ผมเชื่อว่าถ้าให้คนไทยส่วนใหญ่นึกรายชื่อประเทศทั่วโลก น่าจะนึกกันได้ไม่เกิน 40 ประเทศ จากทั้งหมด 200 ประเทศ เมื่อก่อนผมก็เป็นหนึ่งในนั้น และนี่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เรานึกตลาดออกไม่กี่ประเทศ และเป็นประเทศใหญ่ๆ เช่น จีน อเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย รัสเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี เป็นต้น และเราจะไม่ได้นึกบางประเทศ เช่น โอมาน ไอเวอรี่โคสต์ ชิลี โปแลนด์ หรือแม้แต่บ้านใกล้ๆ เราอย่าง บรูไน เป็นต้น
แต่ท่านไม่ต้องกังวลไปครับ ผมมีวิธีทำให้เราจำและเข้าใจประเทศต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ผมได้แบ่งภูมิภาคของประเทศบนโลกนี้มาให้ดูกัน ทั้งหมดมี 10 ภูมิภาค เราไปดูกันเลยนะครับ
อาเซียน (ASEAN)
เริ่มกันที่เขตของไทยเราก่อนเลย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบไปด้วยทั้งหมด 10 ประเทศ ประกอบไปด้วย ไทย เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน และฟิลิปปินส์ (ยังมีอีก 1 ประเทศคือ ติมอร์เลสเต้ ขอยังไม่นับนะครับ เพราะยังไม่ได้ค้าขายกันแบบเป็นเรื่องเป็นราว)
สมาชิก 10 ประเทศนี้ รวมตัวกันทางเศรษฐกิจ เรียกว่า AEC (ASEAN Economic Community) โดยมีสนธิสัญญการค้าระหว่างกันคือ ภาษีนำเข้าและส่งออกระหว่างกันเป็นศูนย์ เกือบทุกรายการ เพื่อให้มีการค้าระหว่างกันมากขึ้น แต่กฏระเบียบมาตรฐานสินค้ายังคงไว้ของใครของมัน
ตลาด AEC ไม่ใหญ่มากมายหรอกครับ มีแค่ประมาณ 667 ล้านคนเอง ในขณะที่ประชากรโลกมีประมาณ 7,700 ล้านคน ในปี 2020 (ดูอัพเดทประชากรปัจจุบัน) ก็ประมาณเกือบๆ 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก และอยู่ในช่วงวัยกำลังเติบโต ทุกคนกำลังทำงานหาเงิน กล้ากินกล้าใช้ ประกอบกับเศรษฐกิจกำลังโต เพราะเพิ่งขยายเมือง สร้างเมือง ภูมิภาคนี้จึงเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกนั่นเอง
จีนและฮ่องกง (China & Hong Kong)
ภูมิภาคที่สองคือจีน (รวมถึงฮ่องกงด้วย) จะบอกว่าจีนเป็นผู้นำเศรษฐกิจของโลกในยุคนี้ก็เรียกได้นะครับ เพราะว่าประชากร 1,400 ล้านคน ในปี 2020 ประมาณ 1 ใน 5 ของโลก กำลังเติบโต ขยายเมืองไปได้แค่ครึ่งประเทศ ประชากรขยันขันแข็งๆ สุด ร่ำรวยขึ้นเรื่อยๆ กล้ากินกล้าใช้ ขวนขวายหาสิ่งต่างๆ มาสนองความต้องการไม่มีสิ้นสุด แข่งกันรวย แข่งกันทำมาหากิน คงไม่แปลกที่ประเทศจีนจะได้รับความสนใจจากนักธุรกิจทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ไทยเรา หากสินค้าของเราฮิตขึ้นมา มันจะขนาดไหนกัน
