Cross Border E-Commerce การส่งออกรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางออนไลน์

สวัสดีครับทุกท่าน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้ไปฟังสัมมนาเกี่ยวกับการส่งออกและการค้าออนไลน์ จริงแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรหรอกครับ แต่สิ่งที่ทำให้ผมประหลาดใจคือ การส่งออกซึ่งรวมถึงการนำเข้าด้วยนั้นได้เปลี่ยนรูปแบบไปอย่างสิ้นเชิง และเปลี่ยนไปเร็วมาก เอาง่ายๆ แค่คุณหายไปจากวงการแค่สามเดือน จะมีสิ่งใหม่ๆ เข้ามา มีของเล่นใหม่ๆ ช่องทางใหม่ๆ เข้ามา (เป็นทุกวงการด้วยนะครับ ไม่ใช่แค่ส่งออกนำเข้า) ซึ่งเทรนด์หลักๆ ที่จะมาสำหรับการนำเข้าส่งออกคือการค้าออนไลน์

คำว่าการค้าออนไลน์ ผมไม่ได้พูดถึงแค่การใช้อีเมลติดต่อกันเพื่อรับออเดอร์แล้วนะครับ อีเมลกลับกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว เผลอๆ อาจจะล้าสมัยสำหรับบางธุรกิจด้วยซ้ำ การค้าออนไลน์ที่ผมกำลังจะพูดถึงคือการค้าออนไลน์แบบข้ามพรมแดน ซึ่งฉีกกฏการค้าเดิมๆ ออกไปแบบทุกรูปแบบ ซึ่งผมจะเล่าให้ฟังวันนี้ครับ

e-commerce

การค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า E-Cross Border Trade คือ การที่สินค้านั้นถูกส่งไปยังต่างประเทศโดยใช้ระบบออนไลน์เป็นตัวหลักในการซื้อขายสินค้า ซึ่งการค้าแบบนี้ ผู้ซื้อกับผู้ขายไม่จำเป็นต้องเห็นหน้ากันก็ได้

ผู้ส่งออกรายใหญ่ๆ หลายๆ รายอาจจะโตมาจากการไปออกบูธ งานแสดงสินค้าเพื่อหาลูกค้า จากนั้นก็เริ่มใช้งานอลีบาบาเป็น เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและการเดินทาง แต่บางท่านก็ยังไม่ทันคุ้นกับอลีบาบา ที่บางทีเราก็ไม่เคยเห็นหน้าคนซื้อคนขาย มาตอนนี้เราก็มีการค้ารูปแบบใหม่มาแล้วนั่นก็คือการค้าขายแบบตรงไปที่ผู้บริโภคผ่าน Online Platform ซึ่งรูปแบบการค้าก็จะเปลี่ยนจาก B2B หรือ Business to Business เป็น B2C หรือ Business to Consumer นั่นเอง พูดง่ายๆ คือเจ้าของสินค้า (ทั้งผลิตเอง หรือซื้อมาขายไป) ขายตรงที่ไปลูกค้าเลย โดยไม่ต้องผ่านคนกลางอีกทอด

เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วคนกลางทั้งหลายก็จะโดนข้ามหัวใช่มั้ยครับ คำตอบคือใช่ แต่ไม่ทั้งหมดนะครับ

supermarket is now going online too

สินค้าบางประเภท ยังต้องอาศัยคนกลางในการเข้าหาลูกค้าอยู่ดี เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น สมมติว่าเราจะส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคไปอเมริกา ถ้าเป็น 10 ปีก่อนหน้านี้ เป้าหมายสุดท้ายก็คือห้างดังๆ อย่างเช่น Walmart ซึ่งการจะเข้าห้างนี้ได้ ไม่ใช่ว่าเราไปติดต่อจัดซื้อห้างโดยตรง เพราะทีมจัดซื้อห้างนี้ เค้าจะไม่ทำเรื่องการนำเข้า (ยกเว้นบางกรณีจริงๆ) สิ่งที่เค้าจะบอกคือให้เราไปติดต่อผู้นำเข้าก่อน แล้วให้ผู้นำเข้าเหล่านั้นมาติดต่อเค้าอีกทีนึง เรียกว่างานใครงานมัน ไม่ก้าวก่ายกัน สมมติว่าเราเอาของเข้าห้างได้แล้ว เราก็ส่งสินค้าผ่านผู้นำเข้า นำไปขายในห้าง ให้ผู้บริโภคมาช้อปปิ้งกันที่ห้าง (นึกภาพเหมือนเวลาเราไปเทสโก้หรือบิ๊กซี)

