ผมขอเขียนเรื่องเกี่ยวกับ AEC และผลกระทบต่อ SME ของไทยบ้างนะครับ เข้าใจว่าผู้อ่านคงเคยฟังข้อมูลกันมามากแล้ว แต่ผมจะขอเขียนในมุมของ SME ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ไม่ต้องเป็นทางการมาก
ทำความรู้จัก AEC
AEC คืออะไร
AEC คือการรวมกลุ่มกันทางด้านเศรษฐกิจเฉพาะประเทศกลุ่มอาเซียน คล้ายๆ กับการจัดตั้งประชาคมยุโรปหรือยูโร ความร่วมมือนี้มีหลายด้าน แต่หลักๆ คือการค้าขายที่ภาษีนำเข้าส่งออกระหว่างกันจะเป็นศูนย์เกือบทุกรายการ ส่วนด้านวิชาชีพก็มีการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี เลิกบังคับให้คนเก่งๆ มีเวทีเฉพาะในประเทศ
AEC เกี่ยวข้องกับไทยอย่างไร
ประเทศกลุ่มอาเซียนแบ่งเป็นสองกลุ่มหลักๆ คือ 6 ประเทศอาเซ๊ยนเดิม ได้แก่ อินโดนีเซ๊ย มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์และไทย และกลุ่มประเทศอาเซียนน้องใหม่ (CLMV) ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์และเวียดนาม การเปิดประชาคมอาเซ๊ยนในปี 2015 นี้ จะเน้นหลักๆ ไปที่ กลุ่มหลังมากกว่า เนื่องจาก 6 ประเทศแรกนั้น มีการเปิดเสรีด้านการค้ากันมานานแล้ว (เช่นตอนนี้เราส่งสินค้าไปมาเลเซียไม่เสียภาษีนำเข้า) ส่วนกลุ่มหลังๆ นี้แม้จะเป็นประเทศเล็กๆ ที่เศรษฐกิจเพิ่งเริ่มและขนาดยังไม่ใหญ่มาก แต่กลับได้รับความสนใจมาก โดยเฉพาะจีน จากเหตุผลด้านชายแดนที่มีพื้นที่ติดกันอีกด้วย
ทำไม AEC จึงน่าสนใจและเป็นที่จับตาในกระแสโลก
เหตุผลแรกคือจำนวนประชากรที่มีประมาณ 600 ล้านคน จากประชากรทั้งโลก 6 พันล้านคน คือเป็นหนึ่งในสิบของประชากรทั่วโลก บวกกับเกือบทั้ง 10 ประเทศนี้ เหตุผลถัดมาคือเป็นประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีศักยภาพในการเติบโตเป็นขุมทองแห่งใหม่ของนักลงทุนทั่วโลก และเหตุผลสุดท้ายเป็นเรื่องทรัพยากรที่ยังมีเหลืออีกมากไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ เกษตร หรือน้ำมัน
ใครบ้างที่จะมีบทบาทในอาเซียน
แทบทุกประเทศที่มีความสนใจในตลาดนี้ไม่ว่าจะเป็นมหาอำนาจในเอเชียอย่าง จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น หรืออีกฝั่งทางอินเดีย แม้กระทั่ง บ้านใกล้แต่คนละทวีปอย่างออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ส่วนกลุ่มที่สองก็คือไกลออกไปจากเราได้แก่ ประเทศในกลุ่มยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่พยายามจะมีบทบาทกับภูมิภาคนี้ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง
ข้อดีข้อเสียของไทยต่อการรวมกลุ่มกัน
ข้อดีคือในเมื่อสินค้าสามารถเคลื่อนย้ายไปอีก 10 ประเทศได้อย่างเสรี ลูกค้าเราจาก 60 ล้านคนก็ขยายอีกสิบเท่าเป็น 600 ล้านคนโดยทันที เหมือนเรายกระดับขยายประเทศเราโดยไม่ต้องทำอะไรเลย แต่ข้อเสียก็คือในเมื่อตลาดใหญ่ขึ้น คู่แข่งก็มากขึ้นตามลำดับนั่นเอง
ประเทศใน ASEAN เตรียมตัวกันอย่างไร