เอเชียตะวันออกและโอเชียเนีย (East Asia & Oceania)
ประเทศเอเชียที่อยู่ฝั่งตะวันออก มหาสมุทรแปซิฟิค (จะเรียกว่าเอเชียแปซิฟิคก็ได้) เป็นประเทศที่อยู่อย่างอิสระ ไม่ขึ้นตรงกับใคร และที่สำคัญคือรวย ประชากรมีฐานะดี หรือไม่ก็ค่าครองชีพสูงกว่าที่อื่นๆ ประเทศเหล่านี้ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
ธรรมชาติของประเทศเหล่านี้ คือมีประชากรไม่มากเกินไป ญี่ปุ่น 126 ล้านคน เกาหลีใต้ 51 ล้านคน ไต้หวัน 23 ล้านคน ออสเตรเลีย 25 ล้านคน และนิวซีแลนด์ เกือบๆ 5 ล้านคน รวมแล้ว 225 ล้านคน ประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก แต่ถึงแม้จำนวนประชากรจะไม่เยอะ แต่ว่ามีฐานะดี การเงินมั่นคง ประชากรมีกำลังซื้อสูง และมักจะมีความต้องการสินค้าคุณภาพดี เราจะสังเกตว่าบางครั้ง มาตรฐานสินค้าของญี่ปุ่นจะสูงกว่าของยุโรปด้วยซ้ำ ซึ่งทำให้การส่งออกสินค้าไปยังประเทศเหล่านี้ต้องพิถีพิถันในเรื่องคุณภาพมากที่สุด ถือว่าเป็นด่านยากของสินค้าไทยเช่นกัน
เอเชียใต้ (South Asia)
เอเชียใต้หรือชมพูทวีปที่คนไทยนิยมเรียกกันนั้น มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เราจะรู้สึกได้ว่าโซนนี้ประชากรมีความแออัดสูงมาก เพราะแต่ละประเทศมีประชากรมากมายมหาศาล เช่น อินเดียมีประมาณ 1,300 ล้านคน (คาดว่าจะแซงจีนในไม่กี่ปีนี้ เพราะไม่ได้ถือเรื่องการคุมกำเนิดเป็นเรื่องสำคัญ) ปากีสถาน 220 ล้านคน บังคลาเทศ 164 ล้านคน เนปาล ศรีลังกา ภูฐานและมัลดีฟส์ รวมแล้วอีกประมาณ 60 ล้านคน รวมๆ แล้วโซนนี้ก็มีประมาณ 1,700 ล้านคน มีประชากร 1 ใน 5 ของโลก พอๆ กับในจีน
ประเทศกลุ่มนี้มีความหลากหลายทั้งทางชนชั้น และฐานะ เราจะเจอคนจนมากๆ และรวยสุดๆ ในประเทศเดียวกัน ฉะนั้นการเข้าไปทำตลาดในประเทศเหล่านี้อาจจะต้องเลือกว่าจะไปขายระดับบนเลย หรือระดับล่างเลย การไปขายระดับกลางอาจจะต้องทำการบ้านเพิ่มขึ้นไปอีก แต่ว่ากลุ่มประเทศเหล่านี้ก็มีศักยภาพมากนะครับ ไม่อยากให้ละสายตาเลย
ตะวันออกกลาง (East Asia)
เป็นกลุ่มประเทศอาหรับเปอร์เซีย และยิวนั่นเอง ประกอบไปด้วย ซาอุดิอาระเบีย อิรัก อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (เมืองดูไบอยู่ที่นี่) อัฟกานิสถาน โอมาน เยเมน คูเวต กาตาร์ บาห์เรน ซีเรีย จอร์แดน อิสราเอล ปาเลสไตน์ ตุรกีและไซปรัส
เราจะสังเกตได้ว่ามีความหลากหลายทางศาสนาและชนเผ่าอย่างเห็นได้ชัด เช่น มีทั้งชาวอาหรับ เปอร์เซีย เติร์กและชาวยิว ศาสนาอิสลามและคริสต์ ยังไม่นับการแยกย่อยระหว่างแต่ละนิกายอีก ซึ่งความหลากหลายนี้ทำให้วัฒนธรรม ความเชื่อต่างกัน สินค้าที่บริโภคก็ต่างกัน เราจะสังเกตว่าเราสามารถขายสินค้าได้หลากหลายมาในภูมิภาคนี้
