6 อุปสรรค ของการเริ่มต้นธุรกิจส่งออก

เริ่มต้นธุรกิจส่งออก

ผมได้รับการติดต่อมากมายหลายในการเริ่มต้นธุรกิจส่งออก หลายๆ คนมีข้อติดขัดบางอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติของคนทั่วๆ ไป ผมเองก็มีข้อสงสัยบางอย่างก่อนเริ่มทำธุรกิจนี้ รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ด้วย

วันนี้ผมจะขอนำเสนอ 6 คำถามที่พบบ่อย ในการเริ่มต้นธุรกิจส่งออก

1. ส่งออกสินค้าอะไรดี

ผมพอเข้าใจเหตุผลนี้นะครับ เพราะว่าการส่งออกคือการทำธุรกิจที่ลูกค้าอยู่ห่างไกลจากเรา การจะเข้าใจลูกค้าได้ต้องเดินทางไปหาลูกค้าบ่อยๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจมากๆ

แต่ว่าเราคงลืมไปว่าการทำธุรกิจส่งออกนั้น เราไม่จำเป็นต้องไปขายของโดยเจาะไปแต่ละร้านค้าในประเทศเป้าหมาย เราสามารถหาตัวแทนที่ต่างประเทศแล้วให้เค้าทำงานแทนเราได้ และเราก็แบ่งกำไรกับเค้า

อ่านเพิ่มเติม >> ไอเดียหาสินค้าส่งออก

2. ส่งออกไปประเทศไหนดี

เนื่องจากการที่เราไม่รู้จักหรือชำนาญลูกค้าต่างประเทศ เราก็จะไม่รู้ว่าสินค้าเราเหมาะกับประเทศไหนดี และมันก็เป็นการยากที่จะไปสืบเสาะหาว่าสินค้าเราเหมาะกับการไปขายประเทศอะไร วิธีที่ดีที่สุดคือการไปยังประเทศที่เราคิดว่าใช่ แล้วออกบูธแสดงสินค้า หรือบินไปหาลูกค้าที่ประเทศนั้นๆ เลย แต่ข้อเสียคือมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางและที่พักค่อนข้างสูง ทั้งที่เรายังไม่รู้ว่าประเทศนั้นจะขายได้มั้ย

อย่างไรก็ตามสมัยนี้เราโชคดีมากที่การค้าขายสามารถทำได้ทางออนไลน์ได้ การส่งออกออนไลน์นั้นเราสามารถโพสต์สินค้าได้เลย โดยไม่ต้องเดินทาง เพื่อให้คนทั่วโลกมาพบเจอสินค้าเรา แล้วเราก็จะรู้ว่าสินค้าเราเหมาะกับประเทศอะไร

3. ขาดความรู้ด้านเอกสารส่งออก

จริงๆ แล้วเอกสารส่งออก ค่อนข้างยากและซับซ้อน เนื่องจากมีรายละเอียดเยอะมาก ประกอบกับการทำธุรกิจระหว่างประเทศ เราเจอหลากหลายประเทศ ร้อยพ่อพันแม่ ขนาดในไทยยังงงเอกสารเลย นอกจากนี้ยังเป็นเอกสารภาษาอังกฤษอีก ความยากก็ยิ่งเพิ่มอีกเท่าตัว

แต่จากประสบการณ์ของผม เอกสารส่งออกมันจะยากแค่ครั้งแรกๆ เท่านั้นเองครับ เพราะหลังจากทำไปแล้ว ครั้งที่สองจะไม่ยากแล้ว เพราะมันจะทำคล้ายๆ ของเดิมนั่นเอง

4. ขาดเงินทุนเริ่มต้นธุรกิจส่งออก

แน่นอนว่าเราคงคาดเดาได้ว่าเราจะได้ยอดขายจากการส่งออกสูงกว่ายอดขายในประเทศ เพราะว่าการซื้อแต่ละครั้งก็บรรจุกันในตู้คอนเทนเนอร์ หรืออย่างน้อยๆ คนที่ขายสินค้าก็รับรายได้หลักแสนหลักล้านขึ้นไปทั้งนั้น และเมื่อยอดขายเยอะ ก็ต้องใช้เงินทุนรวมถึงเงินหมุนเวียนเยอะเช่นกัน