สิงคโปร์
เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซ๊ยน แม้ขนาดประเทศจะเล็กมาก เป็นประเทศเทรดดิ้งโดยธรรมชาติ มีศักยภาพในการค้าระหว่างประเทศเนื่องจากเป็นศูนย์กลางการเดินเรือ ลอจิสติกส์ และการบริการทางการเงินที่ครบวงจร ผมได้เคยคุยกับชาวสิงคโปร์ได้พบว่าประเทศเค้ามีความพร้อมในเรื่อง AEC และเตรียมตัวมานานมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการจัดหารสินค้า (Sourcing) บริการทางการเงิน (Financial Service) และการบริหารโลจิสติกส์ (Logistics) และจะขอเป็นศูนย์กลางจากการค้าเชื่อมต่อกับคนนอกอาเซียนอีกด้วย
มาเลเซีย
ก็เป็นอีกเสือที่ขยับตัวได้น่ากลัวมาก มาเลเซียนั้นเคยเป็นคู่แข่งที่สำคัญทางเศรษฐกิจกับไทย แต่ตอนนี้เริ่มห่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากแผนการพัฒนาของมาเลเซียนั้นชัดเจนเป็นขั้นตอนและทำอย่างต่อเนื่องมากกว่าไทย มาเลเซียมีกลยุทธ์ที่ต้องการจะเน้นเฉพาะด้าน ก่อนหน้านี้มาเลเซียเคยปลูกยางพาราแข่งกับไทย แต่เมื่อสิบกว่าปีก่อน โค่นต้นยางพาราทิ้งและปลูกปาล์มน้ำมันแทน จนตอนนี้กลายเป็นผู้นำด้านปาล์มน้ำมันของโลก นอกจากนี้มาเลเซียยังอาศัยความเป็นประเทศมุสลิมประกาศตัวว่าจะเป็นเบอร์หนึ่งด้านอาหารฮาลาลโดยเฉพาะ vision คือถ้าทั่วโลกต้องการอาหารฮาลาลต้องมาหาที่มาเลเซียเท่านั้น
อินโดนีเซีย
เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซ๊ยน และเป็นหนึ่งในประเทศที่คนทั่วโลกจับตามากที่สุด เนื่องจากมีทั้งพื้นที่กว้างขวาง จำนวนประชากรและทรัพยากรมากมายมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ ผลไม้ และที่สำคัญคือน้ำมัน อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในกลุ่มสมาชิกค้าน้ำมัน หรือ OPEC นั่นเอง เศรษฐกิจหลักของอินโดนีเซียพึ่งพาการส่งออกสินค้าเหล่านี้ แต่เมื่อมองเข้าไปลึกๆ แล้วอินโดนีเซ๊ยยังขาดศักยภาพหลายๆ ด้านที่จำเป็นแม้ตัวเองจะมีทรัพยากรอยู่ในมือล้นเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาการผลิตอาหารที่ไม่ถูกใจและไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ อินโดนีเซียนั้นเน้นไปที่การส่งออกสินค้าที่เป็นกลุ่มเกษตรและเกษตรแปรรูป
ฟิลิปปินส์
ถือว่าอยู่ไกลจากกลุ่มเพื่อนที่สุด ภูมิประเทศเป็นเกาะ และเป็นประเทศเดียวที่นับถือศาสนาคริสต์มากที่สุด ประเทศฟิลิปปินส์ค่อนข้างจะมีวัฒนธรรมออกไปทางตะวันตก ประชากรในประเทศพูดภาษาอังกฤษและสเปนได้ค่อนข้างดี ประเทศนี้เป็นแหล่งส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศและส่งเงินกลับมาให้ครอบครัว ส่วนโครงสร้างธุรกิจของฟิลิปปินส์นั้นเน้นเรื่องการบริการโดยมีภาษาอังกฤษเป็นพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นการบริการคอลเซ็นเตอร์ระดับโลก ที่รับงานมาจากบริษัทระดับโลกที่อยู่ในอเมริกา (เหมือนอินเดีย) นอกจากนี้ยังมีการบริการด้านการแพทย์และพยาบาลอีก คาดว่าเมื่อเปิด AEC แล้วแรงงานด้านนี้จะเข้ามาทำงานในหลายประเทศอีกด้วย
บรูไน
เป็นประเทศที่มีขนาดเล็กที่สุดในอาเซ๊ยน ประชากรน้อยที่สุด แต่รายได้ต่อหัวมากที่สุด เนื่องจากมีแหล่งน้ำมันที่มีอยู่มาก ประชากรแทบไม่ต้องทำงานเพราะมีรัฐช่วยสนับสนุนอยู่แล้ว ถือว่าเป็นประเทศที่น่าสนใจมากๆ แต่เนื่องด้วยจำนวนประชากรมีน้อย ประเทศบรูไนจึงไม่ค่อยได้รับความสนใจจากหลายประเทศมากเท่าที่ควร แต่ในมุมกลับกัน ผมคิดว่าประเทศนี้หากทำตลาดดี เราก็จะได้ตลาดไปครอบครองได้เนื่องจากคู่แข่งมีไม่มาก
เวียดนาม
เป็นประเทศที่น่าจับตามองมากที่สุดสำหรับไทยเนื่องจากประเทศนี้กำลังท้าทายแข่งกันกับไทยในด้านเศรษฐกิจอยู่ มีสินค้าส่งออกที่คล้ายกับไทยมากไม่ว่าจะเป็นข้าว สินค้าเกษตร เสื้อผ้าสำเร็จรูป หรือแม้กระทั่งประมง เวียดนามขณะนี้เป็นแหล่งผลิตเสื้อผ้าแทนที่ไทยไปแล้ว และการส่งออกข้าวก็กำลังแข่งขันกับไทยอย่างดุเดือด ส่วนผลไม้นั้นมีบางอย่างที่ดีกว่าไทยเสียอีก ด้านการประมงหรืออุตสาหกรรมหลักยังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและการจัดการจากต่างชาติเป็นอันมาก อีกข้อที่น่าสนใจคือเวียดนามมีจำนวนประชากรมากถึง 90 ล้านคน เป็นอันดับสองของอาเซียน ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจในเวียดนามนั้นเติบโตตลอด แต่อาจจะมีช่วง 4 -5 ปีหลังนี้เกิดวิกฤตฟองสบู่ขึ้นมา ซึ่งผมมองว่าเป็นแง่ดีของเค้า เพราะเกิดในช่วงที่ยังไม่โตเต็มที่มาก อ่านเวียดนามเพิ่มเติม
เมียนมาร์
จากเดิมที่ถูกทั่วโลกคว่ำบาตรไม่ทำการค้าขายด้วยเนื่องจากปัญหาการเมืองและสิทธิมนุษยชนมาแล้ว เมียนมาร์นั้นทำในสิ่งที่ทุกคนบนโลกนี้คาดไม่ถึงคือการเปิดประเทศ แม้ว่าจะยังใช้ระบอบการปกครองแบบเดิม แต่ไม่มีประเทศไหนสนใจ แม้กระทั่งสหรัฐ ที่เคยคว่ำบาตรก็กลับตาลปัตรเข้าหาเมียนมาร์และพร้อมจะลืมเรื่องในอดีตทันที เนื่องจากเมียนมาร์นั้นมีทรัพยากรมากมายโดยเฉพาะป่าไม้และอัญมณี รวมถึงการค้าขายชายแดนกับไทยนั้น ด้วยภูมิประเทศที่ติดกับหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นไทย จีน อินเดีย หรือลาวนั้น เมียนมาร์ก็ตั้งใจจะทำตัวเป็นจุดเชื่อมต่อทางการค้าและการขนส่งระหว่างประเทศดังกล่าวอีกด้วย จะเห็นได้ว่ามีการพัฒนาและสร้างถนนหนทางเชื่อมต่ออย่างรวดเร็ว
ลาว
ด้วยภูมิประเทศที่ไม่ติดทะเล แต่มีข้อดีคือติดกับหลายประเทศ จำนวนประชากรมี 4-5 ล้านคน รวมถึงเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์โดยเฉพาะ ลาวประกาศตัวว่าจะเป็นประเทศวัฒนธรรมของอาเซียน ธุรกิจหลักของลาวจะเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมเป็นหลัก นอกจากนี้ทรัพยากรที่มีมากมาย ลาวสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้ามาขายประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยอีกด้วย ลาวจึงมองว่าตัวเองจะเป็นแบตเตอรี่ของอาเซ๊ยนด้วยอีกหนึ่งตำแหน่ง
กัมพูชา
มีพื้นที่ติดทะเลฝั่งอ่าวไทย มีพื้นที่การเกษตรพอสมควรและมีแรงงานค่าจ้างไม่แพงอยู่มาก ประเทศกัมพูชาจึงตั้งตัวเป็นโรงงานขนาดเล็กสำหรับอาเซ๊ยน หลากหลายธุรกิจไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป หรือเกษตรแปรรูปกำลังเป็นธุรกิจหลักในกัมพูชา นอกจากนั้นแล้วกัมพูชายังมีโบราณสถานที่ติดอันดับโลกอย่างนครวัดนครธม รวมถึงบ่อนกาสิโน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงเป็นอีกแหล่งที่กัมพูชาทำรายได้อีกมากมาย
ประเทศไทย
จุดแข็งของประเทศไทยคือความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเกษตรที่มีสินค้ามากมาย ธุรกิจผลิตอาหารที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลก งานฝีมือด้านเสื้อผ้าจิวเวลรี่แฟชั่น รวมถึงอุตสาหกรรมหนักอย่างการผลิตรถยนต์ นอกจากนี้ไทยยังมีธุรกิจบริการที่เป็นที่ยอมรับของทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การแพทย์และความงามอีกด้วย อีกจุดแข็งที่ไม่ว่าจะพัฒนายังไงก็ไม่มีใครสู้ได้คือข้อดีในด้านภูมิศาสตร์ ในสายตาต่างชาติประเทศไทยถือเป็นหลักชัยในการเข้าตลาดอาเซียน ด้วยเหตุผลทางด้านภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางติดต่อได้ทุกประเทศ มีเส้นทางคมนาคมที่ดีและเชื่อมต่อหลายประเทศ พื้นฐานทางเศรษฐกิจที่โตมาระดับหนึ่งแล้ว รวมถึงมีสิ่งอำนวยความสะดวกเหมาะแก่การค้าขาย อ่านเพิ่มเติม
จะเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย
ประเทศไทยจะมีคนต่างชาติเข้ามาอยู่เต็มไปหมด
ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ประเทศไทยกลายเป็นจุดศูนย์กลาง ประกอบกับลักษณะนิสัยคนไทยที่ไม่ค่อยนิยมออกไปทำมาหากินต่างประเทศ ไกลบ้านไกลเมืองมากนัก ทำให้คาดการณ์ว่าไทย โดยเฉพาะหัวเมืองใหญ่ๆ จะมีชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยว อยู่อาศัย และทำธุรกิจกันมากขึ้น (ตอนนี้ก็มีมากขึ้นอยู่แล้ว สังเกตได้จากปัจจุบันนี้ไปห้างไหนหรือเพื่อนบ้านข้างๆ ห้องในคอนโดเราก็มีชาวต่างชาติเยอะแยะเต็มไปหมด)
การที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางบกนี้ จีนพยายามจะใช้ไทยเป็นทางผ่านไปค้าขายยังประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ เพราะการคมนาคมจากไทยไปยังประเทศ CLMV ทางรถนั้นสะดวกสบาย จึงเกิดการลงทุนมหาศาลด้านการสร้างเส้นทางเดินรถ ถนนซูเปอร์ไฮเวย์ทั้งในจีน เมียนมาร์ ลาว เวียดนาม เชื่อมมาในประเทศไทย จะมีรถยนต์จากหลายประเทศวิ่งเข้ามาในไทยมากขึ้น และที่จะแปลกตาคือรถพวงมาลัยซ้ายจะมาวิ่งชิดซ้ายตามกฏจราจรบ้านเรา
แรงงานต่างชาติย้ายเข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น
อันนี้ไม่นับแรงงานในภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีอยู่แล้ว แต่นับรวมถึงแรงงานในการบริการ ไม่ว่าจะเป็นพยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล แพทย์ วิศวกร หรือผู้ทำบัญชี (แม้ว่าอาขีพเหล่านี้จะต้องใช้การสอบใบอนุญาตตามหลักเกณฑ์ของไทยเราก็ตาม)
นอกจากนี้ในบริษัทต่างๆ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับต่างประเทศอาจจะต้องจ้างพนักงานที่เป็นท้องถิ่นของประเทศนั้น เช่น คุณอาจจต้องพนักงานที่พูดภาษาเวียดนามได้ ไว้คอยดูแลตลาดในฝั่งเวียดนาม เป็นต้น
เราจะมีคู่แข่งหลากหลายสัญชาติ
เป็นสิ่งที่ SMEs ไทยเรากลัวมากที่สุด เพราะบริษัทต่างชาติที่มีศักยภาพมากกว่า เงินทุนหนากว่า การบริหารจัดการที่ดีกว่า จะเข้ามาแข่งกับเราในการทำตลาดมากขึ้น
ธุรกิจบางอย่างจะหายไปจากสังคมไทย
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำใจครับ เพราะบางอย่างต่างประเทศทำได้ดีกว่าเราจริงๆ ผู้ประกอบการในธุรกิจนั้นๆ ก็ต้องปรับตัวกันไป
เราจะได้เดินทางไปประเทศในอาเซียนมากขึ้น
มีเรื่องตลกอย่างหนึ่งคือสิ่งที่คนไทยสนใจมากที่สุด เมื่อมีการเปิดเสรีอาเซ๊ยน คือการที่ได้ไปเที่ยวในหลายๆ ประเทศได้มากขึ้น ทำไงได้ครับ อะไรที่เป็นความสุขก็ไม่ผิดทั้งนั้น พวกเราก็คิดอย่างนั้นด้วยใช่มั้ยครับ
ไทยต้องเตรียมตัวรับมืออย่างไร
วันนี้ผมจะมาสรุปนะครับว่า SME ไทยต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง อันนี้เป็นกลยุทธ์ที่ผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานรัฐเคยให้แนวทางไว้สำหรับ SMEs ในการปรับตัวนะครับ เราเริ่มกันเลย
- หาคู่ค้า พันธมิตร
ในเมื่อเราจะต้องเจอคนที่ทำธุรกิจแบบเดียวกับเราเข้ามากันมากขึ้น การปรับตัวอาจจะไม่ลงเอยที่การแข่งขันเสมอไป เราสามารถหาคู่ค้า พันธมิตร (Partner) จากต่างประเทศที่เค้ามีศักยภาพและพอๆ กับเรา เมื่อร่วมมือกันแล้วทำให้ต่างคนต่างแข็งแกร่งได้ ในการหาพันธมิตรนั้นมีข้อดีคือเป็นการกีดกันคู่แข่งกลายๆ เข้าทำนองว่าแบ่งกันกินแบ่งกันรวย นอกจากนี้เรายังสามารถ SMEs เล็กๆ ก็เริ่มจากการหาพันธมิตรเล็กๆ ไปก่อน หาคนที่พร้อมจะเติบโตไปด้วยกันพร้อมกับเรา
- หาแหล่งวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตใหม่
การรวมกลุ่มกับประเทศ CLMV เข้ามานั้น เราจะสามารถทำให้สินค้าเรามีต้นทุนที่ถูกลงด้วยการกระจายการผลิตไปสู่ประเทศที่มีต้นทุนถูกกว่านั่นเอง ยกตัวอย่างโรงงานปลาหมึกแห่งหนึ่ง เปลี่ยนฐานการผลิตไปประเทศเวียดนาม เนื่องจากที่นั่นมีแหล่งวัตถุดิบชั้นดี มีปลาหมึกเป็นจำนวนมาก เมื่อจับได้เสร็จก็แปรรูปที่นั่นเลย เสร็จแล้วส่งชิ้นอาหารมาแบ่งบรรจุที่ประเทศไทย แล้วมาทำการกระจายสินค้าที่กรุงเทพฯ เป็นต้น
- เปลี่ยนโมเดลการทำธุรกิจ เป็นเทรดเดอร์รวมถึงไปลงทุนในต่างประเทศ
ผมเห็นผู้ส่งออกที่เป็นโรงงานหลายๆ แห่ง เปลี่ยนโมเดลทางธุรกิจโดยการทำตัวเป็นเทรดเดอร์ซะเอง ในเมื่อไปเปิดตลาดต่างประเทศแล้วไม่หยุดอยู่แค่นั้น บริษัทเหล่านั้นก็ทำตัวเป็นเทรดเดอร์ รับสินค้าอื่นๆ จากไทยไปขาย และยังนำสินค้าจากประเทศนั้นๆ เข้ามาขายในไทยอีกต่างหาก
นอกจากนี้จากเดิมที่เราเคยแค่ลงทุนแต่ในประเทศไทย เราก็สามารถขยายการลงทุนไปที่ต่างประเทศได้อีกด้วย การที่ท่านไปเปิดโรงงานผลิตในประเทศอื่นๆ ที่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีก็จะทำให้ท่านสามารถส่งออกสินค้าไปประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ได้อีกด้วย
- คำนึงถึงลูกค้าเพื่อนบ้านมากขึ้น
ต่อจากนี้การทำธุรกิจอะไรก็ต้องคำนึงถึงประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนด้วย ยกตัวอย่างเช่นธุรกิจท่องเที่ยว ก่อนหน้านี้ฝรั่งที่เที่ยวเมืองไทยจะมาลงที่กรุงเทพฯ แล้วซื้อทัวร์ไปต่อที่พัทยา อยุธยา หรือบินไปเชียงใหม่ ภูเก็ต แต่เดี๋ยวนี้นักท่องเที่ยวสามารถหาทัวร์ไปเที่ยวลาว กัมพูชาได้ที่กรุงเทพฯ หรือพัทยา
การสร้างผลิตภัณฑ์อาจจะต้องทำแพ็กเกจจิ้งให้มีหลายภาษาด้วย เพื่อจะได้ขายทีเดียว เช่น ภาษาไทย อังกฤษ เวียดนาม หรือภาษาจีน และจะมีสินค้าใหม่ๆ จากทุกประเทศเข้ามาในไทยมากขึ้น
การต้อนรับลูกค้า พนักงานอาจจะต้องรู้จักภาษาของลูกค้า ที่ใช้ในการทักทายหรือคำศัพท์เบื้องต้นมากขึ้น หรืออย่างน้อยร้านขายอาหารทั่วไป พนักงานก็ควรจะพูดภาษาอังกฤษได้ (นึกภาพตอนเราไปสั่งอาหารที่ฮ่องกง คนที่นั่นจะพูดได้ทั้งจีนและอังกฤษ)
- สร้างตลาดใหม่กับลูกค้ากลุ่มที่ใหญ่ขึ้น
ในบรรดาประเทศอาเซียนนั้น แม้จะต่างภาษาต่างวัฒนธรรม แต่ยังมีบางอย่างที่เป็นความต้องการคล้ายๆ กัน สามารถรวมเป็น segment หรือตลาดกลุ่มเดียวกันได้ เช่น อาหารฮาลาล คนมุสลิมไม่ได้มีเฉพาะในไทย ยังมีทั้งในมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซียและบรูไน หรือการบริการท่องเที่ยว เราอาจจะดึงดูดนักท่องเที่ยวมาไนไทยได้อีกมากมาย
- ทำตลาดโดยใช้ช่องทางการค้าชายแดนให้มากขึ้น
การค้าชายแดนที่นับวันจะเติบโตขี้นเรื่อยๆ และกลายเป็นตลาดสำคัญสำหรับสินค้าส่งออกไทย นอกจากช่องทางที่เอื้ออำนวยแล้ว ภาพลักษณ์สินค้าไทยในสายตาประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม CLMV ก็ดีมากๆ ด้วย คนที่นั่นรับรู้ว่าสินค้าไทยดี มีคุณภาพและราคาไม่แพงเมื่อเที่ยบกับสินค้าจากประเทศอื่น ส่วนสินค้าจีนถูกมองว่าเป็นอีกเกรดนึง นอกจากนี้สื่อต่างๆ ในบ้านเราก็มีอิทธิพลต่อลูกค้ากลุ่มนี้มากพอสมควร หากท่านวางแผนที่จะจับตลาดใหญ่ขึ้นการใช้สื่อเหล่านี้ก็มีประโยชน์ต่อสินค้าท่านมากเหลือเกิน
สินค้าส่งออกของไทย
สินค้าที่ไทยมีความพร้อมและมีความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ อาหารและเกษตร สินค้ายานยนต์ อิเลคทรอนิคส์ บริการสุขภาพ ท่องเที่ยว บริการทางดิจิตอล แอนิเมชั่น เป็นต้น
สินค้าที่อาจจะต้องพบกับการแข่งขันสูง ได้แก่ ข้าวโพด ยางพารา ผลไม้แช่แข็ง มันสำปะหลัง อาหารสัตว์ เฟอร์นิเจอร์ ผ้าผืน สิ่งทอ เป็นต้น