ตลาดสีรุ้ง (LGBT)…Niche Market ที่มิอาจละเลย

LGBT (Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender) หรือกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้บริโภคที่มีศักยภาพ และน่าจับตามองมากที่สุดในขณะนี้ ทั้งนี้ จากการประมาณการของ LGBT Capital (บริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินซึ่งให้บริการกลุ่ม LGBT เป็นหลัก) พบว่าปัจจุบันมีชาว LGBT อยู่ทั่วโลกราว 450 ล้านคน แม้จะไม่มากเมื่อ

เทียบกับประชากรโลกจำนวน 7,300 ล้านคน แต่การที่กลุ่มผู้บริโภค LGBT มีกำลังซื้อมากถึง 3.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จึงเป็นเหตุให้กลุ่มผู้ผลิต สินค้าและบริการต่างเล็งเห็นศักยภาพของกลุ่มผู้บริโภคชาว LGBT และพยายามขยายตลาดสินค้าของตนไปยังกลุ่มดังกล่าวกันอย่างคึกคัก

ชาว LGBT ส่วนใหญ่มีระดับรายได้ค่อนข้างสูง จากข้อมูลของ Experian Information Solution Inc. พบว่ารายได้ต่อคนต่อปีของชาว LGBT (ชาย) ในสหรัฐฯ สูงกว่ารายได้ต่อคนต่อปีเฉลี่ยของประชกรชาย ทั่วไปราว 800 ดอลลาร์สหรัฐ และรายได้ต่อปีของครอบครัว LGBT (ชาย-ชาย)

โดยเฉลี่ยสูงกว่ารายได้ต่อปีของครอบครัวชาย-หญิงทั่วไปราว 13,400 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ชาว LGBT ส่วนใหญ่ไม่มีบุตร จึงไม่มีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลและเก็บออมเพื่อบุตร ส่งผลให้ชาว LGBT หรือเรียกว่ากลุ่ม “DINK” (Double Income, No Kids) มีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยและมีกำลังซื้อสูง จึงทำให้ชาว LGBT เป็นกลุ่ม Niche Market ที่มีศักยภาพสูง

พฤติกรรมการใช้จ่ายที่น่าสนใจของชาว LGBT

  • ชื่นชอบการใช้จ่ายซื้อสินค้าโดยคำนึงถึงภาพลักษณ์ที่ดูดีเป็นหลัก จึงนิยมใช้ของมีคุณภาพสูงระดับพรีเมียมเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ การที่ชาว LGBT มีรสนิยมเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพสูง ยังส่งผลให้สินค้าที่ชาว LGBT เลือกใช้ มักมีภาพลักษณ์เป็นสินค้าที่มีคุณภาพดี

  • นิยมเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรหรือสนับสนุนชาว LGBT เช่น Coca Cola, Pepsi, GAP, Google, Nike และ Levis ทั้งนี้ Human Rights Campaign หรือ HRC ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อต่อสู้ให้ได้มาซึ่งสิทธิแห่งมนุษยชนของกลุ่ม LGBT จะมีการสำรวจองค์กรธุรกิจต่างๆ ว่ามีการปฏิบัติต่อลูกจ้างที่เป็น LGBT อย่างเสมอภาคกับลูกจ้างอื่นๆ ทั่วไปหรือไม่ พร้อมให้คะแนน และจัดทำคู่มือบัญชีรายชื่อสินค้าและบริการที่สนับสนุนชาว LGBT พร้อมคะแนนที่ได้จากการประเมิน โดยสามารถ Download คู่มือได้จาก www.hrc.org หรือจาก Application ใน Smart Phone เพื่อให้ผู้บริโภคกลุ่ม LGBT สะดวกในการตรวจสอบสินค้าและบริการขององค์กรหรือบริษัทดังกล่าว

ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ นอกจากนี้ หลายผลิตภัณฑ์นิยมนำธงสีรุ้งมาประดับตกแต่งผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นสัญลักษณ์การสนับสนุนชาว LGBT หรือจัดทำสินค้ารุ่นพิเศษที่แสดงออกถึงการให้ความสำคัญกับ LGBT มาจำหน่าย

  • นิยมใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับความบันเทิง สินค้าเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ความงาม การท่องเที่ยว

การรับประทานอาหาร และการปรับปรุงที่พักอาศัย โดยเฉพาะหลังจากที่หลายประเทศอนุญาตให้มีการแต่งงานของเพศเดียวกันได้ นับเป็นปัจจัยส่งเสริมให้กลุ่ม LGBT ตัดสินใจแต่งงานและสร้างครอบครัวมากขึ้น ดังนั้นสินค้าเกี่ยวกับการจัดงานแต่งงาน ของขวัญของชำร่วยของตกแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ จึงได้รับความนิยมจากชาว LGBT เพิ่มขึ้นเช่นกัน

  • นิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพื่อคลายเหงา เนื่องจากชาว LGBT ส่วนใหญ่ไม่มีลูก ทำให้หันมาทุ่มเทความรักให้กับสัตว์เลี้ยงแทนการมีบุตร โดยสัตว์เลี้ยงที่นิยมเลี้ยง คือ สุนัข แมว ปลา กระต่าย และนก

โอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการ

จากพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของชาว LGBT พบว่า ธุรกิจที่น่าสนใจในการรุกตลาดกลุ่มผู้บริโภค LGBT คือ ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เสื้อผ้าเครื่องประดับ สินค้าไลฟ์สไตล์ ผลิตภัณฑ์ความงาม และสินค้าเทคโนโลยี รวมถึงการท่องเที่ยว

ซึ่งปัจจุบันมีหลายประเทศที่จัดกิจกรรมเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาว LGBT ที่มีกำลังซื้อสูงและพร้อมจะจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่มีคุณภาพสูงกว่ามาตรฐานทั่วไปในตลาด

อาทิ แคนาดา มีการจัดขบวนพาเหรดขนาดใหญ่ของชาว LGBT ในเมืองโทรอนโต ทุกวันที่ 1 กรกฎาคมของทุกปี ซึ่งแต่ละปีสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติและสร้างรายได้จำนวนมากให้แก่เมือง ญี่ปุ่น การท่องเที่ยวญี่ปุ่นใส่ชื่อโรงแรมในเขตโตเกียวและเกียวโตที่เป็น LGBT Friendly ใน Website ขององค์กรส่งเสริมการท่องเที่ยวญี่ปุ่น (Japan National Tourism Organization) รวมถึงยังมีความร่วมมือระหว่างวัดและโรงแรมออกแคมเปญจัดงานแต่งงานให้กลุ่ม LGBT

สำหรับประเทศไทยที่มีภาพลักษณ์ความเป็นมิตรกับ LGBT จากการประเมินโดยสถาบัน LGBT Capital เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 พบว่า ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวและการเดินทางของชาว LGBT เข้าประเทศถึงปีละ 4.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่าร้อยละ 10 ของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย

ข้อพิจารณาในการทำตลาด LGBT

ในการทำตลาด ผู้ประกอบการจำเป็นต้องศึกษาความต้องการและรสนิยม ของกลุ่มผู้บริโภคอย่างจริงจัง เนื่องจากชาว LGBT มีความหลากหลายสูงทั้งเชื้อชาติ เพศ และวัย นอกจากนี้

ผู้ประกอบการควรหลีกเลี่ยงการประชาสัมพันธ์หรือใช้ถ้อยคำที่อ่อนไหวต่อความรู้สึกของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ประกอบการจะสนับสนุนกลุ่ม LGBT อย่างชัดเจน ก็อาจต้องประเมินถึงผลกระทบด้านลบที่อาจจะเกิดกับสินค้าจากกลุ่มผู้บริโภคที่ยังไม่ยอมรับชาว LGBT ด้วยเช่นกัน

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

สนใจเรียนธุรกิจส่งออก คลิกที่นี่

Leave a Comment