รู้จักเมืองกวางโจวประเทศจีน
อย่างที่ทราบๆ กันว่าเมืองกวางโจว มณฑลกวางตุ้ง เป็นแหล่งผลิตสินค้าสำคัญของจีน ที่ส่งออกไปทั่วโลก รวมทั้งของไทยด้วย ดังนั้น การทำธุรกิจนำเข้าสินค้าจากจีน หรือใครที่อยากจะนำเข้าสินค้าจากจีน ก็ต้องรู้เรื่องเกี่ยวกับเมืองนี้พอสมควร
เมืองกวางโจวนั้น ตั้งอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน มณฑลนี้อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน เลยถัดไปก็เป็นเกาะฮ่องกง ซึ่งเป็นเมืองท่าค้าขายส่งออกอันดับหนึ่งของจีน ก่อนหน้าที่จีนจะเปิดการค้ากับทั่วโลก เราจะค้าขายกับคนจีนผ่านฮ่องกงเท่านั้น และแน่นอน โรงงานต่างๆ ที่ต้องการส่งสินค้าผ่านฮ่องกง จึงมาเปิดโรงงานกันที่มณฑลกวางตุ้งนั่นเอง นี่จึงเป็นที่มาของโรงงานขนาดใหญ่ในเมืองนี้
ซึ่งมณฑลนี้เป็นที่คุ้นเคยของคนไทยเป็นอย่างดี เพราะคนไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่ ที่เป็นคนแต้จิ๋ว แคะ กวางตุ้ง ก็มาจากมณฑลนี้ทั้งสิ้น เราจะสังเกตว่าเชื้อสายคนจีนเหล่านี้มีภาษาพูดจีนเป็นของตัวเอง พูดง่ายๆ ก็คือมีภาษาถิ่น และคนในมณฑลนี้ก็จะพูดแต่ภาษาถิ่น เช่น กวางตุ้งเป็นหลัก แต่จะมีช่วงหลังๆ ที่เริ่มพูดจีนกลางกันมากขึ้น และหลายๆ รายที่เป็นโรงงานที่เน้นการส่งออก ก็จะพูดภาษาอังกฤษได้ แม้จะดีพอสื่อสารได้ แต่เวลาคุยกับเราก็ยังติดแกรมม่าแบบจีนอยู่ คล้ายๆ คนไทยที่พูดภาษาอังกฤษแล้วติดแกรมม่าแบบคนไทยนั่นแหละ
การเข้าไปกวางโจวนั้น สำหรับคนไทยต้องขอวีซ่า โดยมีวีซ่าหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการขอจากสถานทูตจีนในไทย การไปขอวีซ่าที่ปลายทาง (Visa on Arrival) หรือการขอวีซ่าที่ฮ่องกงก่อนเข้าไปในจีนก็ทำได้ (ฮ่องกงเราไม่ต้องขอวีซ่า แต่ถ้าจะเข้าจีนต้องขอวีซ่านะครับ)
สำหรับการเดินทางไปกวางโจวนั้น เราสามารถไปโดยตรงได้ไปลงที่สนามบินกวางโจว หรือจะไปลงที่ฮ่องกง / มาเก๊า แล้วนั่งเรือมาลงที่ท่าจูไห่ (Zhu Hai แปลว่าชายหาดไข่มุก) ก็ได้เช่นกัน ซึ่งผู้เขียนเคยไปทั้งสองวิธี พบว่าการไปโดยตรงนั้นสะดวกกว่า แต่ถ้าอยากไปแวะฮ่องกงมาเก๊าก่อน ก็ต้องไปขอวีซ่าโดยการต่อแถวซึ่งเป็นการแย่งกันกับคนจีนอย่างเมามัน และแน่นอนว่าสกิลการแย่ง แซงคิวเราเป็นรอง แม้แต่คนแก่ที่นั่น ยังแย่งเก่งกว่าเรา ก็เลือกเอาได้ครับว่าอยากไปช่องทางไหน สนุกๆ ทั้งนั้น
การเข้าไปหาสินค้าในกวางโจวนั้น เราจะมีเป้าหมายหลักๆ 3 ประเภทด้วยกัน ซึ่งก็คือ 1) การไปเดินงานแสดงสินค้า 2) การไปหาโรงงาน และ 3) การไปศูนย์รวมสินค้า ศูนย์ค้าส่ง ซึ่งทั้งสามแบบนั้นมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป แต่บทความนี้ผมจะพูดถึงเฉพาะการไปเดินงานแสดงสินค้า และงานสำคัญงานเดียวที่ควรไปเดินคืองานกวางโจวแฟร์
