ผ่านไปแล้วสองปี กับสถานการณ์โควิดที่บั่นทอนให้ภาคธุรกิจของทุกประเทศทั่วโลกย่ำแย่ ผลกระทบเหล่านี้ทำให้การหารายได้ของภาคธุรกิจซบเซา ทำให้หลายธุรกิจต้องปิดตัวลง เช่น บริการ ท่องเที่ยว ร้านอาหาร สายการบิน ฯลฯ เนื่องจากขาดรายได้ ซึ่งเป็นผลให้พนักงานในบางธุรกิจต้องถูกลดค่าจ้าง หรือถูกเลิกจ้างไป ซึ่งการขาดรายได้นี้เอง ทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย รวมทั้งสาเหตุของการขาดความเชื่อมั่นในการหารายได้ในอนาคตด้วย
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการสาธารณสุข ที่เกี่ยวกับการป้องกันไม่ว่าจะเป็นแผนการรับมือการระบาด รวมถึงการกระจายฉีดวัคซีนในหลายประเทศ ทำได้ดีขึ้น ทำให้มีหลายประเทศเริ่มคลายมาตรการ ให้ประชาชนออกมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ รวมถึงการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวได้อีกครั้งหนึ่งด้วย
หากตรวจสอบไปถึงสภาวะความรู้สึก ความเชื่อมั่นของประชาชนทั่วไปในหลายประเทศ พบว่ามองโลกในแง่ดีมากขึ้น กล่าวคือ หากมีไวรัสสายพันธุ์ใหม่ออกมา ก็เชื่อว่าการสาธารณสุขของแต่ละประเทศจะมีมาตรการรองรับ รวมถึงการพัฒนาวัคซีนให้ได้ประสิทธิภาพเท่าทัน รวมถึงการปรับตัวของประชาชนทั่วไปทำได้ดีขึ้นกว่าก่อน และมีความระมัดระวังตัวมากขึ้นนั่นเอง
สาเหตุเหล่านี้ทำให้แทบทุกสำนักทั้งในและต่างประเทศ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของโลกโดยรวมจะฟื้นขึ้นอย่างแน่นอน และเมื่อมองลึกลงไปในรายละเอียดพบว่า ธุรกิจการนำเข้าส่งออก หรือการค้าระหว่างประเทศ เป็นธุรกิจที่น่าสนใจมาก เนื่องจากการบริโภคเริ่มกลับมาใกล้เคียงเดิม และการขนส่งสินค้าเริ่มกลับมาเป็นปกติแล้ว (แม้ว่าค่าเรือจะยังแพงอยู่)
สำหรับประเทศไทย เรามีปัจจัยบวกที่ทำให้การนำเข้าส่งออกน่าจะเฟื่องฟูในปี 2565 นี้ ด้วยเหตุผลดังนี้
- การกลับมาของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าของไทย
ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ยุโรป เริ่มกลับมาดีขึ้น แม้กระทั่งในเอเชียอย่างจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ก็เริ่มกลับมาค้าขายมากขึ้น และแน่นอนว่าการนำเข้าส่งออกสินค้าหรือการค้ากับไทยก็จะกลับมาดีขึ้นนั่นเอง
- การกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
แม้ว่าสองปีที่ผ่านมาประเทศไทยต้องทำงบประมาณขาดดุลมากกว่าทุกปี เพื่อบรรเท่าปัญหาเศรษฐกิจระยะสั้น แต่ในปี 2565 นี้ เชื่อว่าภาครัฐต้องลงทุนขนาดใหญ่อีกครั้ง เพื่อต่อยอดการกระตุ้นเศรษฐกิจออกไป ถ้าให้เปรียบเทียบกับการรักษาคน ก็เหมือนประเทศไทยยังกินยาไม่ครบขนาน มียารักษาแล้วก็ต้องมียาบำรุงต่อให้หายขาดต่อไป
- การเข้าร่วม RCEP เริ่มขึ้นแล้ว
ประเทศไทยได้เข้าร่วมกับประเทศในอาเซียนอีก 9 ประเทศ และประเทศสมาชิกอีก 5 ประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รวมทั้งหมด 15 ประเทศ เพื่อรวมกันจัดตั้งความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565
การเข้าร่วมนี้มีหลักการคล้ายๆ กับ AEC ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจก็มีการแข่งขันกันมากขึ้น รวมถึงมีโอกาสทางการค้ามากขึ้นนั่นเอง
ตามความเห็นของข้าพเจ้า ในอดีตก่อนประเทศไทยจะเข้าร่วมความตกลงหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ได้พิจารณาถี่ถ้วนถึงผลดีผลเสียแล้ว (แม้บางคนจะบอกว่าช้า) หากมีผลกระทบด้านบวกมากกว่าลบ ก็จะยินดีเข้าร่วมทันที ซึ่งครั้งนี้ก็เช่นกัน หากเราดูว่ามีคู่แข่งมากขึ้น ก็ต้องดูว่าอีก 5 ประเทศที่เข้ามานั้น ขายสินค้าแบบเดียวกับเราหรือเปล่า หากใช่ก็เป็นอุปสรรค หากไม่ใช่ก็เป็นโอกาส เพราะธุรกิจของเราจะมีลูกค้าเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว เนื่องจากประชากรรวมๆ ของทั้ง 15 ประเทศ มีสัดส่วนประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรโลกเลยทีเดียว (ประมาณ 2,300 ล้านคน เทียบกับประชากรโลก 7,900 ล้านคน)
- การตกลงทางการค้าของไทย กับอีก 5 กลุ่มการค้า
นอกจาก RCEP ที่ได้เริ่มขึ้นแล้ว ประเทศไทยยังอยู่ในขั้นตอนการเจราจาข้อตกลงการค้าเสรีกับอีก 5 กลุ่มประเทศได้แก่ 1) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) 2) ไทยกับสหภาพยุโรป (EU) 3) ไทยกับสหราชอาณาจักร (UK) 4) ไทยกับสมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) และ 5) ไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (EAEU) ซึ่งหากมีการเข้าร่วมแล้ว จะต้องศึกษาในรายละเอียดว่ามีผลดีผลเสียอย่างไร
- การเปิดรับนักท่องเที่ยวของไทย
จากโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ รวมถึงหลายๆ จังหวัดที่ทยอยดึงดูดนักท่องเที่ยว พบว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งแปลว่าประเทศไทยไม่ได้หายไปจากใจนักท่องเที่ยวต่างชาติ แค่มาไม่ได้ชั่วคราว (เหมือนคนไทยคิดถึงการไปเที่ยวต่างประเทศ) ซึ่งจากการเข้าร่วมสัมมนากับหลากหลายผู้ประกอบการการท่องเที่ยว พบว่าการหยุดไป 2 ปี เป็นการเตรียมความพร้อมและปรับปรุงมาตรฐานการบริการของไทยให้ดีขึ้นด้วย และแน่นอนว่าภาพการท่องเที่ยวในยุคใหม่ จะไม่เป็นเหมือนเดิมแน่นอน ประเทศไทย จะเริ่มรับนักท่องเที่ยวโดยเน้นคุณภาพของนักท่องเที่ยวมากขึ้น เน้นปริมาณการใช้จ่ายต่อหัวมากกว่าเน้นจำนวนคนที่ปริมาณการใช้จ่ายน้อยลงนั่นเอง ซึ่งทำให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวต้องปรับตัวอย่างมาก
การท่องเที่ยวนี้หากใช้สถานการณ์ของประเทศไทย มองสถานการณ์โลก เราจะมองได้ว่าการท่องเที่ยวของประเทศอื่นๆ ก็ฟื้นตัวเช่นกัน ดังนั้น ธุรกิจที่ขายสินค้าส่งออกไปยังประเทศท่องเที่ยว เช่น ของที่ระลึก สปา โรงแรม อาหาร ก็จะกลับมาฟื้นตัวได้อีกเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบที่จะทำให้การนำเข้าส่งออก ยังไม่ฟื้นตัวมีดังนี้
- สถานการณ์โควิดระลอกใหม่
ในปัจจุบัน วัคซีนที่มีให้จะเป็นการสร้างขึ้นมาเพื่อตอบรับการสายพันธุ์เดิมที่มีการแพร่กระจายอยู่ โดยสายพันธุ์ใหม่อย่าง Omicron (ในขณะที่เขียนนี้) ยังต้องมีการปรับปรุงคุณภาพหรือการฉีดวัคซีนเพิ่มเติมต่อไป หากมีสายพันธุ์ใหม่เข้ามาอีก ก็ต้องรอดูว่าจะแก้ปัญหากันได้อีกหรือไม่
- ภาวะเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยน
เป็นข่าวดังในไม่กี่เดือนมานี้ว่าเงินเฟ้อของหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ มีสูงขึ้นมาก เนื่องจากราคาอาหารและพลังงานพุ่งสูงขึ้นในรอบหลายปี และผลกระทบจากการเกิดเงินเฟ้อนี้คือ 1) สหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ย ทั้งเงินกู้และเงินฝาก ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว 2) ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐจะอ่อนลง ทำให้ค่าเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นสวนทางกัน และทำให้การส่งออกทำได้ยากขึ้น
- ค่าขนส่งทางเรือ
ถือว่าเป็นปัจจัยหลักสำหรับสองปีที่ผ่านมา ที่ค่าขนส่งเรือพุ่งสูงขึ้นมาก บางครั้ง แพงกว่าส่งไปทางเครื่องบินเสียอีก เกิดจากปัจจัยตู้คอนเทนเนอร์ไม่เพียงพอ หากยังไม่ลงก็จะกลายเป็นปัจจัยลบได้เช่นกันทั้งขานำเข้าและส่งออก
- การเกิดสงครามเย็นระลอกใหม่ระหว่างสหรัฐกับจีน
ปัจจัยที่ร้อนแรงที่สุดในช่วงนี้คือ การขัดแย้งกันระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งเริ่มเปิดหน้าแลกกันแล้วว่า จะเป็นศัตรูกัน ไม่เป็นมิตรกัน เราจะสังเกตได้จากการที่ทั้งสองฝ่ายออกมากล่าวหาซึ่งกันและกัน ในประเด็นที่เป็นมุมมองของอีกฝ่าย (ซึ่งอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ เพราะเป็นแค่มุมมอง) เช่น สหรัฐกล่าวหาจีนว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนในมณฑลซินเจียง และจะแบนสินค้าที่มาจากมณฑลนี้ และจีนก็กล่าวหาสหรัฐว่าก้าวก่ายเรื่องภายในของหลายๆ ประเทศ รวมถึงเรื่องของจีนกับไต้หวันด้วย
ซึ่งการขัดแย้งนี้ทำให้ทั้งจีนและสหรัฐเริ่มลดการพึ่งพาซึ่งกันและกัน โดยที่เห็นได้ชัดที่สุดคือเรื่องโลกดิจิตอล เช่น กรณี Huawei (จีน) จะไม่ได้ใช้ระบบ Android ของ Google (สหรัฐ) หรือ รัฐบาลสหรัฐพยายามจะให้ Apple ย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ซึ่งนับจากนี้ไป โลกจะแบ่งเป็นสองค่ายอย่างชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เราจะได้พบกับผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มาจากทั้งจีนและสหรัฐ ที่แข่งกันอย่างดุเดือดมาก
สำหรับไทย การขัดแย้งของ 2 ประเทศนี้ การนำเข้าส่งออกจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน แต่ก็ต้องดูว่าเราได้หรือเสียประโยชน์ เพราะไทยไม่เคยมีนโยบายเข้าข้างใครเป็นพิเศษ การวางตัวให้ดี เหนือความขัดแย้งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยทำมาตลอด และทำได้ดี ต้องดูว่าเราจะเดินอย่างไรต่อไป
ทุกๆ ปี จะมีทั้งปัจจัยบวกและลบ ขึ้นอยู่กับว่าเราทำธุรกิจไหน ได้รับผลกระทบอย่างไร หากใครเห็นโอกาสก็รีบคว้าไว้ หากใครยังเจอแต่อุปสรรค ก็ขอให้ผ่านไปได้ด้วยดีตลอดปี ขอให้ทุกคนโชคดีตลอดปีนี้ครับ
แหล่งข้อมูล
https://www.worldometers.info/world-population/
https://www.thairath.co.th/news/foreign/2278362
https://www.thansettakij.com/economy/502697