แต่เดี๋ยวก่อน ยังมีการขายบางอย่างที่เราสามารถขายได้โดยไม่ต้องมีเงินทุนส่งออกเยอะขนาดนั้น (ผู้เขียนทำมาแล้ว) มันคือการเก็บเงินล่วงหน้าจากลูกค้าเราเอง ฉะนั้น หากใครจะทำการค้าส่งออกแต่ยังไม่มีเงินทุน ลองหาลูกค้าที่สามารถชำระเงินล่วงหน้าได้ โดยที่เราก็เริ่มจากออเดอร์เล็กๆ ไปก่อน ลดความเสี่ยงกันทั้งเราและลูกค้าด้วย

5. อยากส่งออกแต่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้

ภาษาอังกฤษเป็นปัญหาใหญ่ๆ ของคนไทยนะครับ ไม่ว่าจะเหตุผลอะไรก็ตาม คนไทยทั่วไปไม่ค่อยเก่งภาษาอังกฤษ ยกเว้นคนที่จบเมืองนอก หรือตั้งใจพูดภาษาอังกฤษให้ได้ ผู้เขียนออกตัวก่อนว่าไม่เคยไปเรียนเมืองนอก แต่เป็นคนสนใจภาษาอังกฤษเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และพบว่าภาษาอังกฤษเราไม่จำเป็นต้องดีเลิศ ขอแค่สื่อสารประโยคสั้นๆ ได้ หากไม่แน่ใจในตอนคุยกันก็ให้ส่งอีเมลมาเป็นลายลักษณ์อักษร (ซึ่งจริงๆ ควรจะทำอย่างนั้น) จากนั้นเราก็พอมีเวลาในการทำความเข้าใจละครับ

อีกเหตุผลนึงก็คือ ผมพบว่าหลายๆ ประเทศที่เราคิดว่าเค้าก้าวหน้ากว่าเรา เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี หรือจากยุโรปแบบอิตาลี สเปน ก็ดันพูดภาษาอังกฤษไม่เก่งเหมือนกันด้วย ฉะนั้น เรื่องภาษาไม่ต้องกังวลเลยครับ เค้าพูดมา เราก็พูดไป ผิดถูกไม่ว่ากันจ้า

สุดท้ายถ้ายังไม่มั่นใจในภาษาอังกฤษจริงๆ ก็ไปเรียนคอร์สภาษาอังกฤษเพื่อการส่งออกได้ครับ

6. ส่งออกไกลตัว ขายของแค่ในประเทศก็พอแล้ว

หลายๆ ธุรกิจโดยเฉพาะโรงงานผลิตสินค้าทั้งหลาย ที่มีตลาดหลักในเมืองไทย มักจะรู้สึกภูมิใจที่สินค้าตัวเองมีตลาดในประเทศอยู่แล้ว ไม่ต้องขยายออกไปก็ได้ จริงแล้วมองในมุมนี้ก็ไม่แปลกอะไรครับ แต่ถ้ามองในมุมกลับกัน หากคุณมีตลาดเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งประเทศ แปลว่าคุณจะต้องผลิตสินค้าเพิ่มอีกเท่าตัว และต้นทุนสินค้าก็จะถูกลงไปอีก ทำให้เราสามารถแข่งขันได้สูง จริงมั้ย หากเราไม่ปรับตัว คู่แข่งเราทำต้นทุนได้ต่ำกว่าเรา เราอาจจะเสียท่าคู่แข่งในอนาคตได้

นอกจากคู่แข่งในประเทศแล้ว ปัจจุบันนี้เรายังมีการนำเข้าสินค้าจากหลายๆ ประเทศที่มีราคาถูกกว่ามาขายแข่งอีกด้วย สรุปคือหนีไม่พ้นการแข่งขันกับต่างชาติ ถ้าเรามีศักยภาพในการส่งออกได้ ก็ขอให้ทำเถอะครับ จำไว้อย่างนึงว่า ถ้าไม่โตเราก็ตาย

หวังว่าบทความนี้จะทำให้ท่านทั้งหลายที่อยากส่งออกสินค้าสนใจในการทำตลาดส่งออกมากขึ้นนะครับ

สนใจเรียนส่งออกนำเข้า คลิกที่นี่

บทความเกี่ยวข้อง

Leave a Comment