สนใจเรียนนำเข้าสินค้าจากจีน คลิกที่นี่
รู้จักงานกวางโจวแฟร์
งานกวางโจวแฟร์ หรือที่บางคนก็เรียกว่ากวางเจาแฟร์ หรือแคนตั้นแฟร์ (Canton Fair) นั้น จัดขึ้นที่ศูนย์แสดงสินค้าประจำเมืองกวางโจว มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ชื่อเป็นทางการคือ China Export and Import Fair หรือ เรียกสั้นๆ ว่า Canton Fair งานนี้จะจัดขึ้นปีละ 2 รอบ
รอบแรกเป็นช่วงหน้าร้อน จัดประมาณกลางเดือนเมษายน ช่วงสงกรานต์บ้านเรา ไปจบประมาณต้นเดือนพฤษภาคม
รอบที่สองช่วงหน้าหนาว จัดประมาณกลางเดือนตุลาคม จบช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน
แต่ละรอบนั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง (3 phase) ซึ่งแต่ละเฟสจะมีสินค้าไม่เหมือนกัน เนื่องสถานที่ไม่พอจัด แต่สินค้าเยอะมาก จึงต้องแบ่งเฟส คิดดูว่าใหญ่แค่ไหน โดยมีแต่ละเฟสดังนี้
เฟส 1 สินค้าเกี่ยวกับอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน อุปกรณ์แสงสว่าง ยานพาหนะ เครื่องจักรกล เครื่องมือ อุปกรณ์ก่อสร้าง เคมีภัณฑ์
เฟส 2 สินค้าเกี่ยวกับเครื่องใช้ในครัวเรือน ของขวัญ ของแต่งบ้าน
เฟส 3 สินค้าเกี่ยวกับเสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์สำนักงาน บรรจุภัณฑ์ กีฬา ท่องเที่ยว ยา เครื่องมือแพทย์และผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหารและผลิตภัณฑ์พื้นเมือง
ซึ่งหากใครทำธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าหมวดไหนก็เจาะจงไปเฉพาะหมวดนั้น (ผู้เขียนเคยไปเฉพาะเฟส 3) จะดีที่สุด
สนใจเรียนนำเข้าสินค้าจากจีน คลิกที่นี่
การเดินทางไปงานกวางโจวแฟร์
การเดินทางนั้น คนไทยเราจะเข้าประเทศจีน ยังต้องขอวีซ่าเข้าประเทศอยู่ดี ซึ่งจะมีวิธีเข้าหลักๆ อยู่ 2 วิธีดังนี้
วิธีแรกคือ การเดินทางไปด้วยตัวเอง ต้องไปขอวีซ่าที่สถานทูตจีนก่อน ไม่น่าจะใช้เวลานานมาก แต่ก่อนไปต้องจองโรงแรมไว้ด้วย เพราะว่าเมื่อไปถึงที่นั่นแล้ว การหาโรงแรมก็ยากพอสมควร เพราะอย่าลืมว่างานนี้คนทั่วโลกไปกัน อาจจะต้องเตรียมหาโรงแรมที่เดินทางไปด้วยรถไฟฟ้าสะดวกหน่อย เพราะสถานที่จัดงานนี้อยู่ตรงสถานีรถไฟฟ้าพอดี แต่หากคุณไปกับทัวร์ ไม่ต้องห่วงอะไรมาก ตื่นให้ทันรถออกก็พอครับ สำหรับที่พัก เดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้แย่อะไร ไม่มีส้วมแบบนั่งเห็นกันหมดแล้วนะครับ เมืองเค้าก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่เราก็เข้าได้ครับ
