การหาข้อมูลการส่งออกสินค้า

ข้อมูลส่งออกนำเข้า

ใครที่เคยอ่านบทความของผม หรือได้เคยเรียนคอร์สส่งออกนำเข้าแล้ว จะเคยได้ยินว่าก่อนจะส่งออกเราต้องเลือกประเทศที่จะส่งออกสินค้าก่อน เพราะหากเราต้องรู้ก่อนว่าสินค้าเราเหมาะกับประเทศอะไร กฏระเบียบเค้าเป็นยังไง และที่สำคัญสินค้าเรามีคนต้องการจริงๆ รึเปล่า

ตัวเลขหนึ่งที่ช่วยให้เรารู้ได้คือตัวเลขการส่งออกนำเข้า วันนี้ผมจะมาบอกแหล่งข้อมูลที่เราจะหาได้ว่าที่ไหนเหมาะบ้าง

ข้อมูลการส่งออกโดยกรมศุลกากร

สินค้าทุกประเภทที่เข้าออกประเทศอย่างถูกกฏหมาย จะสามารถค้นหาได้จากเว็บไซต์ของกรมศุลกากร ทุกครั้งที่มีการนำเข้าส่งออก กรมศุลกากรจะนำเอกสาร Invoice ของเราไปบันทึกตัวเลขทางบัญชีเพื่อเป็นข้อมูลในการนำเข้าส่งออก และเอาข้อมูลนี้มาทำสถิติให้เราได้ทราบกันครับ

เราสามารถเลือกได้ว่าเราอยากส่งออกสินค้าอะไรไปประเทศไหน เค้าก็จะมีให้กรอกเลยครับว่าสินค้าแต่ละชนิด ส่งไปแต่ละประเทศนั้น มีมูลค่าทางการค้าเท่าไหร่ โดยส่วนตัวผมคิดว่าถ้าเรารู้เฉพาะว่าเราต้องการสินค้าชนิดไหน และต้องการส่งไปประเทศอะไร เน้นเฉพาะสินค้าเราอย่างเดียว ก็ถือว่าเป็นข้อมูลที่ใช้ได้ดีระดับหนึ่งเลยครับ

ใครที่อยากเข้าไปหาข้อมูลตลาด ต้องไปเช็คที่เว็บนี้ครับ http://www.customs.go.th/statistic_report.php

อ้อ ลืมบอกไปว่าเวลาพิมพ์หายอดส่งออกรายสินค้านั้น เราต้องกรอก HS Code ลงไปนะครับ ใครที่ไม่รู้ว่าสินค้าตัวเองใช้ code อะไร ลองหาที่เว็บนี้ก่อนนะครับ http://igtf.customs.go.th/igtf/th/main_frame.jsp

ข้อมูลการส่งออกโดยกระทรวงพาณิชย์

บางครั้งเราจะได้ยินการประกาศของกระทรวงพาณิชย์ เรื่องตัวเลขการส่งออกรายเดือน รายไตรมาส หรือ รายปี เป็นระยะๆ เพื่อบอกให้รู้ว่า ณ ช่วงเวลานั้นๆ ประเทศไทยมีสถานะการเงินระหว่างประเทศดีหรือไม่ดี เกินดุล หรือ ขาดดุล ส่งออกมากกว่า หรือนำเข้ามากกว่า ซึ่งข้อมูลนี้จะได้มาจากกรมศุลกากรด้วย

โดยภาพรวม เว็บนี้จะบอกภาพรวมของประเทศมากกว่า แต่อาจจะยังไม่ได้ลงลึกไปที่รายละเอียดว่าเราขายสินค้าตัวไหนบ้าง ถ้าเทียบกันในเรื่องความละเอียด ของกรมศุลกากรจะละเอียดกว่า แต่กระทรวงพาณิชย์จะได้ข้อมูลในมุมกว้างมากกว่า ข้อแนะนำคือใช้ควบคู่กันครับ

ดูข้อมูลได้ที่เว็บนี้ครับ http://www.ops3.moc.go.th/thtrade/

ข้อมูลการส่งออกโดยกรมการค้าต่างประเทศ

กรมการค้าต่างประเทศ มีหน้าที่บริหารจัดการงานเกี่ยวกับเอกสารและขั้นตอนต่างๆ ให้การค้าระหว่างคนไทยกับต่างชาติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งอีกหน้าที่หนึ่งที่ผู้ส่งออกเราคุ้นเคยเป็นอย่างดีก็คือกรมนี้จะเป็นผู้ออกใบรับรองถิ่นกำเนิด (Certificate of Origin – C/O) กรมนี้จะมีข้อมูลผู้ส่งออกเป็นยอดการส่งออกจากเอกสารที่เราไปขอใบรับรองนี่แหละครับ

