สินเชื่อเพื่อการนำเข้าส่งออก

หากถามถึงการนำเข้าส่งออกในเชิงการเงิน สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือสินเชื่อธุรกิจ เพราะเป็นสิ่งที่จะทำให้ธุรกิจของเราขยายตัวเป็นอย่างมาก ลองนึกภาพว่าหากมีลูกค้ามาสั่งของเรา แต่เราไม่มีเงินหมุนไปจัดหาหรือผลิตสินค้า เราได้แต่บอกว่าให้ลูกค้ารอเรามีเงินก่อน ค่อยมาสั่ง ลูกค้าอาจจะหนีไปแล้วก็ได้ ฉะนั้น สินเชื่อหรือเงินกู้สำหรับการนำเข้าส่งออก จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญเป็นอย่างมากนั่นเอง

สำหรับมือใหม่ หรือ SMEs การเข้าถึงสินเชื่ออาจจะไม่ได้ทำได้ง่ายๆ หากไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพราะธนาคารจะดูรายละเอียดของเงินเข้าออก งบบัญชีกำไรขาดทุน งบดุล เป็นต้น ซึ่งหากเทียบยอดขายของธุรกิจรายใหญ่ อาจจะเป็นรองในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม หากท่านมีความพร้อมในการทำธุรกิจนำเข้าส่งออก บางครั้งธนาคารก็มีสินเชื่อที่เราอาจจะไม่ต้องรอให้ธุรกิจโตก่อน ก็สามารถไปขอวงเงินกู้ได้ สินเชื่อเหล่านั้นมีอะไรบ้าง เรามาดูกันครับ

Packing Credit สินเชื่อเพื่อการส่งออก

สำหรับผู้ส่งออก ในบางครั้งมีลูกค้าต้องการสั่งซื้อสินค้าของเราเป็นจำนวนมาก แต่ว่าตัวเราเอง ไม่สามารถผลิตหรือจัดหาให้ได้ เนื่องจากขาดเงินทุน เพราะเราต้องนำเงินทุนของเราไปสั่งซื้อวัตถุดิบมาผลิต หรือหาเงินมามัดจำเพื่อสั่งให้ผู้ผลิตทำของให้เรา

บางครั้งเราอาจจะมีทางรอดตรงที่หากเราใช้เงินของเรา แต่ถ้าเงินเราไม่พอจะทำอย่างไร

ธนาคารมีสินเชื่อเพื่อการส่งออก (Packing Credit) ที่ให้ผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจไปกู้ได้ สินเชื่อนี้คือวงเงินสำหรับการหมุนเวียนเพื่อใช้จ่าย เมื่อผู้กู้ (ผู้ส่งออก) มีออเดอร์เท่านั้น พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้ามีออเดอร์ แปลว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะได้เงินในอนาคต เพราะลูกค้าเตรียมจะจ่ายเงินในไม่ช้า เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่มีทุนเอาไปผลิตของนั่นเอง ธนาคารจึงอนุญาตให้ผู้กู้มากู้เงินได้ เมื่อมีออเดอร์เท่านั้น

ก่อนจะมีวงเงินนี้ได้เราต้องไปเปิดวงเงินกับธนาคารก่อนนะครับ ซึ่งเค้าก็จะมีหลักเกณฑ์ของเค้าเกี่ยวกับเอกสารทางบัญชี สินทรัพย์ค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ย ซึ่งได้ตกลงกันไว้ก่อน จะเริ่มให้กู้กันจริงๆ เหมือนเราไปทำบัตรเครดิตนั่นเอง

 

Negotiation / Discount Export Bill บริการรับซื้อตั๋วลดส่งออก

หลังจากผู้ส่งออกส่งสินค้าให้ผู้นำเข้าแล้ว หากมีการตกลงกันว่า ผู้นำเข้าจะชำระเงินให้ภายหลัง เช่น ภายใน 30 วัน หรือ 60 วัน หมายความว่าระหว่างนี้ผู้ส่งออกจะยังไม่ได้รับเงินค่าสินค้า และอาจทำให้ขาดเงินทุนหมุนเวียนได้

ในบางครั้ง ผู้ส่งออกที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนก่อน เพื่อนำไปใช้ในการรับออเดอร์อื่นๆ ก็จะแจ้งต่อธนาคารเพื่อขอขายตั๋วลดส่งออก โดยธนาคารจะมีการรับซื้อส่งออกนนั่นเอง

การรับซื้อตั๋วคืออะไร มันก็เหมือนกับการแลกเช็ค เพราะธนาคารรู้แน่ๆ ว่าผู้ส่งออกจะได้รับเงินในอีกไม่ช้า (30 / 60 วัน หรืออื่นๆ) ซึ่งธนาคารก็จะรับซื้อหนี้การค้าที่ผู้นำเข้าต้องจ่าย โดยการขึ้นเงินให้กับผู้ส่งออกที่มาร้องขอ โดยจะทำการหักค่าบริการ หรือ ดอกเบี้ย หรือ ค่าธรรมเนียมไปตามที่ตกลงกัน เพื่อรับเงินจำนวนเต็มจากผู้จ่ายเงินหรือผู้นำเข้า ในภายหลังนั่นเอง

ผู้ส่งออกที่ต้องการเงินมาหมุนก็สามารถนำสินเชื่อลูกค้ามาขายได้ที่ธนาคารครับ

 

นอกจากฝั่งส่งออกแล้ว เรามาดูฝั่งนำเข้ากันบ้าง

 

Trust Receipt สินเชื่อเพื่อการนำเข้า

ในทางตรงข้ามกับผู้ส่งออก กรณีผู้นำเข้านำสินค้าเข้ามาขายแล้ว แต่ยังไม่มีเงินทุนไปจ่ายเงินกับผู้ส่งออกที่ประเทศต้นทาง ผู้นำเข้าสามารถไปขอกู้เงินกับธนาคารได้ โดยสินเชื่อนี้เรียกว่า Trust Receipt ซึ่งจะมีประโยชน์ตรงที่สามารถนำของออกมาขายก่อน แล้วชำระเงินคืนให้กับธนาคารทีหลังได้

ข้อสังเกตคือ เงินกู้ประเภทนี้ ธนาคารต้องรู้เห็นในการชำระเงินเป็นอย่างดี จึงนิยมใช้กับการชำระเงินแบบ Bill for Collection วางบิลเรียกเก็บเงิน มากกว่าการชำระเงินแบบอื่นๆ

Import L/C วงเงินสินเชื่อสำหรับ L/C

สำหรับผู้นำเข้าที่ชำระเงินแบบ Letter of Credit (L/C) สามารถไปขอสินเชื่อเพิ่มเติมได้ หลักการเดียวกันกับ Trust Receipt คือเป็นสินเชื่อสำหรับการนำเข้าเช่นเดียวกันครับ

นอกจากนี้ยังมีวงเงินอื่นๆ ที่นิยมใช้ในการนำเข้า เช่น

Foreign Exposure Line วงเงินสำหรับป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

Bank Guarantee Line วงเงินสำหรับหนังสือค้ำประกันภาษีที่ออกโดยธนาคาร วางไว้ที่กรมศุล เผื่อฉุกเฉิน กรณีต้องการเอาของออกจากศุลกากรก่อน

Shipping Guarantee Line วงเงินธนาคารค้ำประกันเราให้บริษัทเรือ (B/C)

เชื่อว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้นำเข้าส่งออกนะครับ

 

สนใจเรียนนำเข้าส่งออก คลิกที่นี่

บทความเกี่ยวข้อง

Leave a Comment