วิธีที่สองเป็นวิธีที่คนไทยนิยมมาก คือการไปกับทัวร์ จะมีบริษัททัวร์บางรายได้รับสัมปทานในการขอวีซ่าแบบกรุ๊ปทัวร์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน ให้มางานแฟร์และเที่ยวจีนในราคาพิเศษ แต่ข้อเสียคือ เราจะไม่ได้แค่ไปดูงานเท่านั้น ต้องไปนั่งดูเค้าขายบัวหิมะก่อนด้วย ตอนดูก็อย่าไปคิดอะไรมากครับ ทำใจแข็งๆ เข้าไว้ ถ้าเราใจแข็งไม่จ่ายเงินซะอย่างก็ไม่ต้องไปกังวลครับ แต่ถ้าเราใจไม่แข็งพอ ฝากเงินไว้กับเพื่อนไว้ดีกว่าครับ
ส่วนอาหารการกิน ถ้าใครชอบอาหารจีนอยู่แล้วก็ถือว่าเป็นสวรรค์เลย แต่ถ้าไม่ชอบ ก็พอทานได้แหละครับ เพราะไม่ได้ต่างจากอาหารจีนในบ้านเราเท่าไหร่ ถ้าไปกับกรุ๊ปทัวร์เค้าจะมีมื้ออาหารให้อยู่แล้ว ซึ่งน่าจะถูกปากคนไทยพอสมควร แต่ถ้าเราไปเอง หรือบางมื้อต้องทานเอง เราต้องเลือกหน่อยนะครับ
การเตรียมตัวก่อนไปงานแฟร์
ผมจะขอเล่าบรรยากาศการเดินภายในงานและการเดินทางไปงานแฟร์แบบมืออาชีพ เรียกว่าไปครั้งแรกก็โปรแล้ว ไม่ต้องไปเรียนรู้ให้เปลืองเงินด้วยการไปอีกรอบ ไม่ว่าคุณจะเดินทางไปเอง หรือไปกับทัวร์ ก็ใช้สูตรนี้ได้เหมือนกันครับ
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่างานแฟร์นี้ใหญ่มากนะครับ ขนาดงานก็คืออิมแพ็คเมืองทองเปิดเต็ม 3 ฮอลล์ แต่จะมีอิมแพ็คอยู่ประมาณ 10 ฮอลล์ อยู่ในนั้นครับ ฉะนั้นแล้วการเตรียมความฟิตของร่างกายก็ต้องเตรียมพร้อมประมาณหนึ่ง
สิ่งแรกที่ต้องเตรียมไปคือ บัตรเข้างานครับ ถ้าไปกับทัวร์เค้าทำให้ แต่ถ้าไปเอง เราสามารถทำบัตรได้ทางออนไลน์นะครับ เข้าลิ้งค์นี้ไปอ่านรายละเอียดได้ คู่มือลงทะเบียน
ใครที่เคยทำแล้ว จะไม่ต้องทำอีก เอาใบเก่าไปได้เลย บัตรก็จะใหญ่ๆ หน่อยครับ ถ้าจำไม่ผิดค่าทำบัตรจะประมาณ 100 หยวนนะครับ อ้อ เราต้องมีรูปติดบัตรไปด้วยนะครับ
สิ่งที่ต้องเตรียมถัดมาคือ รองเท้าที่เราเดินได้นานๆ จะเป็นผ้าใบก็ได้ หรือว่ารองเท้าหนังก็ได้ ถ้าคุณเดินได้นาน หรือรองเท้าสุขภาพยิ่งดี ห้ามใส่รองเท้าที่เห็นส้นไปนะครับ ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าแตะ หรือรองเท้าส้นสูง เพราะนอกจากจะเดินไม่ถนัดแล้ว เค้ายังไม่ให้เข้างานอีกด้วย อย่าลืมว่านี่คืองานระดับโลก เราเป็นคนไทย อย่าไปทำชื่อเสียงแบบนี้นะครับ ไม่ดีๆ
อีกอย่างคือชุดที่สุภาพ ผู้ชายใส่สูทไปก็ดีครับ หรืออย่างน้อยๆ ก็เสื้อเชิ้ตให้ดูเป็นนักธุรกิจมืออาชีพหน่อย ไม่เอาเสื้อยืดนะครับ ดูไม่เข้ากับงานไปนิด ส่วนคุณผู้หญิงก็อย่าแต่งตัววาบหวิวไป ดูเป็นทางการนิดนึง หรือ working women ก็ดีครับ รองเท้าผ้าใบไม่เป็นไรนะครับ ใส่ไปเถอะ เดี๋ยวนี้เค้ายอมรับกันมากขึ้นแล้ว ฝรั่งยังใส่ผ้าใบเลย
ใครที่คิดจะเอารถเคลื่อนที่เองแบบ Segway หรือรองเท้าสเก๊ตไปนี่ ลืมไปได้เลยนะครับ เค้าไม่อนุญาต ยกเว้นคนนั่งวีลแชร์จริงๆ เท่านั้นครับ
