ส่งออกเวียดนาม

ส่งออกเวียดนาม

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เราอาจจะได้ยินผ่านหูผ่านตามาบ้างกับข่าวของผู้นำสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ ไปประชุมกันเพื่อตกลงเจรจาด้านการทูตและการทหารที่ประเทศเวียดนาม ข่าวนี้อาจจะสร้างความเซอร์ไพรส์เล็กๆ ว่าทำไมไปประชุมกันที่เวียดนาม ทำไมไม่ใช่ประเทศอื่นๆ รวมถึงไทยแลนด์

เรื่องการเลือกประเทศนั้นมีปัจจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาเกี่ยวข้องด้วยครับ เลยทำให้เวียดนามได้รับเลือก แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือ เวียดนามเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติไปแล้ว ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่มีผลมากๆ ก็คือการค้าและเศรษฐกิจนั่นเอง

ประเทศเวียดนามมีพื้นที่ประมาณ 329,000 ตารางกิโลเมตร มีขนาดประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของไทย (ไทย 513,000 ตร. กม.) แต่มีประชากรมากกว่าไทยเกือบครึ่งเท่า (ไทย 69 ล้านคน เวียดนาม 92 ล้านคน) มีเมืองหลวงชื่อกรุงฮานอย (เวียดนามเหนือ) และมีเมืองเศรษฐกิจสำคัญชื่อว่า โฮจิมินห์ซิตี้ (เวียดนามใต้)

ประชากรเวียดนามมีอยู่ 92 ล้านคน และไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ซึ่งก็มีหลายคนคาดการณ์ว่าในอนาคตน่าจะแตะหลักร้อยล้านคนได้ไม่ยาก ประชากรที่มีร้อยล้านคน แปลว่ามีลูกค้าเยอะมากนะครับ แล้วสัดส่วนประชากรของเค้ามีแต่วัยรุ่นหนุ่มสาวประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์เลย วัยกำลังทำงาน กำลังมีเงิน และกำลังอยากใช้จ่ายเพื่อสร้างตัวพอดีเลย

หากเราจะเข้าไปทำตลาดในเวียดนาม ก็ควรเริ่มจากโฮจิมินห์ก่อนนะครับ เพราะที่นั่นคือศูนย์กลางทุกอย่าง ในขณะที่ฮานอยทางเหนือนั้น จะเน้นไปที่ศูนย์ราชการมากกว่า คนที่โฮจิมินห์มีความทันสมัย เปิดรับกับคนต่างชาติมากกว่า ทั้งเรื่องวัฒนธรรม ภาษา ความเป็นอยู่ และเมืองก็กำลังขยายไปอย่างมากนั่นเอง

ในเมืองโฮจิมินห์ จะมีการแบ่งเขตชั้นในและชั้นนอก ชั้นในจะเรียกว่า District มีตั้งแต่ 1-12 ส่วนชั้นนอกเรียกว่า Quan ประมาณว่าเป็นในเมืองกับชานเมืองครับ ในเมืองก็จะเป็นตลาด ร้านค้า บริษัทต่างๆ ส่วนชานเมืองก็เป็นโรงงานเป็นหลักครับ ตอนผมไปที่นั่น ก็พักในเมืองเพราะสะดวกกว่า และใกล้ตลาดมากกว่า ส่วนวันไหนอยากไปดูโรงงานก็ขี่รถไปต่างเมืองได้เลยครับ

คนที่โฮจิมินห์จะมีมอเตอร์ไซค์เป็นพาหนะคู่กายนะครับ เพราะมันสะดวกและรวดเร็วมาก ถนนหนทางทำมาเอื้อกับการขี่มอเตอร์ไซค์มากกว่าขับรถ ไปไหนมาไหนคล่องตัวดี แต่ว่าการเดินทางค่อนข้างหลงทางได้ง่าย เพราะมีแยกและวงเวียนทั้งเล็กและใหญ่เต็มไปหมดเลย ขี่ไปถ้าไม่ได้ดูดีๆ อ้าว วนกลับมาที่เดิมก็มีครับ

(ขอขอบคุณภาพจากมติชน)

คนที่นี่ใช้ภาษาเวียดนามเป็นภาษาประจำชาติ แต่ว่าเราจะเห็นแต่ตัวอักษรภาษาอังกฤษเต็มไปหมดเลย นั่นเป็นเพราะเค้าใช้ภาษาอังกฤษมาช่วยสะกดให้คำอ่านง่ายขึ้น เช่นคำว่า Trung ไม่ได้อ่านว่าตรัง แต่จะอ่านว่าจรุง หรือชรุง ประมาณนี้นะครับ

