ผู้ประสงค์ส่งออกข้าว พิกัดศุลกากร : 1006.10 1006.20 1006.30
และ 1006.40 (สำหรับข้าวเปลือกและรำข้าวในหลักการไม่อนุญาตให้ส่งออก)
ได้จำแนกการส่งออกข้าวเป็น 3 ประเภท คือ 1) การส่งออกข้าวทั่วไป
2) การส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรป 3) การส่งออกไปต่างประเทศที่มิใช่เพื่อการค้า
1) การส่งออกข้าวทั่วไป
การส่งออกข้าวไปจำหน่ายต่างประเทศ อนุญาตให้ส่งออกโดยไม่จำกัด
จำนวน ทั้งนี้ผู้ส่งออกจะต้องมีคุณสมบัติตามประกาศของคณะกรรมการ
ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติการค้าข้าว พ.ศ. 2489 (ปกข.) กำหนดให้
ผู้ประกอบการฯ ต้องขออนุญาตประกอบการค้าข้าวประเภทค้าข้าวส่งไปจำหน่าย
ต่างประเทศ ที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ก่อนจึงจะทำการค้าข้าวได้
โดยมีคุณสมบัติและเงื่อนไข ดังนี้
กรณีทั่วไป
ผู้ยื่นขออนุญาตต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
➤ เป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชน จำกัด
(1) จดทะเบียนมีวัตถุประสงค์ค้าข้าวส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ
(2) มีโรงเก็บข้าวที่ได้รับอนุญาตจากกรมการค้าภายใน
(3) ต้องมีข้าวสารเป็นกรรมสิทธิ์ (สต็อกข้าว) ไม่น้อยกว่า 500 เมตริกตัน
สำหรับบริษัทซึ่งมีทุนจดทะเบียนไม่เกินยี่สิบล้านบาท และไม่น้อยกว่า
1,000 ตัน สำหรับบริษัทซึ่งมีเงินทุนจดทะเบียนเกินยี่สิบล้านบาทขึ้นไป ภายใน
15 วัน นับแต่วันที่ได้ออกหนังสืออนุญาต และตลอดเวลาที่ได้รับอนุญาตให้
ประกอบการค้าข้าว
กรณีเป็นรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทจำกัดที่ทางราชการหรือรัฐวิสาหกิจ
ร่วมถือหุ้น หรือเป็นสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรต้องจดทะเบียนโดยมีวัตถุประสงค์
ค้าข้าวส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ
กรณีส่งไปจำหน่ายต่างประเทศเฉพาะข้าวสารบรรจุกล่องหรือหีบห่อ
(ขนาดบรรจุไม่เกิน 12 กิโลกรัม) ผู้ยื่นขออนุญาตต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
➤ เป็นบุคคลธรรมดา บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด หรือ
รัฐวิสาหกิจหรือบริษัทที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจมีทุนรวมอยู่ด้วย หรือเป็น
สหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกร
➤ จดทะเบียนมีวัตถุประสงค์ค้าข้าวส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ
เฉพาะข้าวสารบรรจุกล่องหรือหีบห่อที่มีน้ำหนักข้าวสารสุทธิไม่เกิน 12 กิโลกรัม
ต่อกล่องหรือหีบห่อ
กรณีส่งไปจำหน่ายต่างประเทศเฉพาะประเทศที่มีชายแดนติดต่อกับ
ประเทศไทย โดยมีมูลค่าการส่งออกไม่เกินวันละ 5,000,000 บาท (ไม่ต้อง
ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออกข้าว)
➤ เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดชายแดน
ที่ติดต่อกับต่างประเทศ
➤ ต้องจดทะเบียนพาณิชย์หรือจดทะเบียนนิติบุคคลโดยมีวัตถุประสงค์
ค้าข้าวส่งไปจำหน่ายต่างประเทศเฉพาะประเทศที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศไทย
เมื่อกรมการค้าภายในอนุญาตแล้วผู้ส่งออกจะได้รับหนังสืออนุญาต
ให้ประกอบการค้าข้าวประเภทค้าข้าวส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ และต้อง
ดำเนินการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออกข้าว และขออนุญาตส่งออกข้าวต่อกรมการค้า
ต่างประเทศต่อไป
การส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรป
สำหรับการส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรป ต้องอยู่ภายใต้โควตาภาษี
ตามความตกลงระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป เพื่อชดเชยความเสียหาย
