พ่อค้าคนกลาง ธุรกิจที่ไม่มีวันตาย

ในอดีตถ้าเราจะพูดถึงการค้าระหว่างประเทศ อาชีพเทรดเดอร์หรือพ่อค้าคนกลางซื้อมาขายไป ก็เป็นอาชีพที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ ร่ำรวยอาชีพหนึ่งเลยทีเดียว โดยเทรดเดอร์นั้นทำหน้าที่หาผู้ซื้อให้มาเจอกับผู้ขาย แล้วกินคอมมิชชั่น หรือหาของจากที่หนึ่งไปขายอีกที่หนึ่งเพื่อรับกำไรส่วนต่าง เทรดเดอร์นั้นต้องมีลักษณะพิเศษ คือ รู้จักตลาดว่าต้องการสินค้าตัวไหน รู้แหล่งซื้อของ เก่งในเรื่องการเจรจาต่อรอง การหมุนเงินและเรื่องเอกสาร ต้องขับเคลื่อนตัวเองไปหาของจากแหล่งผู้ผลิตให้เจอ เพราะผู้ผลิตตั้งอยู่กับที่ ไม่เดินทาง และต้องนำของกลับมาขายให้ผู้บริโภคที่ไม่รู้ว่าจะหาซื้อของจากที่ไหน เรียกได้ว่าคนกลางนี่แหละคือผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกเราอย่างแท้จริง

ในขณะที่โลกเราเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การมาของอินเตอร์เน็ตทำให้คนติดต่อกันง่ายขึ้น การค้าขายเปลี่ยนไปเพราะผู้บริโภคสามารถหาซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น ง่ายถึงขนาดสั่งตรงจากโรงงานได้เลยโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนในโลกใบนี้  โรงงานเองก็ทำตลาดโดยตรงถึงผู้บริโภคได้โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าเช่นกัน เรียกได้ว่าข้ามหัวพ่อค้ากันเลยทีเดียว นี่ถือว่าเป็นบทเริ่มต้นของวิกฤตร้ายแรงสำหรับอาขีพเทรดเดอร์เพราะทุกคนทั้งผู้ผลิตและผู้ซื้อก็พร้อมใจกันมองข้ามเหล่าพ่อค้าคนกลางไปทั้งสิ้น บรรดาพ่อค้าต่างก็หวาดผวาว่าอาชีพของเขากำลังจะสาบสูญไปจากโลกนี้แล้ว

อย่างไรก็ตาม อาชีพนี้ก็ยังเป็นอาชีพที่ไม่มีวันตาย ไม่สาบสูญอย่างที่คิดไว้ เพียงแต่ปรับเปลี่ยนตัวเองไปตามสถานการณ์การค้าของโลกแต่ละยุคสมัย แถมยังกลับกลายเป็นแข็งแกร่งกว่าเดิม จนทำให้คนที่เริ่มทำธุรกิจสนใจธุรกิจประเภทนี้กันมาก ผมจะเล่าให้ฟังทีละข้อว่าทำไมธุรกิจนี้ถึงน่าสนใจครับ

ออนไลน์
อินเตอร์เน็ต

1. การมาของอินเทอร์เน็ต

ถึงแม้จะทำให้ผู้บริโภคซื้อของได้โดยตรงจากผู้ผลิต แต่กลับกลายเป็นเครื่องมือทรงคุณค่าที่ให้เทรดเดอร์ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม หาเงินได้มากกว่าเดิม และมีคนสนใจทำอาชีพนี้มากกว่าเดิมอีกด้วย ถ้าคุณไม่เชื่อคำพูดนี้ให้ลองเปิดเวบค้าขายบนอินเตอร์เน็ตดูก็ได้ว่าจำนวนคนขายกับคนผลิต อย่างไหนเยอะกว่ากัน

ยิ่งไปกว่านั้นการเกิดใหม่ของสายการบินราคาถูก ยังสนับสนุนให้เทรดเดอร์สามารถบินไปหาแหล่งสินค้าต่างประเทศ และนำเข้ามาขายในประเทศได้โดยง่ายและประหยัดค่าใช้จ่ายอีกต่างหาก แม้แต่คนที่ไปเที่ยวยังไปช้อปของแบรนด์เนมมาขายของทาง google, facebook เลย จริงมั้ยครับ

