สัปดาห์ก่อนผมได้มีโอกาสไปเป็นวิทยากรรับเชิญให้กับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ บรรยายแก่ผู้ประกอบการสินค้าฮาลาลที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องขอขอบคุณอย่างเป็นทางการอีกครั้งที่ให้โอกาสไปบรรยายนะครับ
และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่บรรยายโดยผ่านหน่วยงานราชการ และได้เจอกับผู้ประกอบการที่ทำสินค้าอยู่แล้ว ทำให้ผมได้เห็นมุมมองใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ รวมถึงสินค้าใหม่ๆ ที่ดูมีศักยภาพมากมาย
วันนี้จึงขอนำประสบการณ์ที่ได้พบ มากลั่นกรองและเล่าให้ฟังว่า สินค้าแนวไหนที่เราควรทำส่งออก และสินค้าตัวไหนส่งออกได้
สินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐาน
ในการคัดเลือกสินค้าส่งออกไปขายต่างประเทศ ผมเน้นเรื่องนี้เป็นข้อแรกเลยนะครับ สินค้าที่เราไปส่งต่างประเทศได้ ต้องมีการผลิตที่มีคุณภาพ
คำว่าคุณภาพหมายถึง สินค้าน้นๆ ตอบโจทย์ลูกค้าตามที่กล่าวอ้างไว้ เช่น อาหารต้องสะอาด สด หรืออร่อย เสื้อผ้า ต้องตัดเย็บให้ได้ตามที่ลูกค้าต้องการ แบบนี้เรียกว่าคุณภาพ
ส่วนมาตรฐานก็เป็นอีกเรื่องนึงที่สำคัญ การผลิตอาหารให้สะอาดหนึ่งครั้งคือคุณภาพ ส่วนการผลิตให้สะอาดทุกครั้ง แบบนี้คือมาตรฐานครับ ฉะนั้นโรงงานที่ผลิตของได้เหมือนกันทุกครั้ง จะได้รับรองมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็น GMP, HACCP อะไรแบบนั้นนั่นเอง
สินค้าที่สามารถนำไปต่อยอดทำอย่างอื่นได้
ถ้าให้นึกถึงส่งออกมะพร้าว เราสามารถทำอะไรได้บ้างครับ
บางคนก็บอกว่าส่งออกมะพร้าวทั้งลูกเลย บางคนก็บอกว่าส่งออกน้ำมะพร้าวสิ หรือเอาน้ำมะพร้าวมาคั้นเป็นกะทิ แล้วส่งออกไปก็ได้นิ อันนี้พื้นฐาน
ที่มีเจ๋งกว่านั้นคือส่งออกกาบมะพร้าวไปทำอย่างอื่นอีก นี่ยังไม่นับต้นมะพร้าว ใบ หรือส่วนอื่นๆ ที่ทำมะพร้าวได้อีกนะครับ
ขั้นสูงกว่านั้น เราเอามะพร้าวมาทำเป็นแยมมะพร้าว ทำเป็นหน้าเค้กมะพร้าว แล้วขายต่อให้กับร้านค้าวัตถุดิบอาหาร เอาไปขายให้ร้านเบเกอรี่ต่อได้ใช่มั้ย หรือว่าขายแยมมะพร้าวต่อให้โรงงานทำผลไม้กระป๋อง เพื่อผลิตสินค้าเค้าเองได้อีก
เราจะเห็นว่าสินค้าหนึ่งชิ้น สามารถนำไปเป็นสินค้าอื่นๆ ได้หลายร้อยอย่าง แล้วก็เข้าได้หลากหลายช่องทาง อยู่ที่ว่าเราเองจะมองออกมั้ยว่าสินค้าเราดีเด่นยังไง
สินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ผมเชื่อว่าหลายๆ คนที่ส่งออกสินค้าไทย กำลังนึกถึงเหตุผลนี้อยู่ ซึ่งผมยอมรับเลยว่าไม่เคยนึกถึงสินค้าเอกลักษณ์ของไทยเท่าไหร่ เพราะด้วยหลายๆ เหตุผล เช่น คนไม่สนใจซื้อ สินค้าไม่ได้มาตรฐาน หรือมีกำลังการผลิตไม่พอ เป็นต้น
แต่พอไปเยือนภาคใต้ ผมเริ่มเปลี่ยนแนวคิด สินค้าบางอย่างแม้จะมีกำลังการผลิตที่ต้องพัฒนาต่อไป แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือเอกลักษณ์ของสินค้า
ถ้าเราต้องการหลีกหนีเรื่องการตัดราคา การทำสินค้าเฉพาะท้องถิ่นสามารถช่วยได้ ใครจะทำสินค้าท้องถิ่นได้ดีกว่าคนท้องถิ่น จริงมั้ย?
