การชำระเงินระหว่างประเทศ
หนึ่งในกิจกรรมที่คนไทยหรือผู้ประกอบการชาวไทยยังสงสัยว่า หากเราได้ทำธุรกิจส่งออกนำเข้าแล้วนั้น เราจะรับชำระเงินจากลูกค้าช่องทางไหนบ้าง แล้วช่องทางไหนปลอดภัยที่สุด สะดวกที่สุด วันนี้เราจะดูเรื่องนี้กันครับ
การชำระเงินในประเทศ
ก่อนไปต่างประเทศ เรามาดูวิธีชำระเงินในประเทศกันก่อน หากเราขายสินค้าแบบ B2B นั้น เราจะนิยมรับเงินในรูปแบบของการโอนเงินผ่านธนาคาร (Baht Net) หรือการชำระด้วยเช็คสั่งจ่าย (Draft) ซึ่งหากผู้ขายต้องการรับเงินก็ต้องแจ้งเลขที่บ้ญชีให้ผู้ซื้อชำระเงิน หรือชื่อบัญชีสำหรับออกเช็คสั่งจ่ายนั่นเอง ซึ่งเป็นวิธีที่ธรรมดาสามัญและเข้าใจได้ไม่ซับซ้อนนัก
สำหรับกรณีลูกค้าแบบ B2C ผู้ขายนั้นนิยมรับชำระเงินแบบเงินสดย่อย เงินโอนทางธนาคาร มากกว่า เพราะสะดวกกว่าการรับชำระเงินผ่านเช็คสั่งจ่าย เนื่องจากมีจำนวนเงินไม่มาก และผู้บริโภคทั่วไป จะไม่ค่อยนิยมใช้เช็คมากเท่าไหร่ (ในบางประเทศ เงินไม่กี่เหรียญก็นิยมใช้เช็ค)
การชำระเงินในต่างประเทศ
ในการชำระเงินต่างประเทศ เราจะมี 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ การชำระเงินโดยผ่านธนาคารปกติ และการชำระเงินแบบมีธนาคารเป็นผู้รับรอง
การชำระเงินโดยผ่านธนาคารปกตินั้น เราจะมีตัวเลือกคล้ายๆ กับการชำระเงินในประเทศ นั่นคือมีทั้งประเภท เงินโอนระหว่างบัญชี และการใช้เช็คสั่งจ่าย
1) การโอนเงินระหว่างบัญชี (Telegraphic Transfer – T/T)
หากใครเคยได้ยินคำว่า โอนเงิน T/T มันก็คือคำนี้นี่เอง การโอนเงินผ่านธนาคารในสมัยแรก ใช้วิธีการสื่อสารกันแบบโทรเลข จึงเป็นที่มาของคำว่า Telegraphic Transfer
แม้ในปัจจุบันเราใช้การสื่อสารกันทางอิเลคทรอนิคส์กันหมดแล้ว แต่เราก็ยังเรียกติดปากว่าโอนเงินผ่านโทรเลขนั่นเอง
การโอนเงินระหว่างประเทศนี้ ไม่ต่างจากการโอนเงินระหว่างบัญชีในประเทศเท่าไหร่ ซึ่งจะมีผู้โอนเงินออก หรือเรียกว่า Applicant ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้นำเข้าสินค้า เป็นผู้แจ้งกับธนาคาร ว่าจะโอนเงินไปหาผู้รับเงิน หรือที่เรียกว่า Beneficiary ซึ่งจะเป็นผู้ส่งออกเป็นหลักเช่นกัน แต่เงินจะไม่ได้วิ่งไปหาแบงค์ปลายทางโดยตรง แต่จะไปผ่านคนกลางที่เรียกว่า International Clearing Center หรือแบงค์ที่รับเคลียร์เงินระหว่างประเทศนั่นเอง
ทำไมต้องมี International Clearing Center
ตามปกติ ไม่ใช่แค่เราคนเดียวที่ทำธุรกรรมรับเงินจากต่างประเทศ จะมีหลายๆ บริษัท ทั้งรับเงินสำหรับออเดอร์ส่งออก และชำระเงินสำหรับออเดอร์นำเข้่า หากมีการเคลื่อนไหวของเงินไปมา จะทำให้สับสนวุ่นวายได้
จึงเกิดบริการเคลียร์เงินระหว่างประเทศขึ้นมา ยกตัวอย่าง เวียดนามโอนเงินมาไทย 100 ล้านบาท ไทยโอนไปเวียดนาม 80 ล้านบาท เราไม่ต้องหอบเงินไปมาระหว่างประเทศให้เหนื่อย ใช้วิธีหักกลบลบหนี้เอาเอง สุดท้ายก็คือเวียดนามโอนมาให้ไทย 20 ล้านบาท จบขั้นตอน