จากข้อมูลที่ผมได้ศึกษามา จะเป็นข้อมูลสรุปสั้นๆ เพื่อให้เรานำไปใช้ได้เลย เช่น สินค้ากลุ่มมันสำปะหลัง เดือนที่แล้วประเทศไทยส่งให้ประเทศไหนบ้าง มูลค่าเท่าไหร่ จบ มันเหมาะสำหรับข้อมูลที่เอาไปใช้ทันที วิเคราะห์ได้ไม่ค่อยลึกพอนะครับ

ใครสนใจก็เข้าเว็บนี้ได้เลยครับ http://www.dft.go.th/th-th/dft-service-data-statistic/cid/41

ข้อมูลการส่งออกโดยกระทรวงการคลัง

กระทรวงการคลังเป็นอีกหน่วยงานที่สามารถไปดูข้อมูลได้เช่นกัน ที่นี่จะแบ่งค่อนข้างเป็นหมวดหมู่และรายกลุ่มประเทศ ไม่ได้ละเอียดเท่าของกรมศุลกากร แต่ข้อดีคือข้อมูลจัดการได้ดีมาก แบ่งเป็นหมวดหมู่สินค้าหลัก สินค้าย่อย และข้อมูลส่งออกรายประเทศชัดเจนดีครับ ข้อมูลอ่านง่าย แต่อาจจะโหลดนานหน่อยถ้าต้องประมวลผลเพิ่มเติมนะครับ เพราะข้อมูลเค้าเยอะจริงๆ

เข้าไปดูเว็บนี้ได้เลยครับ http://dwfoc.mof.go.th/Dataservices/IECountryAndCategory

ข้อมูลการส่งออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย

การส่งออกนำเข้านั้นเราต้องดูปัจจัยการชำระเงินระหว่างประเทศด้วย ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย มีบทบาทในการตรวจสอบสถานการณ์การนำเข้าส่งออกเช่นกัน ที่มาของข้อมูลนี้มาจากกรมศุลกากรเช่นเดียวกัน

สนใจข้อมูลคลิกที่นี่ http://www2.bot.or.th/statistics/ReportPage.aspx?reportID=50&language=th

บางคนอาจจะมีคำถามว่า ทำไมไม่ดูเว็บเดียวไปเลย คำตอบของผมคือ แล้วแต่ความต้องการใช้งานด้านไหนมากกว่า ถ้าเราต้องการแค่เฉพาะสินค้าเรา และตลาดที่เราสนใจ ก็เข้าเว็บที่มีข้อมูลละเอียดหน่อย เช่น เว็บกรมศุลกากร กระทรวงพาณิชย์ และกรมการค้าต่างประเทศ เป็นต้น แต่ถ้าอยากได้ข้อมูลภาพกว้าง ก็เข้าเว็บกระทรวงพาณิชย์ หรือธนาคารแห่งประเทศไทยได้ครับ

แต่มีอีกข้อที่ต้องบอกคือตัวเลขชองแต่ละที่จะไม่ตรงกันเป๊ะๆ นะครับ เพราะเค้าอาจจมีเกณฑ์ในการแยกหมวดหมู่ไม่เหมือนกัน รวมถึงการนับมูลค่าส่งออกนำเข้าทางบัญชีก็ไม่เหมือนกันด้วย และก็รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ไม่เหมือนกันด้วย อย่าไปซีเรียสเรื่องความเป๊ะของตัวเลข จนลืมไปว่าความจำเป็นในการวิเคราะห์สิ่งที่เราต้องการจากตัวเลข คือสิ่งที่เราสนใจมากกว่าครับ ขอให้เจอสินค้าที่ชอบ ตลาดที่ใช่ไวๆ นะครับ

สนใจเรียนส่งออก คลิกที่นี่

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่นี่

Add Line ID @intertrader
Facebook: inter trader academy
Email: intertraderacademy@gmail.com
ลงทะเบียนที่นี่

Leave a Comment