ข้อดีอีกข้อคือสินค้าท้องถิ่นจะมีเรื่องราวหรือสตอรี่เสมอ มันต้องมีเหตุผลบางอย่างที่สินค้าเหล่านั้นผลิตขึ้นมาจากท้องที่นั้นๆ เช่น
ทำไมต้องใช้ข้าวจากที่นี่ มันได้ดิน ได้น้ำดี เพราะอะไร
ทำไมต้องมีปลาจากท้องถิ่นนี้เท่านั้น แถวนั้นปลาชอบมาเพราะอะไร
ผลไม้พันธุ์นี้มันอร่อยและมีประโยชน์มากกว่าที่อื่น เพราะอะไร
ถ้าเรามองให้ลึกๆ จะเห็นว่าคนญี่ปุ่น เก่งเรื่องนี้มาก
เช่น การกินซูชิของเค้า จะบอกว่าปลาของเค้าเนี่ย มันหายากมากแค่ไหน ต้นกำเนิดมาจากไหน แล้วมีจำกัดแค่ไหน พอได้ฟังเรื่องราวแล้ว ซูชิคำนั้นจะอร่อยเป็นพิเศษ อร่อยก่อนเอาเข้าปากอีก
สินค้าพื้นบ้านของไทยก็ทำได้นะครับ เราต้องไปหาเรื่องราวของเราให้เจอ แล้วนำเสนอให้เก่ง
สินค้าบางอย่างกำลังการผลิตมีไม่มากพอ อาจจะเป็นการเพิ่มมูลค่าของความขาดแคลนได้
สินค้าที่แข่งขันด้านราคาได้
ราคาเป็นปัจจัยสำคัญในการทำตลาดสินค้า ผู้ประกอบการร้อยละ 90 จะเจอปัญหาตรงนี้ เพราะราคาถ้าไม่ดีมากพอ ก็จะไม่มีคนสนใจนำเข้าไปขาย ฉะนั้นการทำโครงสร้างราคาให้ถูกต้อง มีผลอย่างมากกับการขายสินค้า
เราต้องไม่ลืมว่าประเทศไทย ไม่ได้เป็นผู้รับจ้างผลิตที่เน้นราคาถูกอีกต่อไปแล้ว สิ่งที่เราต้องเน้นคือคุณภาพที่คุ้มค่ากับราคา (ในกรณีที่เราไม่ได้เน้นสร้างแบรนด์)
สินค้าที่ตอบโจทย์การใช้งานเฉพาะอย่าง
สุดท้ายคือคุณสมบัติที่เป็นดาวรุ่งสำหรับการส่งออก
สินค้าเฉพาะทาง เช่น ถ้าเราทำสินค้าเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เราจะนึกถึงแต่อาหารสุนัข อาหารแมว เสื้อหมาเสื้อแมว ซึ่งของพวกนี้ธรรมดาไปมากจนกระทั่งเราต้องแข่งราคา
แต่มีอีกกลุ่มที่ไม่แข่งราคา เช่น ทำของเล่นเสริมสร้างพัฒนาการหมาแมว อาหารเด็กอ่อนที่เน้นสารอาหารที่จำเป็น เป็นต้น
ถ้าเราทำสินค้าแบบนี้ได้ก็ตอบโจทย์ลูกค้าเฉพาะกลุ่มได้แน่นอนครับ
หวังว่าไอเดียที่นำเสนอนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนนะครับ