GDP คืออะไร สำคัญต่อเศรษฐกิจยังไง

GDP คืออะไร

หากเราเคยฟังข่าวจะได้ยินคำว่าเศรษฐกิจของประเทศเติบโตมากขึ้น หรือโตน้อยลง และก็คงได้ยินคำว่า GDP มาคู่กันกับข่าวเศรษฐกิจแบบนี้ เรารู้กันแน่ๆ แหละว่า GDP ต้องเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศ แต่น้อยคนนักที่จะรู้ความหมายจริงๆ ของคำว่า GDP ว่ามันคืออะไร แล้วมันสำคัญยังไงกับเศรษฐกิจของเรา วันนี้เรามาเข้าใจคำว่า GDP กันครับ แต่ก่อนจะเข้าใจคำว่า GDP ให้เราเข้าใจคำว่าเศรษฐกิจกันก่อนครับ

เศรษฐกิจคืออะไร

เศรษฐกิจคือการเกิดกิจกรรมทางธุรกิจได้แก่ การผลิต การบริโภค และการจำหน่าย และทั้งสามกิจกรรมนี้ทำให้เกิดรายได้ของประชากร หากเราอยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำมาหากิน เราก็ไม่มีรายได้ ก็ไม่ได้สร้างเศรษฐกิจ แต่หากเราทำงานหรือประกอบอาชีพ เรามีรายได้ เราก็คือผู้สร้างเศรษฐกิจ

คำว่าเศรษฐกิจดีก็หมายถึงมีการผลิต บริโภค บริการ และจัดจำหน่ายมากขึ้น เมื่อมากขึ้นทุกคนก็มีเงินมาจับจ่ายใช้สอยแล้วนำเงินที่ได้ไปต่อยอดมากขึ้นอีก เมื่อมีการผลิตก็มีการจ้างงานเพิ่ม เมื่อมีรายได้เพิ่ม ประชาชนก็จับจ่ายใช้สอยเพิ่ม เมื่อมีคนซื้อของเยอะขึ้น ผู้ผลิตก็ผลิตของมากขึ้น วนกันไปอย่างนี้

ส่วนคำว่าเศรษฐกิจไม่ดีคือ คนเริ่มใช้จ่ายน้อยลง ของที่ขายก็ขายยากขึ้น เมื่อของขายยาก ก็ลดกำลังการผลิต เมื่อลดกำลังการผลิตก็ลดกำลังการจ้างงาน เมื่อลดการจ้างงาน รายได้ผู้บริโภคก็น้อยลง พอรายได้น้อยลงก็ใช้จ่ายน้อยลง วนกันไปแบบนี้เช่นกัน

ฉะนั้น ยิ่งประเทศ เมือง รัฐไหนมีเศรษฐกิจดี แปลว่ากิจกรรมเหล่านี้มาก และสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

GDP คืออะไร ย่อมาจากอะไร

GDP ย่อมาจากคำว่า Gross Domestic Products แปลเป็นไทยตรงตัวว่า ผลผลิตมวลรวมของประเทศ แปลเป็นภาษาชาวบ้านว่าขนาดเศรษฐกิจ โดยหลักการ GDP ก็คือตัวบอกขนาดเศรษฐกิจ โดยมีหลักการในการรวมกิจกรรมบางอย่างเพื่อสร้างมูลค่านั่นเอง

ส่วนอีกคำนึงที่ได้ยินกันบ่อยๆ ก็คือ GDP Growth หรืออัตราการเติบโต ซึ่งจะวัดกันเป็นเปอร์เซ็นต์เทียบกับปีที่แล้ว เช่น ในปี 2562 ประเทศไทยมี GDP 544,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับปีก่อน 543,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แปลว่ามีอัตราการเติบโต (GDP Growth) เพิ่มขึ้นประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมานั่นเอง

 