ต่อไปให้เตรียมกระเป๋าล้อลากไปด้วยครับ เพราะการที่เราเดินไปหลายๆ บูธนั้น เค้าจะแจกทั้งนามบัตรและแคตาล็อกให้เราด้วย การจะถือเดินงานทั้งวันคงไม่ไหว ในกระเป๋ามีน้ำดื่มสักขวดติดตัวไว้ก็ดีครับ
อาหารการกิน หากคุณเป็นคนกินยาก หรืออาหารจีนไม่ค่อยถูกปากก็ควรเตรียมมื้อกลางวันของตัวเองไปสักหน่อย ดีกว่าไปเดินหิวๆ ที่นั่นครับ ส่วนน้ำดื่มก็มีตลอดทาง มีร้านกาแฟให้นั่งพักด้วย สบายๆ ไม่ต้องกังวลมากไปครับ
นามบัตรก็ห้ามลืมนะครับ และเราก็ต้องขอเค้ามาด้วย มีดีกว่าไม่มี ได้แคตาล็อกก็จะดี หรือถ้าเค้าให้โหลดทางออนไลน์ได้ หรือส่งมาทางอีเมลได้ก็ไม่เป็นไรครับ
น่าจะครบถ้วนสำหรับการเตรียมตัวไปงานแฟร์ครับ เดี๋ยวคราวหน้าผมจะมาเขียนเล่าวิธีการเตรียมตัวไปงานแฟร์แบบมืออาชีพ ไปครั้งแรกแล้วรู้เรื่อง ได้เรื่องเลยครับ
สนใจเรียนนำเข้าสินค้าจากจีน คลิกที่นี่
เทคนิคการไปเดินงานกวางโจวแฟร์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
ผมเชื่อว่าหลายๆ ท่านเคยไปเดินมาแล้ว และก็รู้สึกว่าเดินกลับมาแล้วก็ไม่ได้อะไรนอกจากนามบัตรและแคตาล็อก และตามมาด้วยอีเมลกวนใจจากจีน และเพื่อนใหม่จาก WeChat เรื่องพวกนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ เพราะคนจีนเค้าไม่ได้คิดกับเราแบบนั้น เค้าคิดว่าเราไปในฐานะนักธุรกิจ ถ้าเค้าทำให้คุณควักเงิน ณ ตอนนั้นได้ เค้าก็ทำไปแล้วครับ ชีวิตเค้าจริงจังเรื่องการทำมาหากินมากนะครับ ถ้าเราไปแบบเหยาะแหยะไม่เป็นมืออาชีพ ก็อาจจะดูไม่ดีได้
โดยส่วนตัวเนื่องจากผมมีงบจำกัด เรียกว่าไปครั้งเดียวต้องได้อะไรกลับมา ดังนั้นผมจะเตรียมตัวให้ดีที่สุด เรื่องการเตรียมตัวก่อนเข้างานต้องทำอย่างไรบ้าง ผมลิสต์มาให้อ่านเป็นข้อๆ ตามนี้ครับ
1. เลือกหมวดหมู่สินค้าที่เราสนใจและเรียงลำดับ
งานแฟร์นี้มีอยู่ 3 เฟส ซึ่งเราต้องเลือกตามหมวดหมู่สินค้าก่อนมาอยู่แล้ว สำหรับคนที่มีสินค้าที่สนใจอยู่ในมือ นี่ไม่ใช่ปัญหาเลยครับ เดินตรงไปได้เลย
สำหรับคนที่ไม่รู้จะขายอะไร ขอไปดูงานซึมซับบรรยากาศก่อน ก็ไม่ผิด แต่ถ้าอ่านถึงตรงนี้แล้วอยากทำให้มันมีประสิทธิภาพ ก็ให้ลิสต์หมวดหมู่มาก่อนเลยครับ
สมมติว่าผมไปงานในเฟส 3 มีสินค้า 5 หมวด ได้แก่ เครื่องเขียน กีฬาและท่องเที่ยว เสื้อผ้า เครื่องมือแพทย์ และอาหาร ผมก็จะไล่ลำดับเลยว่าอยากดูอันไหนก่อนหลัง อันไหนสำคัญที่สุด ห้ามบอกว่าสำคัญพอกันนะครับ เรียงลำดับเลย เช่น อาจจะเป็น 1) เครื่องเขียน 2) เครื่องมือแพทย์ 3) กีฬา 4) เสื้อผ้า 5) อาหาร เป็นต้น
2. ค้นหาข้อมูลก่อนไปงานแฟร์
การจะไปดูสินค้านั้น เราจะไปแบบหัวโล่งๆ ไม่ได้นะครับ มึนแน่นอน อย่างน้อยเราควรมีข้อมูลไว้หน่อยแล้ว เช่น สินค้าประเภทนี้มีหมวดย่อยอะไรบ้าง ต้องมีคุณภาพมาตรฐานอะไรบ้าง มีกี่สีกีไซส์ ไซส์ที่เหมาะกับตลาดเราเป็นยังไง อย่าลืมนะครับว่าเราไปในฐานะคนที่เชี่ยวชาญตลาดไทย เราต้องรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับตลาดไทยก่อนไป ไม่ใช่ไปถึงแล้วเค้ากับเราก็รู้พอๆ กันเลย แบบนี้เสียเปรียบในการเจรจาครับ