2. ความเชี่ยวชาญตลาด

เทรดเดอร์มีความเชี่ยวชาญในสินค้านั้นๆ มากกว่าผู้ซื้อ ผู้ซื้อถึงแม้จะรู้ว่าสามารถซื้อสินค้าเหล่านั้นในราคาถูกได้ที่ไหน หลายคนก็ยังยินดีที่จะจ่ายในราคาที่แพงกว่าเพื่อแลกกับความเสี่ยงต่อการซื้อจากผู้ผลิตโดยตรง เพราะไม่รู้ว่าของที่ได้จะดีจริงรึเปล่า ซื้อจากเทรดเดอร์เองน่าจะสบายใจกว่า เพราะอย่างน้อยเค้า (เทรดเดอร์) ก็กรองผู้ผลิตมาระดับนึงแล้ว เรียกว่ามีคนกลางมาคอยรับประกันคุณภาพสินค้านั่นแหละครับ แถมอาจจะซื้อในจำนวนมากกว่าเรา อาจจะได้ราคาดีกว่าผู้ซื้อไปหาเองด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ประโยชน์กับผู้ซื้ออีกข้อที่สำคัญมากของเทรดเดอร์คือความหลากหลาย ครับ หากคุณต้องการซื้อเสื้อผ้าสักชุดนึง คุณคงไปห้างมากกว่าจะไปไล่ซื้อเสื้อ กางเกง หรือรองเท้าทีละโรงงาน ใช่มั้ยครับ

การกระจายสินค้า

3. การกระจายสินค้า

โรงงานยังต้องการพึ่งพาเทรดเดอร์ในการทำตลาดและกระจายสินค้าอยู่ โรงงานนิยมขายสินค้าครั้งละจำนวนมากๆ (bulk) มากกว่าขายทีละชิ้น เพราะการผลิตครั้งละมากๆ จะทำให้ลดต้นทุนและเกิดกำไร ดังนั้นโรงงานจึงนิยมหาใครก็ได้ที่สามารถซื้อสินค้าได้ทีละเยอะๆ ซึ่งก็หนีไม่พ้นเทรดเดอร์ไงล่ะครับ เทรดเดอร์จึงมีหน้าที่กระจายสินค้าจากจำนวนมากเป็นน้อย หรือที่เรียกว่า break bulk นั่นล่ะครับ

นอกจากนี้บางโรงงานจะนิยมเน้นการผลิตมากกว่าการตลาด หรือแทบไม่ได้เน้นเลย เทรดเดอร์นี่ล่ะคือคนทำการตลาดให้โรงงานด้วย บางโรงงานนี่ชอบมากเลยที่จะรู้จักเทรดเดอร์เยอะๆ ให้เทรดเดอร์ช่วยหาตลาดให้เพื่อที่ตัวเองจะได้เน้นผลิตอย่างเดียว บางคนมีลูกค้าจากเมืองนอกมาซื้อโดยตรงยังไม่ขายให้เลย แนะนำให้ลูกค้ารายนั้นไปซื้อกับเทรดเดอร์ที่ตัวเองรู้จัก

จะว่าเป็นเหตุผลเข้าข้างตัวเองก็ใช่ หรือจะเป็นข้อดีก็ใช่ ธุรกิจผลิตสินค้าขนาดใหญ่สมัยนี้ไม่มีที่ให้คนรุ่นใหม่อย่างคุณยืนแล้วครับ เค้าปลูกโรงงาน เค้าจองพื้นที่ในตลาดกันหมดแล้ว ตอนนี้รายเล็กๆ อย่างคุณ ต่อให้มีเงินหนาแค่ไหนก็สู้เค้าไม่ได้หรอกครับ แต่ที่เราเก่งกว่าโรงงานคือ เราเล็กกว่า เรารับมือการเปลี่ยนแปลงได้เร็วกว่าเพราะเราไม่มีต้นทุนคงที่ และที่สำคัญเราไฟแรงกว่าครับ