GDP มีประโยชน์ยังไง

สมมติว่าเราจะส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ เราจะดูว่าประเทศไหนมีคนซื้อเยอะๆ บ้าง เราคงดูจากจำนวนประชากร เช่น จีน อินเดีย รัสเซีย มีประชากรมากสุดในโลก แต่เมื่อดูรายละเอียดปรากฏว่าประชากรในบางประเทศแม้จะมีจำนวนเยอะ แต่ไม่ได้มีเงินเยอะ ฉะนั้น ผู้ส่งออกหรือนักลงทุนก็จะต้องดูตัวเลขทางเศรษฐกิจประกอบกัน ซึ่งก็คือแต่ละประเทศนั้นมีศักยภาพในการหาเงิน หรือทำเงิน หรือสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่ง GDP ก็เป็นปัจจัยที่ตอบโจทย์สิ่งเหล่านี้

นอกจากนั้น จะมีการดูศักยภาพของแต่ละบุคคลด้วย เช่น ในบางประเทศที่ประชากรเยอะๆ ไม่ได้แปลว่ามีขนาดเศรษฐกิจเยอะ (ประชากรยังจนอยู่) รายได้เฉลี่ยนต่อคนอาจจะน้อยกว่าในบางประเทศที่มีประชากรน้อยก็ได้

ในบางครั้งแต่ละประเทศอยากจะรู้ว่าควรไปลงทุนประเทศไหนดี ก็จะดูจากมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในทางเศรษฐศาสตร์และการลงทุน นักลงทุนก็ยังดู GDP Growth Rate ด้วยว่ามีอัตราการเติบโตในแต่ละประเทศมากน้อยแค่ไหน หากที่ไหนเติบโตมากๆ แปลว่าเงินที่ลงทุนไปก็มีแนวโน้มจะได้ผลตอบแทนกลับคืนมามากนั่นเอง

 

GDP มีขอบเขตอะไรบ้าง

GDP จะนับเฉพาะมูลค่าที่เกิดขึ้นในอาณาเขตของประเทศเท่านั้น โดยไม่สนใจว่าคนที่ทำให้เกิดเศรษฐกิจจะมาจากประเทศไหน ยกตัวอย่าง GDP ของไทย แปลว่า เราจะนับกิจกรรมทุกอย่างที่สร้างมูลค่าขึ้นในประเทศไทย เช่น คนไทยทำงานได้เงินเดือน คนจีนมาค้าขายหากำไรในเมืองไทย อินเดียมาขายผ้าในเมืองไทย แบบนี้นับเป็น GDP ของประเทศไทยหมด เพราะมูลค่าเพิ่มมันเกิดขึ้นในเมืองไทยนั่นเอง

 

GNP คืออะไร

ในทางกลับกัน เราคงสงสัยว่าถ้ามีคนไทยไปทำงานต่างประเทศ แล้วได้เงินเดือน เราจะไม่นับเป็น GDP เหรอ

คำตอบคือไม่นับว่าเป็น GDP แต่จะนับอีกชื่อนึงแทน ชื่อว่า GNP (Gross National Products)

แปลเป็นไทยง่ายๆ ว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจที่คนไทยสร้างได้ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งสูตรก็จะไม่ซับซ้อนมาก คือการนำรายได้ที่คนไทยนำกลับมาจากต่างประเทศ เช่น การขายแรงงาน ลงทุนต่างประเทศ ฯลฯ มาบวกกับ GDP ประเทศไทยนั่นเอง

เราอาจจะมีคำถามว่าการที่คนไทยไปหารายได้ในต่างประเทศ เป็นการสร้าง GDP ในประเทศนั้นๆ เพราะการใช้จ่ายที่ประเทศนั้นๆ ก็เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศนั้นๆ ใช่หรือไม่ คำตอบคือใช่ครับ เพราะมันเป็นมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศนั้นไง

ในแง่การลงทุน นักลงทุนมักสนใจการลงทุนในแต่ละประเทศมากกว่า และนี่เป็นสาเหตุว่าทำไม แต่ละประเทศที่อยากให้ GDP เติบโตสูงๆ จึงอยากให้ชาวต่างชาติมาลงทุน และแน่นอน เมื่อมาลงทุน นักลงทุนก็ต้องหวังผลตอบแทน แต่ในขณะเดียวกัน หากไม่มีใครมาลงทุนเลย อาจทำให้เศรษฐกิจฝืดเคืองก็ได้ ฉะนั้นการลงทุนจากต่างชาติ หากไม่เป็นการเอาเปรียบกันเกินไป ก็ถือว่าเป็นการสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศได้อย่างนึงครับ

GDP นับจากอะไรบ้าง

 

GDP จะนับสิ่งที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้ประเทศนั้นๆ แบบนี้เรียกว่า GDP ก่อนจะรู้ว่า GDP นับอะไรบ้าง ให้เข้าใจคำว่าการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจก่อน

ความหมายของคำว่ามูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจคือการสร้างมูลค่าเพิ่มของคนในพื้นที่นั้นๆ โดยมูลค่าเพิ่มนี้เกิดได้ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และรวมถึงภาครัฐด้วย

ยกตัวอย่างเช่น เราเป็นพ่อค้าคนกลาง ซื้อของมาจากโรงงานด้วยต้นทุน 10 บาท นำไปขายต่อ 15 บาท แปลว่าเราสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ทั้งหมด 5 บาท และแน่นอนว่า 5 บาทไม่ได้ได้มาโดยไม่มีอะไรเลย เราจะต้องลงมือลงแรง ประชาสัมพันธ์หาลูกค้า ทำโฆษณา เดินเข้าหาลูกค้า เสนอขาย หรืออะไรก็ตามที่ให้ได้เงิน 5 บาทนั้นมา แบบนี้คือมูลค่าเพิ่มเศรษฐกิจ

อีกตัวอย่างนึง สมมติว่าเราเป็นคนทำงานออฟฟิศ สิ้นเดือนได้รับเงินเดือน รายได้ที่เราได้มาก็นับเป็นมูลค่าเพิ่ม เพราะเราต้องใช้แรงงาน มันสมอง รวมถึงเวลาในการสร้างรายได้เหล่านั้น

เราเป็นนักลงทุน มีเงินก้อนอยู่เอามาลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในตลาดหุ้น ฝากธนาคาร แล้วได้ผลตอบแทนมาในรูปปันผล แบบนี้ก็นับด้วยเช่นกัน

อะไรที่ไม่ใช่เศรษฐกิจ คือสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ยกตัวอย่าง เช่น การพนัน ลองนึกภาพว่ามีคน 4 คน เอาเงินมาคนละ 1,000 บาท รวม 4 คนมีเงินทั้งสิ้น 4,000 บาท ทั้ง 4 คน ปิดห้องไม่ต้องไปไหน เล่นพนันกันข้ามวันข้ามคืน พอถึงเวลาแยกย้าย จบเกม ไม่รู้ว่าใครได้เงินมากน้อยเท่าไหร่ แต่รวมเงินกันแล้ว มีเงินทั้งหมด 4,000 บาทเท่าเดิม แบบนี้ไม่นับเป็นเศรษฐกิจ เพราะมันไม่เพิ่มมูลค่าอะไรเลย (นี่ยกตัวอย่างนะครับ ไม่ได้ส่งเสริมให้เล่น เพราะไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่ม)

หมายเหตุ หวยใต้ดิน ตู้ม้า ก็ถือว่าไม่สร้างเศรษฐกิจ ไม่สร้างมูลค่าเพิ่ม เช่นเดียวกันครับ แต่หวยรัฐบาลยกเว้นนะ เพราะคนจ่ายเงินให้รัฐเหมือนเป็นรายได้รัฐ หรือภาษีอีกแบบหนึ่ง เอาไปพัฒนาประเทศได้ แบบนี้นับครับ

ฉะนั้นประเทศไหนก็ตามที่มีนักพนันเยอะๆ ทุกคนมีรายได้จากการพนัน ไม่ได้แปลว่าประเทศนั้นจะมีเศรษฐกิจดีนะครับ แค่ประชาชนมีเงินมาใช้จ่ายเท่านั้นเอง

ฉะนั้นเราพอจะสรุปได้ว่าการนับมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ จะช่วยให้ GDP มีมากขึ้นนั่นเอง

มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจนี้จะรวมหลายๆ ปัจจัยได้แก่

  • Compensation of Employees ค่าตอบแทนแรงงาน รวมค่าจ้าง ค่าแรง เงินเดือนที่ประชาชนทั่วไปหามาได้
  • Rental Income รายได้จากค่าเช่าทรัพย์สิน เช่น อสังหา รถยนต์ อื่นๆ
  • Net Interest ดอกเบี้ยเงินฝาก หักด้วยดอกเบี้ยจากหนี้สาธารณะ
  • Corporate Profit กำไรจากการดำเนินงานของบริษัทเอกชน
  • Proprietor’s Income กำไรจากเจ้าของกิจการ
  • Government Income รายได้ของรัฐบาล ซึ่งก็คือภาษีนั่นเอง

มูลค่าทางเศรษฐกิจสามารถนับที่การใช้จ่ายก็ได้

นอกจากการนับมูลค่าเพิ่มแล้ว GDP ยังนับมูลค่าการใช้จ่ายได้อีกทาง ลองนึกภาพ หากเราไปซื้อข้าวจานละ 50 บาท เงินจำนวนนี้คือรายได้ของแม่ค้า เรานับเป็น GDP ได้ ในทางกลับกัน รายได้ของแม่ค้าคือรายจ่ายของเรานั่นเอง ฉะนั้น เราสามารถเลือกได้ว่าจะนับรายได้หรือรายจ่ายของเราในการคำนวณมูลค่าเศรษฐกิจ

การนับรายจ่ายในการคำนวณ GDP(เรียกว่า Expense Approach)

สูตรการนับ GDP ด้านรายจ่ายคือ

 

GDP = C + I + G + (X-M)

 

เรามาทำความเข้าใจกันทีละตัวครับ

C (Consumption) การบริโภคภาคประชาขน

อันนี้ตรงไปตรงมา คือเมื่อคนทั่วไปซื้อของ มันก็เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้วนั่นเอง ฉะนั้นยิ่งมีการซื้อของเยอะๆ ผู้ขายก็ได้เงินเยอะ นำไปหมุนเวียน จ้างคน ซื้อของ ผลิต เยอะขึ้น คนที่ได้เงินจากส่วนนั้นก็ไปทำต่อกันเป็นทอดๆ เศรษฐกิจก็ดีขึ้นอีกนั่นเอง

ฉะนั้น รัฐบาลทุกที่ก็พยายามกระตุ้นให้ประชาชนมีการใช้จ่าย จึงทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินและเศรษฐกิจนั่นเอง โครงการตัวอย่างได้แก่ คนละครึ่ง เช็คช่วยชาติ รถคันแรก พอมีโครงการเหล่านี้ ประชาชนก็ถูกกระตุ้นให้ใช้จ่ายมากขึ้นนั่นเอง

การท่องเที่ยวก็ถือเป็นการกระตุ้นการบริโภคเช่นกัน คนจีนมาเที่ยวเมืองไทยเยอะๆ พ่อค้าแม่ค้าก็ขายของได้เยอะ ขายน้ำมะพร้าว ขายทุเรียน ฯลฯ ก็มีเงินไปจับจ่ายใช้สอยเช่นกัน

 

