Contract สัญญานำเข้าส่งออก สัญญาการค้าระหว่างประเทศ

Contract สัญญานำเข้าส่งออก สัญญาการค้าระหว่างประเทศ

ในการทำธุรกิจนำเข้าส่งออกนั้น สิ่งที่สำคัญและจำเป็นที่สุดในทุกครั้งที่มีการซื้อขายกันคือ สัญญาซื้อขาย หรือที่เรียกกันว่า Contract ในบางครั้งจะมีหลายๆ ชื่อ เช่น สัญญาขาย (Sales Contract), สัญญาจัดซื้อ (Purchase Contract), สัญญาส่งออก (Export Contract), หรือ สัญญานำเข้า (Import Contract) เป็นต้น

เหตุผลที่เราควรทำสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศ

ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าหลายๆ ราย ละเลยการทำสัญญาเนื่องจากเหตุผลด้านความยุ่งยากในการทำ การไว้เนื้อเชื่อใจในคู่ค้า และ ยังรวมถึงการแบกรับความเสี่ยงเอาไว้ได้

ไม่ว่าจะเหตุผลใดก็ตาม การทำส่งออก หรือ นำเข้า ทุกครั้ง หากทำได้ ควรมีการทำสัญญากันเสมอ เพราะสัญญานั้นจะผูกมัดและบังคับในกรณีที่ไม่ได้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันนั่นเอง

บางท่านอาจจะคิดว่าการมีใบสั่งซื้อ (Purchase Order / P.O.) ที่ได้รับจากลูกค้า มีลายเซ็นต์เรียบร้อยแล้วคือปลอดภัยสุดๆ แต่จริงๆ แล้วการออกใบสั่งซื้อ ใครก็สามารถทำได้

หรือในบางครั้ง หากผู้ซื้อ หรือ ผู้นำเข้าจงใจไม่ชำระเงิน หรือชำระเงินล่าช้า ทำให้เราต้องขาดทุนหรือขาดสภาพคล่องทางการเงิน เราจะไม่มีอะไรไปบังคับให้ลูกค้าต้องชดใช้ได้เลย

พูดในอีกมุมหนึ่งก็คือ สัญญานั้นทำมาเพื่อบอกในสิ่งที่ทำไม่ได้ว่าจะมีบทลงโทษ หรือข้อชดเชยอย่างไรบ้างนั่นเอง

 

ใครควรเป็นผู้ร่างสัญญา

ตามธรรมเนียมปฏิบัติ ผู้ขาย หรือผู้ส่งออก ควรเป็นผู้ร่างสัญญา เนื่องจากเป็นผู้เข้าใจในสิ่งที่นำเสนอ ได้แก่ สินค้าที่จะขาย สเปคต่างๆ ราคา การขนส่ง ระยะเวลาการผลิต ได้ดีที่สุด รวมถึงเป็นการบริการลูกค้าไปในตัวด้วย

อย่างไรก็ตาม การร่างสัญญานี้ไม่ได้มีกฎเกณฑ์อะไรตายตัว ว่าจะต้องเป็นผู้ขายทุกครั้ง ในหลายๆ ครั้งผู้ซื้อก็สามารถร่างสัญญาเองได้ เพราะบางรายต้องการสเปคที่ระบุไว้แล้วชัดแจ้งนั่นเอง

ทั้งนี้ใครจะร่างสัญญานั้นขึ้นอยู่กับการตกลงกันทั้งสองฝ่าย แต่หากให้แนะนำ บริษัทของเรา ไม่ว่าจะเป็นในฐานะผู้ขายหรือผู้ซื้อ ควรเป็นผู้ร่างสัญญาเอง เหตุผลคือ หากเราร่างสัญญาเอง เราจะได้ระบุสิ่งที่เราต้องการ ทำได้ หรือทำไม่ได้ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเรา หรือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้

 

สัญญาควรทำเป็นภาษาอะไรดี

การทำธุรกิจกับชาวต่างชาติแน่นอนว่าเราคงต้องทำสัญญาเป็นภาษาต่างประเทศ ซึ่งนี่อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่นักธุรกิจไทยมักไม่นิยมทำสัญญาา เพราะติดขัดเรื่องภาษา

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เราต้องทำสัญญาจริงๆ ภาษาที่เหมาะสมที่สุดในการทำสัญญาคือภาษาอังกฤษ เนื่องจากเป็นหนึ่งในภาษากลางที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก (ภาษากลางอื่นๆ ได้แก่ ฝรั่งเศส จีน สเปน รัสเซีย และ อาหรับ) และเป็นภาษากลางที่คนไทยเราคุ้นเคยที่สุด

ให้จำไว้เสมอว่าการทำสัญญาระหว่างประเทศไม่จำเป็นต้องใช้ภาษากลาง เราสามารถใช้ภาษาใดก็ได้ในการร่างสัญญา ขึ้นอยู่กับการตกลงของทั้งสองฝ่ายเท่านั้นเอง

ในบางครั้ง หากลูกค้าของเราไม่ถนัดภาษาอังกฤษ และต้องการทำเป็นภาษาที่ตัวเองถนัด เช่น ชาวจีน ชาวญี่ปุ่น อยากทำสัญญาเป็นภาษาตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามเราสามารถทำได้ แต่ให้ทำควบคู่ไปกับภาษาอังกฤษด้วย เนื่องจากเป็นภาษาที่เราถนัดที่สุดนั่นเอง

สิ่งที่ควรมีในสัญญาซื้อขาย

ในสัญญาซื้อขายนั้นทำขึ้นมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย สิ่งที่ต้องมีในสัญญามีดังนี้

  • ชื่อและที่อยู่ผู้ซื้อ ผู้ขาย
  • ชื่อสินค้า สเปคสินค้า
  • เทอมการชำระเงิน ชำระเมื่อไหร่ เงื่อนไขอย่างไรบ้าง
  • เทอมการค้า ราคาสินค้า
  • การขนส่ง ช่องทาง ชื่อเรือ
  • วันกำหนดส่ง ขั้นตอนการส่ง เอกสารการส่งออก
  • บทลงโทษกรณีผู้ส่งของไม่สามารถส่งของได้ หรือส่งของล่าช้า
  • บทลงโทษกรณีผู้ซื้อชำระเงินล่าช้ากว่ากำหนด
  • และอื่นๆ ที่จำเป็นต้องระบุเพิ่มเติม

นอกจากนี้ในสัญญาควรมีการทำให้รัดกุมมากขึ้นอีก หากได้ระบุไว้ว่า เมื่อมีการโต้แย้ง จะต้องขึ้นศาลกันที่ประเทศไหนอีก

ในขั้นตอนการร่างสัญญา หากผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าเป็นฝ่ายร่างสัญญา แต่ยังไม่มีประสบการณ์ในการทำสัญญา ควรปรึกษาทนายที่มีความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะการทำสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งมีให้บริการทั้งในไทยและต่างประเทศครับ

สนใจเรียนนำเข้าส่งออก ดูคอร์สเรียนได้ที่นี่ครับ คอร์สเรียนส่งออก

แหล่งข้อมูล www.un.org

Leave a Comment