อาหารการกินของที่นี่จะนิยมทานผักเป็นหลัก ถ้าใครไม่ค่อยทานผักก็แนะนำไปร้านที่ดูมีภาษาอังกฤษเยอะหน่อยนะครับ ส่วนอาหารที่ไม่ควรพลาดเลยก็คือขนมปังบาเกต (baquette) ที่เป็นขนมปังแข็งๆ แล้วมีไส้ต่างๆ ใส่เข้าไปข้างใน เช่น ไข่ หมู ผัก สลัดทั้งหลาย เป็นอาหารเช้ายอดนิยมของคนที่นี่ และได้รับอิทธิพลมาจากฝรั่งเศส สมัยล่าอาณานิคม

ส่วนอาหารทั่วๆ ไปก็มีเยอะแยะครับ ใครจะกินเฝอ หรือ แหนมเนือง (ไปที่นั่นให้ออกเสียงว่า แหน่มนึ้ง / หน่ำนึ้ง) แล้วจะได้กินนะครับ หรือจะเป็นพวกเปาะเปียะ เส้นหมี่หมูย่าง มีวางขายกันเกลื่อนเลยครับ วัฒนธรรมการกินก็คือนั่งยองๆ กินมันตรงนั้น ได้ฟิลลิ่งอีกแบบดีครับ

ที่เวียดนาม โดยเฉพาะเมืองโฮจิมินห์ เป็นเมืองที่กำลังสร้าง มีลักษณะเหมือนกรุงเทพฯ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ไม่ได้หมายความว่าเค้าล้าหลังนะครับ เค้ากำลังสร้างเมือง เหมือนที่เคยเป็นเมื่อตอนนั้น แต่เรื่องอื่นๆ เค้าก็เจริญไม่แพ้เรามากเลยทีเดียว

เช่น มือถือ ที่นั่นนิยม iPhone มากกกก เพราะว่าประเทศเค้าต้องการทัดเทียม ไม่แพ้ใคร โดยเฉพาะกับประเทศไทย ไม่รู้ทำไม ชอบเอาไทยเป็นเกณฑ์ แล้วพยายามทำทุกอย่างให้เก่งกว่าไทย หรือมีอะไรที่คนไทยมี เค้าก็จะต้องมีให้ได้ และสิ่งนี้แหละครับ เป็นโอกาสทางการตลาดที่เปิดกว้างของคนไทย

สินค้านำเข้าในสายตาคนเวียดนามมีอยู่ 3 เกรด ครับ เกรดสูง ได้แก่ สินค้านำเข้าจากยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น ส่วนเกรดรองลงมาก็มาจากเกาหลี ไต้หวัน ไทย และเกรดล่างก็คือสินค้าจากจีน ท่ามกลางสถานการณ์ว่าคนในเมืองที่กำลังสร้าง ทุกคนมีงานทำ ขยันขันแข็ง และกำลังจะรวยในไม่ช้า คนทำงานทุกคนก็มีหน้าที่ประหยัดเงินให้มากที่สุด อะไรที่ดีและไม่แพงก็ใช้ (ยกเว้น iPhone) อะไรที่เป็นของดี คุณภาพพอรับได้ แต่ราคาไม่แพง จะขายดีมากๆ นั่นเอง

คนเวียดนามแอนตี้และไม่ชอบสินค้าจีนมากๆ เพราะสินค้าจีนมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดี ประกอบกับความรักชาติ หวงแหนธุรกิจตัวเอง เพราะคนจีนเข้ามาแข่งขันทำมาหากินกันเยอะ เลยทำให้เพิ่มความไม่ชอบเข้าไปใหญ่

ในขณะที่ถ้าเป็น สินค้าจากไทย เค้าจะชอบมาก ได้รับการยอมรับอย่างมาก เพราะสินค้าไทยเป็นสินค้าคุณภาพดี แต่ขายในราคาไม่แพง เค้าเอื้อมถึง เช่น อาหาร คนเวียดนามบอกว่าอาหารไทย ขนมไทยอร่อยมาก ถั่วลิสง สาหร่าย หรือ ข้าวเกรียบยี่ห้อดัง ก็มีแฟนคลับจากเวียดนามไม่น้อยเหมือนกัน มากรุงเทพฯ กันทีนึงก็เหมากันกลับไปไม่แพ้ทัวร์จีนเลยนะครับ