แต่ในปัจจุบัน คนก็เปลี่ยนความนิยมจากห้างเป็นการซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์มากขึ้น เว็บที่ดังๆ และดังที่สุดเวลานี้ก็คือ อเมซอนนั่นเอง (Amazon.com) เว็บอเมซอนนี้เดิมเคยเป็นเว็บขายหนังสือออนไลน์เท่านั้น พอปรับเปลี่ยนมาขายสินค้าอื่นๆ ชีวิตผู้คนก็เปลี่ยนไปเลย การส่งสินค้าเร็วขึ้นมาก ไว้คราวหน้าผมจะมาเล่าเจาะลึกให้ฟังนะครับ

พอเป็นแบบนี้คนก็เลยไม่เดินห้าง หันมาเดินอเมซอนแทน (เข้าเว็บไปช้อปปิ้งออนไลน์) และเมื่อคนเดินห้างน้อยลง ซื้อของในห้างน้อยลง ในที่สุดห้างเหล่านั้นก็ทนภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว และทยอยปิดตัว หรือปิดสาขากันลงไป พอห้างไม่สั่งของ ผู้นำเข้าเดิมๆ ก็ขาดรายได้ ธุรกิจนำเข้าสินค้าก็ค่อยๆ ทยอยลดลงหรือปิดตัวไปนั่นเอง

ในเมื่อเรารู้แล้วว่าคนขยับจากซื้อสินค้าในห้างไปซื้อออนไลน์ สิ่งที่เราต้องปรับตัวก็คือ การเอาสินค้าเราเข้าไปขายออนไลน์แทน ให้สินค้าไปถึงมือผู้บริโภค ซึ่งก็คือการขายผ่าน Platform ที่เรียกว่า E-Commerce นั่นเอง

online shopping

E-Commerce Platform คืออะไร

คือระบบการค้าขายทางออนไลน์ ที่มีเว็บไซต์ตัวกลาง แล้วให้คนเข้ามาซื้อ ขาย กัน โดยมีการสมัครสมาชิก แล้วเว็บเหล่านั้นจะได้รับค่าตอบแทนในหลากหลายรูปแบบ เช่น การได้รับค่าคอมมิชชั่น หรือ การได้รับเงินค่าสมาชิกของผู้ซื้อขายแทน

การมีเว็บชนิดนี้ ทำให้ผู้ประกอบการนำเข้าส่งออก ลดเวลา หรือเพิ่มช่องทางเลือกในการพบลูกค้าและตัวแทนการค้าได้มากขึ้นอีกด้วย

ซึ่งการทำเว็บรูปแบบนี้ ทำให้ธุรกิจนำเข้าส่งออกนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง จากการใช้ระบบออนไลน์เข้ามาช่วย ทำให้เกิดการค้าระหว่างประเทศในรูปของออนไลน์กันมากขึ้น (E-borderline trade) และการค้าข้ามแดนนี้เอง จะประสบผลสำเร็จได้ด้วยการใช้ระบบการค้า หรือ E-Commerce Platform มาช่วยให้ค้าขายง่ายขึ้น

E-Commerce Platform เกิดจากอะไร

ย้อนกลับไปประมาณ 20 ปีที่แล้ว ทุกคนก็รู้จักอินเตอร์เน็ตกันแล้ว และหลายๆ คนก็เริ่มมีเว็บไซต์กัน ยิ่งไปกว่านั้น การใช้งานอินเตอร์เน็ตก็รวมการแชทผ่านโปรแกรมต่างๆ อีกด้วย ซึ่งทำให้โลกอินเตอร์เน็ตสมัยนั้นเกิดการหลอกลวง โกงกันมากมาย เพราะว่าเราไม่รู้ว่าคนที่เราคุยอยู่ด้านหลังจอคอมนั้นคือใคร สำหรับวัยรุ่นยุค 90 ที่ชอบเล่นโปรแกรม Pirch เราต่างก็รู้ว่าเราสามารถปลอมตัวเป็นผู้หญิงแล้วเข้าไปคุยกันได้ ซึ่งการหลอกลวงกันมันง่ายมากๆ นั่นเอง