การเคลียร์เงินระหว่างประเทศนี้จะใช้เวลาข้ามวัน ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้เราได้เงินล่าช้ากว่าปกติ ตามปกติเราจะได้รับเงินประมาณ 2 วัน หลังจากลูกค้าต้นทางโอนเงินมาให้แล้ว ฉะนั้น ยังไม่ต้องรีบไปทวงในวันนั้นทันทีหากยังไม่ได้เงินนะครับ
2) การชำระเงินด้วยเช็คสั่งจ่าย (Draft)
ในบางประเทศ การใช้เช็คเป็นเรื่องปกติมาก เพราะสะดวกสำหรับผู้จ่าย แค่เขียนแล้วยื่นให้ก็เสร็จแล้ว ส่วนผู้รับก็ต้องรับภาระไปขึ้นเงินที่แบงค์เอง รวมถึงรับภาระค่าธรรมเนียม กรณีขึ้นเช็คต่างเขต ต่างประเทศกันด้วย
เวลาเราได้รับเช็ค ให้ไปที่ธนาคารเพื่อขึ้นเงินให้เรียบร้อยก่อน โดยเราจะต้องมีบัญชีรับเงินธนาคาร (เหมือนรับเช็คในประเทศ) ซึ่งธนาคารจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์เพื่อเคลียร์เช็คระหว่างประเทศนั่นเอง
จากนั้นเมื่อเราได้รับเงินแล้วก็จะถูกหักค่าธรรมเนียมเคลียร์ริ่งเช็ค เหมือนธนาคารทั่วไป แต่กรณีรับจากต่างประเทศ ค่าธรรมเนียมก็จะแพงเป็นพิเศษ
เงื่อนเวลาในการชำระเงิน (Payment Terms)
ไม่ว่าจะมีการสั่งจ่ายเช็คหรือโอนเงิน เรามักจะมีปัญหากันเสมอเพราะไม่รู้ว่าใครจะทำก่อนระหว่าง ส่งของก่อนแล้วรับเงิน หรือจ่ายเงินก่อนแล้วค่อยส่งของ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องตกลงกันระหว่างผู้นำเข้าและผู้ส่งออกให้ดีๆ
ในการรับเงินก่อนแล้วค่อยส่งของกนั้น เราจะเรียกคำนี้ว่า Advanced Payment ส่วนการส่งของก่อนแล้วค่อยเก็บเงินนั้น เราจะเรียกว่า Open Account ซึ่งทั้งสองวิธี มีแนวทางคล้ายกับการจ่ายเงินมัดจำล่วงหน้า หรือการขอเปิดหน้าบัญชีเครดิต แบบที่ขายในประเทศนั่นเอง
การรับชำระเงินโดยใช้ธนาคารเป็นผู้รับผิดชอบ
ใน 2 ประเภทแรก คือ การโอนเงินระหว่างประเทศ (T/T) และการชำระด้วยเช็คสั่งจ่าย (Draft) นั้น ธนาคารจะเป็นผู้รับหน้าที่ในการโอนเงินระหว่างประเทศให้เรียบร้อย และรับเงินส่วนต่างจากค่าธรรมเนียมโอนเงิน ซึ่งจะไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียหากกรณี ผู้นำเข้ากับผู้ส่งออก ไม่สามารถส่งของได้ตามที่ตกลงกันไว้
ซึ่งหากผู้ส่งออก และผู้นำเข้าไม่เชื่อใจกัน ในการทำธุรกิจ เงินจะไป แต่กลัวของจะไม่มา หรือในทางกลับกัน ทั้งผู้นำเข้าและส่งออก ก็สามารถหาคนกลางมาช่วยให้ได้รับความน่าเชื่อถือได้ ซึ่งในกรณีนี้ก็คือ ธนาคาร ที่ทั้งสองฝ่ายเชื่อถือ
ธนาคารที่มาเกี่ยวข้องนี้ จะเป็นทั้งธนาคารฝั่งประเทศผู้ส่งออก และฝั่งผู้นำเข้า ติดต่อกัน ซึ่งในวงการธนาคารก็จะมีข้อมูลเชื่อมต่อกันอยู่แล้ว จึงทำให้ผู้ส่งออกและผู้นำเข้า วางใจมากขึ้น
3) การชำระเงินแบบวางบิลเก็บเงิน (Bill for Collections – B/C)
การชำระเงินประเภทนี้ จะคล้ายกับการสั่งให้ผู้ส่งออกส่งของไปก่อน แล้วค่อยไปเก็บเงิน แต่ผู้ส่งออกจะไม่ส่งเอกสารไปให้ผู้นำเข้าก่อนเก็บเงิน เนื่องจาก เกรงว่าผู้นำเข้าจะไม่ชำระเงิน