เห็นมั้ยครับในโลกนี้ยังมีที่ว่างเหลือให้เทรดเดอร์อีกมากเลย ถ้าคุณสนใจธุรกิจนี้ขอให้คุณเริ่มจากการมองโลกในแง่บวกแล้วจะหาโอกาสของเราเจอ การเริ่มต้นเป็นเทรดเดอร์นั้นง่ายมากๆ ในสมัยนี้ ใช้เงินก็น้อย ขอแค่ความตั้งใจและเข้าใจในธุรกิจนี้ครับ คราวหน้าผมจะเขียนวิธีการเริ่มต้นธุรกิจเทรดดิ้งแบบเจาะลึกจากประสบการณ์ตรงให้อ่านกันครับ

อยากเป็นพ่อค้าแม่ค้า นักธุรกิจส่งออกนำเข้า ธุรกิจระหว่างประเทศ แต่ไม่เคยทำมาก่อน แนะนำสมัครเรียนเพื่อหาความรู้เพิ่มเติม เพราะการส่งออกเป็นธุรกิจเฉพาะที่ต้องเรียนรู้ก่อนที่จะทำจริง และหากได้เรียนแล้วจะร่นเวลาการเริ่มต้นได้เร็วมากๆ สนใจคอร์สเรียนนำเข้าส่งออก คลิกที่นี่

ผมทำธุรกิจนี้มาหลายปีพอจะเห็นมุมมองของธุรกิจเทรดดิ้ง นำเข้าส่งออก ว่าเส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ มีหลายสถานการณ์ที่ลูกค้าไม่หลุดมือไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งหนึ่งในเหตุผลที่ลูกค้าไม่รับออเดอร์จากเราคือ การที่เราเป็นบริษัทการค้า (เทรดดิ้ง) ไม่ได้มีโรงงานผลิตเป็นของตัวเอง ทำให้ลูกค้าเริ่มเกี่ยง ไม่อยากค้าขายด้วย เพราะกลัวสินค้าแพง ทั้งที่จริงแล้ว การทำการค้ากับบริษัทเทรดดิ้ง ก็มีข้อดีหลายข้อเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม หากคุณเป็นบริษัทเทรดดิ้งแล้วเจอปัญหาแบบนี้ ผมมีวิธีแนะนำว่าเราควรพัฒนาบริษัทเราอย่างไรให้เก่งกว่าโรงงานผลิตนะครับ ผมเอามาให้ผู้อ่านเห็นว่าเทรดเดอร์นั้นต้องงานทำอะไรบ้างครับ

ความต้องการของตลาด

1. การหาความต้องการตลาด
เทรดเดอร์ต้องหูไวตาไว รู้ทันตลาดว่าใครต้องการอะไรที่ไหนเมื่อไหร่อย่างไร ถ้าเราต้องการทำเป็นเทรดเดอร์ เราต้องขยันตามตลาดและตามเทรนด์ หมั่นติดตามข่าวสารอยู่เสมอ

งานกวางโจวแฟร์

2. การหาแหล่งสินค้า
ข้อนี้ถือเป็นตัววัดความชี้เป็นชี้ตายของเทรดเดอร์เลย ถ้าลูกค้าหรือตลาดต้องการสินค้านี้แล้ว เราหาสินค้ามาสนองให้ไม่ได้ หรือราคาสู้คนอื่นไม่ได้ เราก็จะไม่ใช่เทรดเดอร์ที่ลูกค้าอยากได้อีกต่อไป เทรดเดอร์ต้องหมั่นเดินทางเสาะหาติดต่อผูกมิตรกับผู้ผลิตไว้ เพื่อให้ตัวเองมีสินค้าเพื่อสนองความต้องการ

เจรจาต่อรอง

3. การเจรจาต่อรอง
การเป็นคนกลางนั้นไม่มีอะไรง่าย เพราะต้องแบกรับความต้องการของทั้งผู้ผลิตและผู้ซื้อ รวมถึงต้องพยายามบริหารจัดการให้ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี เราอาจจะมองว่าการเป็นคนกลางนั้นง่าย แค่สั่งแค่พูด แต่จริงแล้วไม่ง่ายเลยที่จะทำให้ทุกอย่างออกมาราบรื่น