พอการหลอกลวงทางอินเตอร์เน็ตมีเยอะขึ้น คนก็เริ่มไม่มั่นใจในการติดต่อกับใครก็ตามทางอินเตอร์เน็ต ไม่เว้นแม้กระทั่งการซื้อสินค้า ซึ่งถ้าให้เลือกระหว่างการซื้อสินค้าแบบเห็นหน้า กับซื้อผ่านออนไลน์แบบไม่เห็นหน้า คนสมัยนั้นก็คงเลือกการเห็นหน้ามากกว่า อย่างน้อยๆ ถ้าจะโดนโกง ก็ขอดูหน้าก่อน ดีกว่าไม่เห็นอะไรเลย

Ebay.com

เมื่อเห็นโอกาสแบบนี้ เจ้าของเว็บไซต์ชื่อดังอย่างอีเบย์ ebay.com ก็เห็นช่องทางในการทำธุรกิจ โดยสร้างเว็บไซต์นี้ขึ้นมา เป็น platform สำหรับการซื้อขายกันระหว่างทุกคนบนโลกใบนี้ เพื่อให้ทุกคนซื้อขายสินค้ากันทางออนไลน์ได้โดยไม่ต้องกังวลการถูกหลอกลวง เพราะว่าอีเบย์มีระบบการคัดกรองผู้ซื้อและผู้ขาย การให้คะแนนเรทติ้ง เพื่อจะให้คนที่เคยซื้อกับผู้ขายรายนี้ ให้คะแนน และบอกว่าซื้อของกับคนนี้หรือร้านนี้แล้วชีวิตดียังไง เมื่อมีคนใหม่เข้ามาดูสินค้า ก่อนซื้อ เค้าก็ไปอ่านรีวิวจากคนเคยซื้อ และทำให้มีข้อมูลมากพอในการตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อนั่นเอง

เว็บอีเบย์นี้มีคนนิยมเป็นจำนวนมาก เพราะมีข้อดีอีกอย่างนึงที่สำคัญก็คือ การชำระเงิน เมื่อพูดถึงอีเบย์ ใครๆ ก็รู้จักระบบธนาคารออนไลน์ หรือชื่อว่า Paypal (เพย์พาล) ซึ่งธนาคารออนไลน์นี้ เดิมไม่ได้เกิดมาจากเจ้าของอีเบย์ แต่มันถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยคนที่มีวิสัยทัศน์มากๆ ชื่อว่า Elon Musk ซึ่งปัจจุบันก็คือ CEO ของบริษัทที่ทำเทคโนโลยีล้ำสมัย เช่น รถยี่ห้อ Tesla นั่นเอง

อีเบย์นั้นเชื่อว่าการที่คนจะกล้าซื้อขาย นอกจากระบบการให้คะแนนแล้ว ระบบการชำระเงินก็สำคัญไม่แพ้กัน จะให้ธนาคารทั่วๆ ไป มาช่วยรับรอง ก็ไม่สามารถทำได้หมดทุกประเทศ ตัวเองก็เลยเป็นธนาคารมันซะเองเลย และระบบ Paypal ก็มีความปลอดภัยสูงมากๆ และเป็นเงินอิเลคทรอนิคส์ที่ผู้ค้าออนไลน์ควรมี

แม้ว่าอีเบย์จะไม่ได้เป็นเว็บแรกที่ทำระบบแบบนี้ แต่ว่าเป็นเว็บแรกๆ ที่คนไทยรู้จักและเริ่มทำการค้าขายออนไลน์กัน อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับอีเบย์ นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์อื่นๆ ที่คนไทยเราสามารถค้าขายและเหมาะกับการส่งออกออนไลน์เป็นอย่างยิ่ง

amazon

Amazon.com (อเมซอน)

อเมซอนต่างจากอลีบาบามากมาย เพราะเป็นธุรกิจแบบ B2C (Business to Consumer) เจ้าของสินค้าทั้งโรงงานและเจ้าของแบรนด์ ขายสินค้าตัวเองโดยตรงไปยังผู้บริโภค คนซื้อก็คือผู้บริโภคนะครับ ซื้อแล้วใช้เองเลย ไม่ค่อยได้เอาไปขายต่อใครเท่าไหร่ อเมซอนนั้นเปรียบเสมือนห้างแห่งหนึ่งบนโลกออนไลน์ สินค้ามีเยอะมาก และราคาก็ถูกกว่าในห้างด้วยซ้ำไป การขายของบนอเมซอนมีวิธีการหลากหลาย และกำลังเป็นที่นิยม อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับอเมซอน

Alibaba.com (อลีบาบา)

เว็บอลีบาบานั้นเป็นเว็บขายส่งออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก คำว่าที่สุดในโลกคือมีผู้นำเข้าส่งออกทั้งโรงงานและคนกลาง หลายล้านบริษัทเข้ามาอยู่ในฐานข้อมูลนี้ และเราสามารถเป็นทั้งผู้ซื้อและผู้ขายได้ในเวลาเดียวกัน รวมถึงสามารถดูคู่แข่งได้ด้วยว่าเค้าขายอะไรกัน หรือมีสินค้าอะไรใหม่ๆ บ้าง สำหรับผู้นำเข้า

อลีบาบามีข้อดีคือ เราสามารถหาสินค้าราคาถูกได้ แต่ข้อเสียของผู้ส่งออกคือ เราจะขายสินค้าบนอลีบาบาในราคาสูงๆ ค่อนข้างยากนั่นเอง สนใจรายละเอียดอลีบาบาอ่านต่อที่นี่ > อลีบาบา

aliexpress logo

Aliexpress.com (อลีเอ็กซ์เพรส)

ถ้าใครรู้จักอลีบาบาอยู่แล้ว ให้นึกว่านี่คืออลีบาบาเวอร์ชั่นค้าปลีก พูดง่ายๆ ก็คือเวลาเราซื้อของจากอลีบาบา เค้าจะขายแบบล็อตใหญ่ แต่ถ้าเราอยากลองแค่ซื้อสินค้าตัวอย่าง หรือซื้อสินค้าล็อตเล็กๆ เราก็สามารถแวะมาซื้อที่เว็บนี้ได้ครับ เป็นภาษาอังกฤษหมดเลย คนไทยเข้าใจง่าย แต่ราคาแพงหน่อย และคนขายมีแต่คนจีนนะครับ เราเข้าไปขายไม่ได้ อ่านเพิ่มเติม

Taobao.com (เถาเป่า) Tmall (ทีมอลล์) และ 1688

Taobao เป็นเว็บขายของที่คนจีนขายให้คนจีนด้วยกัน ในเว็บทั้งหมดก็เป็นภาษาจีนครับ แต่ก็ยังมีคนไทยหลายๆ คนไปแอบซื้อของจากที่นี่ แล้วส่งมาขายต่อในไทยอีกที การซื้อสินค้าจากเว็บนี้จะต้องใช้ความชำนาญและเทคนิคบางอย่าง รวมถึงการมีชิปปิ้งที่เข้าใจการทำงานแบบนี้ด้วย

ส่วนเว็บ Tmall นั้นก็เหมือนกับเถาเป่าแต่เป็นสินค้าที่ดูดีกว่า คุณภาพสูงกว่า อารมณ์เหมือนมีห้างเดอะมอลล์แล้วก็ต้องมีพารากอนน่ะครับ ในขณะที่เว็บ 1688 นั้น เป็นสินค้าถูกกว่า เหมือนซื้อของในห้างท้องถิ่นนั่นเอง

ซึ่ง 3 เว็บนี้จะมีประโยชน์กับเราในเรื่องนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ แต่หากเราอยากส่งออกจริงๆ ต้องไปหาคู่ค้าที่มีบัญชีของเว็บเหล่านี้แล้วขายผ่านข่องทางนั้น ซึ่งจะมีรายละเอียดมากมายมหาศาลครับ

สำหรับใครที่อยากเรียนคอร์สนำเข้าสินค้าจาก Aliexpress, Taobao, TMall สามารถคลิกได้ที่ลิ้งค์นี้ครับ >> คอร์สนำเข้าสินค้าจากจีน

นอกจากนี้ยังมีเว็บอื่นๆ อีก เช่น Gmarket จากเกาหลี , Rakuten จากญี่ปุ่น ซึ่งเราจะพูดถึงในโอกาสถัดไปครับ

ใครที่สนใจตลาดไหน หรือแพลทฟอร์มไหน ลองไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้นะครั บหรือติดตามบทความจากเราได้เรื่อยๆ ครับ

สนใจเรียนธุรกิจส่งออก คลิกที่นี่

บทความเกี่ยวข้อง

Leave a Comment