แหล่งรายได้หลักของชาวตะวันออกกลางคือน้ำมัน และการท่องเที่ยว บางประเทศเจาะน้ำมันเพื่อขาย (เช่น สมาชิกกลุ่มโอเปค) และบางประเทศก็นำเงินที่ได้จากน้ำมันมาลงทุนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทำให้การท่องเที่ยวเฟื่องฟู โรงแรม ร้านอาหารสปา ก็ผุดขึ้นมากมาย และนี่คือโอกาสของธุรกิจไทย
รัสเซียและซีไอเอส (Russia & CIS)
ประเทศรัสเซียและอดีตประเทศในเครือโซเวียต เป็นประเทศเมืองหนาว ที่น่าสนใจมาก เพราะประเทศเหล่านี้มีธุรกิจพลังงานที่ใหญ่ระดับต้นๆ ของโลก มีน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เยอะมาก รวมถึงธุรกิจอาวุธยุทโธปกรณ์ด้วย แต่สิ่งที่ประเทศเหล่านี้ต้องการคือ อาหาร เพราะเค้าเป็นเมืองหนาว จะผลิตอาหารเองไม่ค่อยได้ ต้องพึ่งพาอาหารจากหลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย นี่ก็เป็นโอกาสมหาศาลสำหรับสินค้าไทยเช่นกัน โดยเฉพาะธุรกิจอาหาร ได้รับความนิยมมาก
ประเทศที่น่าสนใจได้แก่ รัสเซีย มีประชากร 145 ล้านคน ยูเครน 43 ล้านคน คาซัคสถาน 18 ล้านคน และอุซเบกิสถาน 43 ล้านคน ประเทศเหล่านี้กำลังต้องการอาหารเป็นอย่างมากนะครับ
ยุโรป (Europe)
อาจจะต้องไม่ต้องอธิบายเยอะ เพราะคนไทยน่าจะรู้จักกันดี แต่ผมจะแบ่งออกเป็นสองกลุ่มตามขนาดเศรษฐกิจนะครับ
กลุ่มแรกคือประเทศเจริญแล้ว ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี สเปน เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม สวิตเซอร์แลนด์ กลุ่มสแกนดิเนเวีย เดนมาร์ก สวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ เป็นต้น กลุ่มประเทศเหล่านี้เป็นตัวตั้งตัวตีในการรวมกลุ่มกันที่เรียกว่าสหภาพยุโรป (European Union) ทำให้เศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งมากขึ้น (แม้ตอนนี้จะเริ่มไม่ค่อยดี)
กลุ่มที่สองคือประเทศกำลังพัฒนา ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ประเทศกลุ่มเหล่านี้ยังต้องการการพัฒนาประเทศอีกมาก เช่น ยุโรปตะวันออก โปแลนด์ บัลแกเรีย โรมาเนีย เซอร์เบีย โครเอเชีย จอร์เจีย และประเทศอดีตสหภาพโซเวียตอีกส่วนนะครับ กลุ่มนี้มีประชากรไม่เยอะมาก ค่าแรงไม่แพงด้วย ถ้าเราจะไปทำธุรกิจที่ยุโรป อาจจะไปตั้งฐานการผลิตที่ประเทศเหล่านี้แล้วส่งสินค้าไปยุโรป น่าจะลดความยุ่งยากไปได้หลายอย่าง สำหรับธุรกิจ SMEs ก็ยังมีโอกาสน่าสนใจในกลุ่มสินค้าอาหารและสปา
แอฟริกา (South Africa)
