต่เนิ่นๆ นะครับ อาจจะเสียค่าธรรมเนียมการประเมินสินทรัพย์ แต่มันไม่เยอะเท่าออเดอร์ที่กำลังจะมาแน่นอน

สนใจคอร์สส่งออกนำเข้า คลิกที่นี่ 

การขอเงินกู้ Packing Credit

หัวข้อนี้ อาจจะมีขั้นตอนเยอะหน่อยนะครับ ถ้ายังไม่เคยส่งออก ก็อ่านเพลินๆ ได้ แต่ถ้ากำลังจะส่งออกอยู่ น่าจะมีประโยชน์มากทีเดียว

การขอสินเชื่อแบบ Packing Credit นี้ เราจะขอได้ก็ต่อเมื่อเรามีออเดอร์แล้วเท่านั้นครับ

และเราคงไม่ได้ไปบอกแบงค์แบบปากเปล่าว่า ลูกค้าสั่งของมาแล้วนะ ขอเงินหน่อย และแบงค์คงไม่บ้าจี้ตาม บอกว่าเอาเบอร์บัญชีมา เดี๋ยวโอนไป

ทุกอย่างต้องมีขั้นตอนและเอกสารครับ

มันจะต้องมีเอกสารมายืนยันว่าเราได้รับออเดอร์จริง ซึ่งมีหลายอย่างมากครับ เราไปดูกันทีละฉบับ

  1. ฉบับแรก คือ ใบสั่งซื้อ (Purchase Order / P.O.) นั่นเอง เอกสารนี้เป็นการยืนยันว่าลูกค้าฝั่งผู้นำเข้า กำลังจะสั่งซื้อสินค้าจากเราแล้ว ประเด็นคือ ใบ P.O. นี้ ใครๆ ก็ทำขึ้นมาได้นะครับ ควรจะต้องมีลายเซ็นต์จากลูกค้าพร้อมตราประทับด้วย
  2. หากลูกค้าบางราย ไม่ได้ทำใบสั่งซื้อไว้ ใช้การเซ็นต์ใบเสนอราคาของเราแทน (Quotation) แบบนี้ก็พอใช้ได้ครับ แต่แบงค์อาจจะสงสัยว่า ทำไมไม่ทำสักหน่อยเหรอ
  3. เอกสารที่สำคัญอีกอย่างที่จะช่วยให้แบงค์แน่ใจคือสัญญาซื้อขายครับ (Sales Contract) สัญญานี่จะบอกรายละเอียดเกี่ยวกับการซื้อขายออเดอร์นี้ ว่าต้องผลิตอะไรเท่าไหร่ ส่งของที่ไหน ส่งวันไหน ใครเป็นผู้ซื้อ ใครเป็นผู้ขาย และโทษของการผิดสัญญาคืออะไร ฯลฯ แบงค์จะรู้สึกอุ่นใจมากที่สุดกับเอกสารสัญญาครับ

จริงๆ แล้วเอกสาร 1-3 อะไรก็ได้ครับ อย่างน้อยมีสักอย่างนึง แต่ดีที่สุดควรจะมี สัญญา นะครับ

  1. เมื่อมีเอกสารยืนยันแล้วว่า มีออเดอร์จริง เราในฐานะผู้ส่งออก ก็ต้องทำเอกสารอีกอย่าง ซึ่งก็คือ ตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note) นั่นเอง

ตั๋วนี้ เป็นการบอกว่า เราในฐานะผู้ส่งออก ขอยืมเงินจากแบงค์เป็นเงิน … บาท ดอกเบี้ย ร้อยละ … และจะนำมาคืนให้ในวันที่ … ประมาณนี้ครับ

ค่าเงิน

ตามหลักแล้วตั๋วนี้เราในฐานะผู้ส่งออก เป็นคนออกเอกสาร แต่แบงค์ก็ใจดี มีแบบฟอร์มไว้ให้กรอกเรียบร้อยครับ

ในบางธนาคาร การเซ็นต์ตั๋วใบเดียวอาจไม่ละเอียดพอ เค้าจะมีสัญญาแนบท้ายอีกฉบับนึง เพื่อขยายข้อความในตั๋วอีกทีครับ เรียกว่าธนาคารป้องกันความเสี่ยงจากตัวเราทุกหย่อมหญ้าเลย (ผมไม่เคยใช้แบงค์อื่น แต่คิดว่ามีทุกแบงค์ครับ)

L/C ถ้าใครที่ค้าขายเป็น L/C คือ ให้แบงค์ต่างประเทศเป็นผู้ยืนยันเครดิตผู้นำเข้า แบบนี้ยิ่งดี แบงค์เรายิ่งชอบ ทำให้ปล่อยสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เพราะมีแบงค์ทางนู้นการันตีมา

เอกสารทั้งหมดก็ประมาณนี้ครับ เอาไปยื่นให้แบงค์ได้เลย แล้วสัก 1-2 วัน แบงค์ก็จะโอนเงินเข้าบัญชีเราเอง

ขั้นตอนทั้งหมดก็ประมาณนี้ครับ ถ้าอยากได้รายละเอียดเพิ่มเติมก็ปรึกษากันได้ หรือว่าหากต้องการเรียนคอร์สอบรมนำเข้าส่งออกก็คลิกด้านล่างได้เลยจ้า

สนใจคอร์สส่งออกนำเข้า คลิกที่นี่ 

บทความเกี่ยวข้อง

Leave a Comment