Packing List ใบกำกับหีบห่อ

ในการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ หลังจากที่เราได้เตรียมสินค้าเสร็จเรียบร้อยแล้วนั้น เราจะต้องเตรียมใบกำกับราคาสินค้า (Commercial Invoice) เพื่อระบุราคาสินค้า รวมถึงชื่อผู้ส่งออกและผู้นำเข้า และรายละเอียดอื่นๆ เพื่อใช้คำนวณภาษี

อย่างไรก็ตามรายละเอียดใน Commercial Invoice นั้น ยังมีไม่ครบถ้วน โดยสิ่งที่ต้องระบุเพิ่มเติมอีกอย่างคือรายการบรรจุหีบห่อ ซึ่งโดยทั่วไปเราจะมาระบุในเอกสารอีกฉบับที่เรียกว่า Packing List นั่นเอง

เอกสารนี้มีความสำคัญอย่างไร เราไปอ่านรายละเอียดกันครับ

Packing List คืออะไร

คือเอกสารที่ไว้สำหรับระบุการบรรจุหีบห่อของสินค้าส่งออก เพื่อความชัดเจนในการบรรจุ และเตรียมการขนถ่ายสินค้า ให้สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องด้านการขนถ่ายสินค้าไม่ว่าจะเป็นการนำไปให้ ตัวแทนสายเรือ / สายการบิน ได้จองเรือ จองเครื่องบินได้ถูกต้อง หรือสายเรือ กับสายการบิน วางแผนพื้นที่สำหรับบรรจุสินค้า รวมถึงเอาไว้ให้ฝ่ายขนถ่ายสินค้าของศุลกากรตรวจสอบให้แน่ใจเพื่อความรวดเร็วอีกด้วย

ในบางครั้ง เราจะเรียก Packing List ว่า ใบกำกับหีบห่อ หรือ บัญชีรายละเอียดการบรรจุหีบห่อ

Packing List ใช้เมื่อไหร่

Packing List เป็นเอกสารที่ออกโดยผู้ส่งออก และต้องออกเพิ่มเติมคู่กับใบกำกับสินค้า (Commercial Invoice) ทุกครั้งที่การขนส่งสินค้าออกไปต่างประเทศ

 

ทำไมต้องแยก Packing List อีกใบ?

เนื่องจากโดยปกติรายละเอียดใน Commercial Invoice นั้น จะมีเรื่องของราคาสินค้ารวมอยู่ด้วย หากมองในแง่มุมของผู้นำเข้า ที่เราอาจจะไม่อยากให้ผู้ขนถ่ายสินค้าไม่ว่าจะเป็นแผนกคลังสินค้า หรือผู้ให้บริการขนส่งต่างๆ รับรู้เรื่องของต้นทุนสินค้า เราก็ไม่ควรแสดงราคาสินค้าให้ผู้ไม่เกี่ยวข้อง จึงทำให้มีการแยกเอกสารนี้ออกมาอีกฉบับเพื่อความปลอดภัย

หากเราเปรียบ Commercial Invoice เป็นเอกสารการคำนวณภาษีต้นทุนของผู้นำเข้าแล้วนั้น Packing List ก็เปรียบเสมือนใบส่งของอีกใบ ที่แผนกคลังสินค้าจะรับรู้จำนวน หีบห่อ และน้ำหนัก แต่ไม่ควรรู้ราคาต้นทุนสินค้านั่นเอง ฉะนั้นแล้วสิ่งสำคัญที่เราต้องย้ำเสมอคือ ทุกครั้งที่มีการออกเอกสาร Packing List เราไม่ควรใส่ราคาสินค้าในเอกสารนี้เด็ดขาด

Packing List ระบุอะไรบ้าง

  1. ชื่อและที่อยู่ของผู้ขาย (ผู้ส่งออก) และผู้ซื้อ (ผู้นำเข้า)
  2. วันที่ออกใบกำกับหีบห่อ หมายเลขเอกสาร รวมถึงการอ้างอิงหมายเลขคำสั่งซื้อ หรือ สัญญาที่ระบุและตกลงกันไว้ก่อนล่วงหน้า รวมถึงการอ้างอิง Commercial Invoice Number ด้วย
  3. รายละเอียดของสินค้า ชื่อสินค้า (Description)
  4. ปริมาตรสินค้า (Measurement)
  5. น้ำหนักสุทธิ นับเฉพาะตัวสินค้า (Net Weight)
  6. น้ำหนักรวมสินค้าและบรรจุภัณฑ์ (Gross Weight)
  7. จำนวนหีบห่อ (Number of Packages)
  8. เครื่องหมายบนหีบห่อ (Shipping Mark)
  9. ลายเซ็นรับรองโดยผู้ขาย (ผู้ส่งออก) รวมถึงตราประทับบริษัทด้วย

 

ส่วนเทคนิคง่ายๆ สำหรับมือใหม่ในการออกเอกสาร Packing List คือ ท่านสามารถนำ Commercial Invoice ใบเดิมมาแก้ไข โดยคงข้อมูลทุกอย่างไว้ ยกเว้นราคาสินค้า แล้วนำปริมาตรสินค้า น้ำหนักรวม การบรรจุหีบห่อมาใส่ไว้แทน

สำหรับผู้ส่งออกมือใหม่หลายรายมักจะประสบปัญหาในการออกเอกสารนี้ เนื่องจากเป็นเอกสารที่ไม่ค่อยคุ้นเคย และมีเฉพาะในวงการนำเข้าส่งออกเท่านั้น หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเอกสาร ท่านสามารถสอบถามเรามาได้ที่อีเมล intertraderacademy@gmail.com

สำหรับท่านที่ต้องการหาความรู้เพิ่มเติม สามารถดูคอร์สเรียนต่างๆ ของสถาบันได้ที่นี่ คอร์สนำเข้าส่งออก

บทความเกี่ยวข้อง

Leave a Comment