ทวีปเกิดใหม่ของโลก มีทรัพยากรล้นเหลือมาก ประชากร 1,300 ล้านคน พอๆ กับจีนและอินเดีย เป็นภูมิภาคความหวังใหม่ของโลกอีกที่นึง ประชากรของประเทศเหล่านี้ ส่วนใหญ่เพิ่งย้ายถิ่นฐานจากชนบทมาอยู่เมือง ยังขาดความรู้และเทคโนโลยีหลายๆ อย่าง เช่น การก่อสร้าง ยังใช้ดินมาทำเป็นบ้าน รวมถึงการเกษตรก็ยังไม่เจริญอีกเช่นกัน
หากเรานึกถึงตลาดแอฟริกา ให้นึกถึงประเทศไทยเมื่อ 40 ปีก่อน (ถ้าใครเกิดทัน) เรายังเคยนำเข้าสบู่ ผงซักฟอก เครื่องสำอาง จากต่างประเทศ เพราะเราผลิตเองไม่เป็น แอฟริกาก็เช่นกัน ยังไม่รู้จักวิธีการผลิตของเหล่านี้ ดังนั้นนี่ก็เป็นโอกาสมหาศาลของไทยเช่นกัน
อเมริกาเหนือ (North America)
ผมขอรวมไว้ 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก แต่ตลาดใหญ่ของไทยเราจะอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เพราะเคยเป็นตลาดอันดับหนึ่งในการส่งออกของไทย แต่เนื่องจากปัจจุบัน ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น ต้นทุนสินค้า กฎระเบียบ การกีดกัน รวมถึงความใกล้ชิดกันระหว่างประเทศ ทำให้ไทยกับสหรัฐอเมริกาเริ่มค้าขายกันน้อยลง อย่างไรก็ตามแม้จะน้อยลง แต่ก็เป็นอันดับต้นๆ อยู่เหมือนเดิม
สินค้าที่น่าสนใจสำหรับตลาดสหรัฐและแคนาดา ก็จะเป็นพวกของใช้ในบ้าน ของตกแต่ง รวมถึงอาหารบางชนิด โดยทั่วไปแล้วคนพื้นเมืองที่นั่น เช่น ยุโรป ละติน จะไม่บริโภคสินค้าจากไทย แต่เราต้องไม่ลืมว่าสหรัฐเป็นประเทศที่คนไทยไปอาศัยมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สินค้าที่เราไปขาย คือเอาไปขายลูกค้าคนไทย หรือชาวเอเชียในนั้น ซึ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจเช่นกัน
ละตินอเมริกา (Latin America)
เป็นประเทศตั้งแต่อเมริกากลาง เช่น คิวบา ลงไปถึงอเมริกาใต้ เช่น บราซิล อาร์เจนติน่า ชิลี เปรู อุรุกวัย เวเนซูเอล่า เป็นต้น ประเทศเหล่านี้รักความบันเทิง เราจะสังเกตว่าพวกเค้าชอบงานเทศกาลมากๆ (คาร์นิวัล) อารมณ์เหมือนคนไทย วันไหน ๆ พี่ไทยก็ฉลอง สินค้าที่สำคัญของเค้าคือสินค้าเกษตร องุ่น เนื้อวัว ไวน์ อาหารทะเล และอื่นๆ อีกมากมาย ที่จะเป็นวัตถุดิบอาหารของชาวตะวันตกมากกว่าเอเชีย ประกอบกับระยะทางห่างกันครึ่งโลก ระยะเวลาเดินทางนั่งเครื่องบินไปสองวัน ทำให้เราไม่ค่อยทำการค้าขายกับเค้ามากเท่าไหร่
อย่างไรก็ตามตลาดนี้ก็น่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน หากจับตลาดดีๆ และอย่าลืมเรามีสนธิสัญญาการค้าเสรี (FTA) กับเปรู และชิลีด้วย ทำให้สินค้าไทยส่งไปที่นั่นไม่เสียภาษี อันนี้น่าสนใจจริงๆ
จบไปแล้วสำหรับทั้ง 10 ภูมิภาค มีความน่าสนใจมากน้อยต่างกันไปนะครับ โดยส่วนตัว จะไปตลาดไหนแล้วแต่โอกาสและความถนัดของแต่ละท่านมากกว่าครับ