I (Investment) การลงทุนภาคเอกชน

ถ้าเราเคยได้ยินโครงการส่งเสริมการลงทุนทั้งหลาย เช่น BOI, EEC หรืออื่นๆ ที่ให้ต่างชาติมาลงทุน แต่ยกเว้นภาษี อาจจะทำให้เรารู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้น ถึงแม้รัฐจะให้เว้นภาษี แต่ข้อดีคือเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจของไทย ลองนึกเล่นๆ บริษัทเค้ามาเปิดกิจการในไทยก็ต้องจ้างคนไทยเป็นแรงงาน เช่าคอนโดคนไทย เช่าพื้นที่ของคนไทยตั้งโรงงาน หิวข้าวก็ต้องกินข้าวคนไทยทำ ฯลฯ นี่คือผลประโยชน์ทางอ้อมที่เราจะได้รับ

มองแบบใกล้ตัว การลงทุนภาคเอกชนยังรวมถึงการเริ่มทำธุรกิจง่ายๆ แบบ SMEs เช่นเราจะเปิดร้านชาบูหมูกระทะ เอาเงินมาลงทุน ต้องเอาทุนนั้นไปทำอะไรบ้าง เช่น ซื้อกระทะ ซื้อเนื้อหมู วัตถุดิบ เอาเงินไปจ่ายค่าเช่า จ้างพนักงาน ฯลฯ สิ่งเหล่านื้จะเป็นรายได้ให้ธุรกิจอื่นๆ ไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกเช่นกัน

 

G (Government Spending) การใช้จ่ายภาครัฐ

รายได้ของรัฐคือภาษีที่เก็บจากประชาชน ภาษีนี้เก็บไปเพื่อพัฒนาประเทศ ฉะนั้นการใช้จ่ายภาครัฐส่วนหนึ่งก็เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เงินที่เราเห็นเป็นรูปเป็นร่างได้แก่ เงินที่นำมาสร้างถนนหนทาง รถไฟฟ้า ทางหลวงต่างๆ ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน และอื่นๆ เมื่อรัฐลงทุนสร้างสิ่งเหล่านี้ ก็จะมีการจ้างงาน การจ้างบริษัทรับเหมาทำ ทำให้เอกชนมีรายได้และนำไปจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขนาดทางเศรษฐกิจอีกนั่นเอง

 

X – M (Export – Import) ดุลการค้า (ส่งออก – นำเข้า)

ดุลการค้าก็คือผลต่างการส่งออกลบด้วยการนำเข้า ถ้าประเทศไหนมีรายได้จากการส่งออกมากกว่านำเข้า (เรียกว่าเกินดุล) เงินรายได้นี้ก็จะไปเพิ่มเป็นจำนวน GDP ของประเทศนั้นๆ ในทางกลับกันหากส่งออกน้อยกว่านำเข้า (ขาดดุลการค้า) ก็จะไปหักออกจาก GDP ที่ทำได้ในประเทศของตัวเอง

ซึ่งไม่แปลกใจว่าทุกประเทศอยากให้ตัวเองเกินดุลการค้าทั้งนั้น แต่ในความเป็นจริงก็มีหลายๆ ประเทศต้องนำเข้ามากกว่าส่งออก เนื่องจากไม่สามารถผลิตสินค้าบางอย่างได้ หรือแพงกว่าการนำเข้าเอง

เราจะเห็นได้ว่าการทำธุรกิจส่งออก เป็นอีกแรงผลักดันที่ทำให้ประเทศไทยมีขนาดเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และทำให้ประเทศเราเจริญก้าวหน้า ฉะนั้น หากท่านใดสนใจจะเริ่มต้นธุรกิจส่งออก สามารถติดต่อมาได้ที่สถาบันของเราได้ครับ

 

ที่มาข้อมูล

https://th.wikipedia.org/

https://tradingeconomics.com/thailand/gdp

https://www.finnomena.com/getwealthsoon/what-is-gdp/

http://fuangfah.econ.cmu.ac.th/teacher/woraluck/econ100/Sheet/5_National%20Income.pdf

 

 

 

 

 

 

 

 

Leave a Comment