3. ลิสต์คำถามก่อนไปดูงานแฟร์
ต่อจากค้นหาข้อมูล ก็เป็นการลิสต์คำถามสิ่งที่ต้องรู้สำหรับสินค้าเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นจำนวนขั้นต่ำ (MOQ – Minimum Order Quantity) หรือว่าระยะเวลาการผลิต (Lead-time) หรือวิธีขนส่ง การแพ็คสินค้า ฯลฯ เรื่องนี้เป็นสิ่งจำเป็นในการนำเข้าครับ
ท่านที่ยังไม่ได้เตรียมหรือไม่ค่อยรู้ก็ไม่เป็นไรครับ ลองไปเดินๆ ดูแคตาล็อกและราคาก่อนได้ พอเดินไปสักพักก็จะพอเข้าใจว่าต้องรู้อะไรบ้าง
4. วางแผน โดยจัดลำดับวันที่จะไปดู
ส่วนใหญ่เราจะไปกันประมาณ 3-4 วัน ถ้าไปกับทัวร์จะมีเวลาดูประมาณ 2 วันครึ่ง เราต้องวางแผนเลยว่าวันแรกจะดูอะไร วันที่สองจะดูอะไรครับ โดยให้เลือกดูหมวดอันดับ 1) ของเราในวันแรกสุด ให้ดูหมวดเดียวเลยที่เราสนใจ ดูไปเลยเต็มที่ เพราะวันแรกจะเป็นวันที่เราตั้งใจที่สุด ฉะนั้นหมวดที่เราสนใจมากที่สุดให้ดูวันแรกครับ จากนั้นวันที่ 2 ก็ไปดูหมวดถัดๆ ไป รองลงมา
อาจจะฟังดูง่าย แต่มีข้อแม้อย่างนึง ห้ามดูข้ามหมวดไปมา เช่น วันแรกดูหมวด 1) พอเบื่อแล้วไปดูหมวด 3) เสร็จแล้วกลับมา 1) ใหม่ เพราะมันจะเสียเวลามากครับ แต่ละฮอลล์เดินห่างกันไกลมากนะครับ เน้นไปที่เดียวเลย
หากไปดูหมวดแรกแล้ว มันไม่ใช่ทำยังไงดี ให้ไปดูหมวดถัดไปได้เลยครับ เพราะว่าเป็นหมวดที่เราคาดหวังรองลงมา
5. กำหนดเวลาเข้าเยี่ยมบูธ
ในงานจะมีประมาณหลายร้อยบูธต่อสินค้าหนึ่งหมวด เราต้องวางแผนเวลาดีๆ นะครับ เพราะบางทีเราอาจจะเพลินแต่แรกจนลืมบูธหลังๆ ไป เช่น ไปดูเครื่องเขียน เจอปากกา ดินสอ อลังการมาก แต่ดันลืมไปว่า ยังมีแฟ้ม กระดาษ อุปกรณ์ออฟฟิศอีกเยอะที่ยังไม่ได้ดู กำหนดเวลาไว้สักหน่อยก็ดีครับ เช่น บูธนึงไม่เกิน 5-10 นาทีก็พอครับ
6. วางแผนเผื่อเวลากลับไปคุยอีกรอบ
นี่เป็นอีกเหตุผลที่ผมให้คุยกับหมวดแรกๆ ในวันแรกๆ ก่อน เพราะบางทีเราไปเจอซัพพลายเออร์ที่ใช่ เราก็สามารถกลับไปเจรจาหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้อีกรอบ ในวันถัดมา หรือจะเก็บไว้เก็บตกวันสุดท้ายก็ได้ครับ เทคนิคส่วนตัวของผมคือ ถ้ามีเวลาสองวันครึ่ง ผมจะเดินเต็มที่ในหมวดที่ตั้งใจไว้ให้ครบ แล้วเผื่อวันสุดท้ายไปเจรจา หากจบแล้วก็จะไปดูหมวดที่ไม่ได้สนใจ เพื่อไปเปิดหูเปิดตาครับ
นี่ก็เป็นเทคนิคส่วนตัวของผม ที่สามารถเจอคู่ค้าแบบมีประสิทธิภาพในครั้งแรก และทำให้เราดูเป็นมืออาชีพมากๆ อย่าลืมนะครับ ยิ่งเราดูเป็นมืออาชีพ เค้ายิ่งเกรงใจเรา และจะมีข้อเสนอดีๆ ให้เรา ขอให้โชคดีในการเดินงานแฟร์ครับ