ผู้ส่งออกจึงนำเอกสารทั้งหมด ส่งผ่านธนาคารในประเทศไปถึงธนาคารของผู้นำเข้าที่ต่างประเทศแทน ให้ธนาคารผู้นำเข้า เรียกเก็บเงินแทนผู้ส่งออกนั่นเอง เมื่อธนาคารติดต่อผู้นำเข้าให้มาชำระเงินเพื่อรับเอกสาร วิธีนี้จึงเรียกว่า Bill for Collections นั่นเอง
สำหรับวิธีนี้จะมีแบบย่อยๆ ที่เรียกว่า Documents against Payment (D/P) คือเมื่อไหร่ที่เงินมา เมื่อนั้นค่อยให้เอกสารไป กับอีกแบบที่เรียกว่า Documents against Acceptance (D/A) เป็นการให้เอกสารไปก่อน แล้วธนาคารค่อยตามเรียกเก็บเงินกับผู้นำเข้าอีกที
ซึ่งไม่ว่าจะทำเงื่อนไขไหน ต้องมีการตกลงกันก่อนระหว่างผู้นำเข้า ผู้ส่งออก และธนาคารของทั้งสองฝั่ง
4) การชำระเงินแบบให้ธนาคารค้ำประกัน (Letter of Credit – L/C)
คำว่า L/C นี้น่าจะเป็นคำที่คนภายนอกได้ยินกันบ่อยมากๆ เพราะเป็นเทอมการชำระเงินที่เลื่องชื่อมาก เนื่องจากธนาคารจะมีบทบาทอย่างมากในการรับชำระเงินประเภทนี้ เพราะต้องอาศัยการรับประกันการชำระเงินนั่นเอง
ขั้นตอนของ L/C มีอยู่ว่า ผู้ส่งออกนั้นไม่ได้ให้เครดิต หรือยังไม่เชื่อถือเครดิตของผู้นำเข้า จึงไม่สามารถให้ซื้อแบบติดเงินได้ จึงให้ผู้นำเข้าไปหาใครสักคนที่น่าเชื่อถือ มาค้ำประกันการชำระเงิน ซึ่งกรณีนี้คือธนาคาร
ผู้นำเข้ามีหน้าที่ไปขอให้ธนาคารฝั่งนำเข้า รับประกันการชำระเงิน การรับประกันนี้คือการระบุว่า หากผู้นำเข้าไม่จ่าย ธนาคารจะจ่ายให้ทันที จากนั้นธนาคารก็จะดูเครดิตของผู้นำเข้าแล้วออกเอกสาร L/C นี้ขึ้นมา เรียกว่า Issued L/C ส่งมาให้ธนาคารผู้ส่งออก
ธนาคารผู้ส่งออกก็เชิญผู้ส่งออกมาตรวจและสรุปเงื่อนไขกันว่า L/C ที่ทางนั้นส่งมา โอเคมั้ย หรือมีตรงไหนต้อแก้ไข เพิ่มเติม ก็ว่าไป หากสรุปเรียบร้อยแล้ว ธนาคารผู้ส่งออกก็รับประกัน L/C ให้ผู้ส่งออกอีกทอดนึง
เมื่อถึงขั้นนี้ผู้ส่งออกก็วางใจได้ว่า หากส่งสินค้าตามที่ตกลงกันไว้แล้วนั้น ผู้นำเข้าต้องจ่ายเงิน หากไม่จ่าย ธนาคารผู้นำเข้าจะจ่ายแทนนั่นเอง
ซึ่งในกรณีนี้เหมือนจะปลอดภัยสำหรับผู้ส่งออก แต่ว่ามีเงื่อนไขเดียวที่เป็นความเสี่ยงนั่นก็คือการทำให้ตรงตามข้อตกลงใน L/C หากผู้ส่งออกทำไม่ได้ ธนาคารฝั่งนำเข้าก็มีสิทธิไม่จ่ายเงิน แต่หากทำได้ ธนาคารฝั่งนำเข้าไม่มีสิทธิปฏิเสธการจ่ายเงิน ฉะนั้น L/C ก็ทำหน้าที่เหมือนเป็นสัญญาอีกฉบับนั่นเอง
อ่านรายละเอียด L/C เพิ่มเติมที่นี่
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ ขั้นตอนการชำระเงินระหว่างประเทศ อาจจะดูจุกจิกไปบ้าง แต่หากทำได้แล้ว ก็จะปลอดภัยในการชำระเงินระหว่างประเทศมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เรามั่นใจในการเริ่มต้นส่งออก หรือนำเข้ามากขึ้นนั่นเอง
หากสนใจเรียนเริ่มต้นนำเข้าส่งออก สามารถเลือกคอร์สที่ถูกใจได้ที่ลิ้งค์นี้ครับ