สรุปเศรษฐกิจในปี 2023 และคาดการณ์แนวโน้มการค้าระหว่างประเทศ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2024

สรุปเศรษฐกิจในปี 2023 และคาดการณ์แนวโน้มการค้าระหว่างประเทศ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2024

ความคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นในปี 2023 หลังจากจบวิกฤตโควิด ภาคธุรกิจทั่วไป คาดการณ์ว่าคนจะรู้สึกอัดอั้นกับการต้องกักตัวอยู่กับที่ และหลังจากการอนุญาตให้เดินทางได้ การใช้จ่ายจะมากขึ้นเป็นทวีคูณเพื่อชดเชยช่วงเวลาที่ขาดหายไป แต่ผลกลับไม่เป็นอย่างที่คาดหมาย เนื่องด้วยหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการขาดรายได้ของบุคคลทั่วไปในช่วงโควิด หรือการถูกกักตัวเป็นเวลานาน ทำให้พฤติกรรมบางอย่างเปลี่ยนไป เช่น work from home เป็นทางเลือก หรือการช้อปปิ้งออนไลน์ รวมถึงการติดบ้านมากขึ้น

ซึ่งพฤติกรรมและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปเหล่านี้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อหลายธุรกิจ เช่น ห้างสรรพสินค้า ที่คนช้อปปิ้งออนไลน์มากกว่า ธุรกิจร้านอาหาร ที่การทานแบบดิลิเวอรี่ เริ่มมีบทบาทมากขึ้น หรือ การอบรมสัมมนาที่สามารถจัดงานแบบออนไลน์ได้ ทำให้ธุรกิจจัดอบรมแบบมีสถานที่ต้องซบเซาไปด้วย เหล่านี้คือตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงในด้านพฤติกรรม

โควิดทำให้พฤติกรรมคนเปลี่ยนแปลงไป

ในส่วนผลกระทบโดยตรงเรื่องการขาดรายได้นั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับสินค้าฟุ่มเฟือย แฟชั่น ที่คนเริ่มให้ความสำคัญกับคุณค่าและความคุ้มค่ามากกว่าความหรูหรา โดยต้องดูดีในราคาที่เอื้อมถึง และรวมถึงธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการประหยัดค่าใช้จ่ายนี่เอง

โควิดทำให้คนมีรายได้ลดลง

สำหรับสภาวะธุรกิจในไทย หลังจากการเลือกตั้ง เกิดความไม่แน่นอนในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้หุ้นตก เพราะประชาชนยังไม่รู้ทิศทางแน่ชัด ถึงแม้ว่าหลังจากได้รัฐบาลแล้ว หุ้นก็ยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญคือการไม่เชื่อมั่นในนโยบายที่ต้องกู้เงินเพิ่มของรัฐบาล แม้จะมีผลกระทบด้านเศรษฐกิจในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจะมากขึ้น แต่ผลกระทบด้านการคลัง หนี้สาธารณะทำให้คนกังวลมากกว่า และอาจเป็นเหตุผลหลักที่ตลาดหุ้น หรือแม้แต่ภาคธุรกิจทั่วไป ยังสัมผัสได้ว่าขาดความเชื่อมั่น ไม่กล้าลงทุนใดๆ ทั้งสิ้น

เศรษฐกิจไทยไม่ได้รับความเชื่อมั่น จากนโยบายรัฐบาล

ประกอบกับการหายไปของนักท่องเที่ยวจีน ที่เป็นลูกค้าหลักของการท่องเที่ยวไทย ซึ่งปัจจัยหลักคือ การขาดรายได้ของนักท่องเที่ยว เศรษฐกิจต่างประเทศซบเซา  และข่าวร้ายเกี่ยวกับประเทศไทยต่างๆ นานา ทำให้การท่องเที่ยวที่ดูเหมือนจะเป็นอาวุธหลักในการกอบกู้เศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบัน ยังไม่เห็นผลเท่าที่ควร

มาถึงธุรกิจส่งออก แม้ว่าตัวเลขจะโตขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงโควิด แต่ก็โตไม่มาก ตามสภาวะตลาดโลกที่ซบเซา โดยตลาดโลกในปี 2023 นั้น มีสถานการณ์คร่าวๆ ดังนี้

สหรัฐอเมริกา เงินเฟ้อสูงมาก แต่พยายามพยุงค่าเงินของตัวเองไว้ด้วยการให้ดอกเบี้ยนโยบายสูง เพื่อลดเงินเฟ้อ

จีน เศรษฐกิจเริ่มโตน้อยลง จากสภาวะชะงักงันของภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่พยายามประคองไม่ให้เกิดฟองสบู่แตก

ยุโรป เกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทำให้เศรษฐกิจชะงักงัน เพราะแหล่งวัตถุดิบ รวมถึงตลาดมีความผันผวนและไม่ปกติ ภาพรวมเศรษฐกิจของยุโรปอยู่ในขั้นวิกฤต

อาเซียน เกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในบางประเทศ เช่น ลาว กัมพูชา เวียดนาม มีการรบกันในเมียนมาร์ แม้แต่ไทย ที่ว่าเศรษฐกิจซบเซา ภาพรวมยังดีกว่าประเทศเหล่านี้ แต่ในส่วนอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เศรษฐกิจกลับดีขึ้น

ตะวันออกกลาง เป็นภูมิภาคเดียวที่เป็นที่พึ่งพาของเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ เนื่องจากกำลังขยายตัว สร้างเมือง สร้างเศรษฐกิจใหม่ แทนที่น้ำมัน แต่ปัจจัยลบที่มาเกี่ยวข้องทำให้ไม่โตเต็มที่คือการรบกันในอิสราเอล

สรุปแล้วสภาวะตลาดของโลกที่มีปัญหา ทำให้ปัจจัยในการส่งออกค่อนข้างน่าเป็นกังวล

ในปี 2024 มีการวิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจของโลกน่ะจะยังทรงๆ ถ้าไม่เกิดการแก้ปัญหาใดๆ เช่น ยังมีสงครามในยูเครนเหมือนเดิม ยังการสู้รบในอิสราเอลเหมือนเดิม จีนยังไม่ฟื้น หรือสหรัฐยังไม่มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ประเทศเหล่านี้ไม่มีเงินซื้อของจากประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะอาเซียน

อย่างไรก็ตาม มีการทำนายแนวโน้มในการทำตลาดการค้าระหว่างประเทศไว้ 5 แนวโน้มหลัก ที่คาดว่าจะมาช่วยกอบกู้เศรษฐกิจโลกไว้ดังนี้

  1. Digitalization, e-commerce and AI

การใช้เครื่องมือดิจิตอล การค้าออนไลน์ และการใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วย จะทำให้เกิดเศรษฐกิจใหม่ มีคนรวยมากขึ้น มีการจ้างงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเหล่านี้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ธุรกิจที่ถูกกระทบด้วยธุรกิจออนไลน์ก็จะมีการจ้างงานลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

การค้าออนไลน์ในแต่ละประเทศ จะกลายเป็นธุรกิจหลักไปแล้ว อาจจะถึงขั้นเป็นช่องทางหลักสำหรับผู้บริโภคในตลาดใหญ่ๆ บางประเทศได้ในไม่ช้านี้ รวมถึงการใช้เทคโนโลยี AI จะทำให้คนเริ่มถูกจ้างงานลดลง

  1. Geopolitics and new trade alliances

สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ การแบ่งขั้วทางการเมืองของโลก โดยมีฝั่งนึงคือ สหรัฐและยุโรป (G7) และอีกฝั่งที่เป็นเศรษฐกิจใหม่ของโลก คือกลุ่ม BRICS (Brazil, Russia, India, China, South Africa) จะมีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้น สองฝั่งนี้จะร่วมมือกันกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าในกลุ่มของตัวเองมากขึ้น โดยมีผู้เล่นนอกวง ได้แก่ อาเซียน ตะวันออกกลาง อาฟริกา และละตินอเมริกา ที่อาจจะต้องถูกบังคับให้เลือกข้าง หรือร่วมวงใดวงหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การเข้าพบกันของผู้นำสหรัฐและจีน เพื่อปรับความเข้าใจกัน เป็นการสื่อความหมายว่า การคุยกันยังสามารถเกิดขึ้นได้ และเชื่อว่าประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจไม่อยากให้เกิดสงครามจริงๆ

  1. Sustainability and green trade

ภาวะโลกร้อนและการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน เป็นประเด็นที่เหมือนจะไกลตัว แต่ใกล้ตัวมากขึ้น การที่บางประเทศมีอากาศร้อนตลอดปี เช่น ไทย ทำให้มีการคาดการณ์ว่าปี 2024 จะเกิดภัยแล้ง น้ำในการชลประทานจะน้อย ผลผลิตการเกษตรลดลง สินค้าเกษตรมีราคาแพงขึ้น อาจซ้ำเติมสภาวะเศรษฐกิจได้

ดังนั้นธุรกิจสีเขียวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าออแกนิค อุตสาหกรรมคาร์บอนเครดิตทั้งหลาย จะมีบทบาทอย่างมากในการทำตลาดต่างประเทศ

  1. A new approach of supply chain

แนวทางการหาสินค้าเปลี่ยนไป จากการใช้ระบบดิจิตอล และการประหยัดต้นทุน ทำให้การหาสินค้าแบบรวมกลุ่มกัน หรือการขนส่งสินค้าหลายอย่างในคราวเดียว มีมากขึ้น ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจแบบแยกเป็นเอกเทศ อาจจะต้องหาคู่ค้าที่สามารถเพิ่มศักยภาพ และลดต้นทุนไปด้วยในตัว

  1. China as a center of global trade

จีน (รวมถึงอาเซียนด้วย) จะกลายเป็นศูนย์กลางการค้า เป็นอันรู้กันว่าฐานการผลิตของโลกส่วนใหญ่มาจากเอเชีย โดยเฉพาะจีน และอาเซียน ในช่วงโควิดที่ไม่สามารถดำเนินงานได้ตามปกติ ทั่วโลกขาดแหล่งนำเข้าสินค้า เป็นเหตุให้เกิดเศรษฐกิจซบเซาด้วยอีกปัจจัยหนึ่ง ดังนั้นการพึ่งพาการผลิตจากกลุ่มประเทศเหล่านี้ถือว่าสำคัญ และเมื่อคำนวณจากปัจจัยเหล่านี้แล้ว การส่งออกสินค้าของไทย น่าจะมีข่าวดีในปี 2024 ครับ

ข้อมูลบางส่วนได้จากแหล่งนี้

International trade trends for 2024

บทความเกี่ยวข้อง

Leave a Comment