การกระจายสินค้า

4. การขายสินค้าและการบริหารจัดการช่องทางจัดจำหน่าย
เมื่อได้สินค้ามาแล้วเทรดเดอร์ก็ต้องมีหน้าที่ไปนำเสนอลูกค้า เทรดเดอร์บางรายที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนจำหน่าย มีงานหลักที่ต้องขายสินค้าให้ได้ ช่องทางจัดจำหน่ายก็เป็นสิ่งสำคัญเพราะพวกเขาคือผู้ขายสินค้า เป็นผู้นำรายได้มาให้เรา

ท่าเรือ

5. การจัดการการขนส่งและเอกสาร
เมื่อได้รับคำสั่งซื้อแล้ว เทรดเดอร์มีหน้าที่ประสานงานกับผู้ผลิตให้ผลิตและจัดส่งสินค้าได้ตามต้องการ ประหนึ่งแหมือนเป็นตัวแทนลูกค้ามาติดตามงานจากโรงงาน รวมถึงจัดหาพาหนะ จองรถจองเรือ ทำเอกสารที่จำเป็นในการใช้ส่งออกและใบอนุญาตต่างๆ รวมถึงเอกสารสัญญาทางการค้าอีกด้วย

ค่าเงิน

6. การจัดการการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน
เทอมการค้าเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการทำการค้า ลูกค้าเราอยู่คนละประเทศกับเรา ห่างไกลกัน ระบบการชำระเงินหรือการทำการค้าก็ไม่เหมือนกัน ยิ่งทำให้ยากขึ้น การบริหารการเงินจำเป็นมาก ลองคิดดูว่าเกิดเราโชคร้ายถูกลูกค้าชักดาบ ไม่จ่ายเงิน เราต้องขายสินค้ากี่ล็อตจึงจะคืนทุน
เรื่องการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนก็เหมือนกัน เคยมีพี่ท่านนึงถามผมว่าทำไมผมไม่ยอมทำ Forward อัตราแลกเปลี่ยนไว้ ถ้าออเดอร์หนึ่งล้านบาท ถ้าผิดไป 1 % ก็เป็นเงินหนึ่งหมื่นบาทแล้ว

คลังสินค้า

7. การบริหารจัดการสินค้าคงคลัง
ว่ากันว่าสต็อกเป็นสิ่งสำคัญ ในหลายรายที่แบกสต็อกตัวเองก็ต้องบริหารเงินของตัวเองที่จมอยู่กับสต็อกให้ดี ให้เพียงพอต่อความต้องการลูกค้าและตัวเองประหยัดค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด หรือจะให้ดี ให้ทำธุรกิจแบบไม่ต้องแบกสต็อกจะดีที่สุด

แบรนด์

8. การทำตลาดและการสร้างแบรนด์
การทำตลาดก็เป็นอีกเรื่องที่มีประโยชน์ในการทำธุรกิจเทรดดิ้ง เพราะในเมื่อวันนึงลูกค้าเราอาจจะรู้แหล่งผลิตของเรา แต่หากเรามีแบรนด์ที่อยู่ในใจผู้บริโภคอยู่แล้ว และเป็นของเรา ลูกค้าก็ยากที่จะตัดเราออกจากระบบ

คอนเน็คชั่น

9. เน็ตเวิร์คและคอนเน็คชั่น
ข้อสุดท้ายนี้ผมหมายถึงการที่เรามีเพื่อนในวงการเดียวกัน หน่วยงานราชการ หรือเป็นสมาชิกสมาคมในธุรกิจที่เราทำอยู่นั้น จะมีประโยชน์กับเราทั้งสิ้น ยุคนี้เป็นยุคของการร่วมมือกันเพื่อแบ่งกันทำมาหากินมากกว่าต่อสู้กันอีกแล้ว
หวังว่าบทความนี้จะทำให้ท่านเห็นภาพธุรกิจเทรดดิ้งมากขึ้น และเป็นข้อมูลในการตัดสินใจลงมือเข้าสู่สนามการค้าระหว่างประเทศนะครับ

สนใจคอร์สเรียนนำเข้าส่งออก คลิกที่นี่

Leave a Comment