อันเนื่องมาจากการขยายสมาชิกภาพและการที่สหภาพยุโรปใช้ราคาอ้างอิง
ในการคำนวณภาษีนำเข้าข้าว โดยตกลงให้ชดเชยด้วยการยกเว้นหรือลดหย่อน
ภาษีสำหรับการนำเข้าข้าวจากประเทศไทย ส่วนที่เพิ่มเติมมีหลักเกณฑ์ เงื่อนไข
และขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้
➤ ต้องดำเนินการตามขั้นตอนการส่งออกข้าวไปจำหน่ายต่างประเทศ
และเพิ่มเติม ดังนี้
➤ ขอรับจัดสรรปริมาณการส่งออก
ปริมาณส่งออกจะจัดสรรให้เฉพาะผู้ที่มีประวัติการส่งออกไป
สหภาพยุโรปตามสัดส่วนโดยใช้ประวัติส่งออกย้อนหลัง 3 ปี โดยปริมาณ
ส่งออกข้าวแต่ละปีและอัตราภาษีนำเข้าสหภาพยุโรปมีดังนี้
– ข้าวขาว (พิกัด 1006.30) จำนวน 21,455 ตัน อัตราภาษี 0
– ข้าวหัก (พิกัด 1006.40) จำนวน 52,000 ตัน อัตราภาษี 45 ยูโร/ตัน
➤ การขอรับหนังสือรับรอง
(1) หลักเกณฑ์
ต้องขอหนังสือรับรองการส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรป (Export
Certificate) เพื่อใช้สำหรับประกอบการขอใบอนุญาตนำเข้า (Import Licenses)
เพื่อสิทธิการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีจากสหภาพยุโรป ตามปริมาณที่ได้รับ
การจัดสรร
(2) เอกสารที่ใช้
– แบบฟอร์ม ยร.3 (คำร้องขอหนังสือรับรองการส่งออก
สินค้าข้าว)
– แบบฟอร์มหนังสือรับรองการส่งออกข้าวที่ส่งไปสหภาพยุโรป
(Export Certificate)
(3) ระยะเวลาดำเนินการ
ไม่เกิน 1 วันทำการ
(4) ค่าธรรมเนียม
กรณีข้าวขาวพิกัด 1006.30 ชำระค่าธรรมเนียมพิเศษในอัตรา
2,500 บาท/ตัน
3) การส่งออกข้าวไปต่างประเทศที่มิใช่เพื่อการค้า
ตามประกาศกรมการค้าต่างประเทศ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการส่งออก
ข้าวออกไปนอกราชอาณาจักร โดยไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อการค้า พ.ศ. 2545 ได้
กำหนดการขออนุญาตส่งออกข้าวไปต่างประเทศที่มิใช่เพื่อการค้าในลักษณะ
ดังต่อไปนี้
➤ การส่งไปเป็นของกำนัล หรือของขวัญหรือเพื่อการกุศล ให้
ขออนุญาตได้ไม่เกินครั้งละ 100 กิโลกรัม
➤ การส่งไปเพื่อใช้บริโภคเองในครอบครัวที่อยู่ต่างประเทศ ให้
ขออนุญาตได้ไม่เกินเดือนละ 100 กิโลกรัม ต่อครอบครัว
➤ การส่งไปให้ข้าราชการไทย ซึ่งประจำอยู่ในต่างประเทศให้
ขออนุญาตได้ไม่เกินเดือนละ 200 กิโลกรัม ต่อครอบครัว
➤ การส่งออกข้าวออกไปนอกราชอาณาจักรนอกเหนือจากกรณี
ตามข้อ 1-3 ให้ผู้ขออนุญาตทำหนังสือชี้แจงเหตุผลความจำเป็นพร้อมแสดง
หลักฐานประกอบเสนอต่อกรมการค้าต่างประเทศเพื่อพิจารณาเป็นกรณีไป
ผู้ประสงค์จะส่งออกข้าวไปต่างประเทศที่มิใช่เพื่อการค้าสามารถ
ยื่นคำร้องขอรับใบอนุญาตที่ สำนักบริการการค้าต่างประเทศ โดยใช้เอกสาร ดังนี้
(1) คำร้องขอรับใบอนุญาตส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร
(เพื่อกิจการของตนเองหรือกิจการที่มิใช่เพื่อการค้า) (แบบ อ.1)
(2) ใบอนุญาตให้ส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร (เพื่อกิจการ
ของตนเองหรือกิจการที่มิใช่เพื่อการค้า) (แบบ อ.2)
(3) เมื่อยื่นคำร้องขอรับใบอนุญาตตาม แบบ อ.1 และ อ.2 แล้ว ทางกรมฯ จะออกใบอนุญาตให้ภายใน 1 วัน โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ซึ่งข้าวที่ส่งออก
ไปต่างประเทศที่มิใช่เพื่อการค้าไม่ต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพข้าวจาก
สำนักงานคณะกรรมการตรวจข้าว
หมายเหตุ ผู้ส่งออกสินค้ามาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยและข้าวขาวชนิด
อื่นๆ ที่มิใช่เพื่อการค้า ปริมาณครั้ง ละไม่เกิน 20 กิโลกรัม ไมต้องขออนุญาตส่งออก
หากมีปริมาณเกินกว่าที่กำหนดต้องขออนุญาตจากกรมการค้าต่างประเทศ
ขอบคุณข้อมูล กรมการค้าต่างประเทศ