เคยมีหนึ่งในลูกค้าของผมบอกว่า เค้าขายของให้คนเวียดนาม โดยการนำเข้าสินค้าจากไทย โดยที่เค้าไม่ทำตลาดว่าเป็นสินค้าเวียดนาม หรือสินค้าจีน เพราะมันขายยาก แต่เค้าทำตลาดด้วยการเป็นสินค้าแบรนด์ไทยแทน ทั้งที่แค่ซื้อวัตถุดิบจากไทย แล้วเอาไปทำแบรนด์เอง เป็นภาษาไทย แต่ขายให้คนเวียดนามด้วยกันเอง อารมณ์เหมือนคนไทย ทำแบรนด์ญี่ปุ่น แล้วขายคนไทยด้วยกันนี่แหละครับ

แต่ที่เจ๋งกว่านั้นคือ คำอธิบายสินค้าของเค้าเป็นภาษาไทย ที่คนไทยอย่างผมก็ยังไม่รู้ความหมาย คือเค้าพิมพ์มั่วๆ ลงไปบนแพ็คเกจน่ะครับ อ่านไม่ออกจริงๆ แต่คนเวียดนามซื้อ เพราะรู้ว่านี่คือภาษาไทย จริงแล้วมันก็คล้ายกับสินค้าแพ็คเกจญี่ปุ่นที่ขายในไทยนะครับ เราเห็นว่ามันคือภาษาญี่ปุ่น แต่เราไม่เคยแปลเลยว่าคืออะไร 555

เขียนมาถึงตรงนี้ คิดว่าพ่อค้าแม่ค้าชาวไทยน่าจะเห็นโอกาสบางอย่างแล้วนะครับ ประชากรก็เยอะ นิยมของไทย ทำไมเราไม่ไปทำตลาดในเวียดนามบ้างละครับ น่าสนใจไม่น้อยเลยจริงๆ

เมืองที่เจริญที่สุดและควรเข้าไปขายมากที่สุดก็คือ เมืองโฮจิมินห์ เพราะเมืองนี้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ เราสามารถเสนอขายกับผู้นำเข้าที่นี่ แล้วไปต่อยอดทางภาคเหนือได้จากเมืองนี้เลยครับ เค้ามีคู่ค้ากันอยู่แล้ว หรือพูดอีกอย่างคือ คนโฮจิมินห์ ก็ไม่อยากให้คนฮานอยไปนำเข้าเอง อยากให้ซื้อของจากเค้ามากกว่า ส่วนคนฮานอย บางครั้งก็กลัวการติดต่อต่างชาติ เลยไม่กล้าไปนำเข้าเอง รอคนโฮจิมินห์ส่งมาให้ดีกว่า

ช่องทางการตลาดเวียดนาม

สองครั้งที่ผมไปโฮจิมินห์ ใช้เวลาห่างกัน 3 ปี ผมพบว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายมหาศาล ครั้งแรกที่ผมไปนั้น ผมไปเดินในตลาดทั้งตลาดสด ตลาดในเมือง และโมเดิร์นเทรด พบว่าคนไปเดินในตลาดสด ตลาดท้องถิ่นเยอะกว่ามากครับ โมเดิร์นเทรดคือร้างเลย

อย่างไรก็ตาม การไปครั้งที่สองของผมนั้น กลับกันไปอย่างสิ้นเชิง โมเดิร์นเทรดคึกคัก ตลาดสดคนเดินลดลงครับ นั่นแปลว่าคนในโฮจิมินห์กำลังปรับเปลี่ยนเข้าสู่การเป็นคนเมืองมากขึ้น นิยมอะไรที่เป็นแบบฉบับคนเมืองมากขึ้นนั่นเอง

ฉะนั้นการเข้าไปขายสินค้าในเวียดนาม ต้องเข้าทั้งสองช่องทางแล้วนะครับ เข้าไปทางใดทางหนึ่งไม่ได้แล้ว มันเสียโอกาสมาก

สินค้าเวียดนาม
ตลาดเบ๊นถั่น

สำหรับตลาดค้าส่ง หรือตลาดท้องถิ่นที่ดังๆ ก็เช่น ตลาดเบ๊นถั่น (Ben Thanh Market) เป็นตลาดที่ใหญ่มาก แต่ไม่ได้ใหญ่ขนาดเดินไม่ไหวนะครับ ถ้าใครเคยไปเดินตลาดไท หรือตลาดสี่มุมเมือง ก็แนวๆ นั้นแต่เล็กกว่าครับ ในตลาดนี้มีสินค้าขายทุกอย่างจิปาถะ เช่น ของกิน ของใช้ ของนำเข้า ของพื้นเมือง ของฝาก ถ้าใครที่นึกไม่ออกจะซื้ออะไร ไปเดินตลาดนี้ก็เพียงพอแล้วครับ

ในส่วนตลาดโมเดิร์นเทรด ก็มีห้าง Big C ไปเปิดสาขาที่นั่นครับ ตอนนี้ผมไม่รู้ว่ามีห้างอะไรอีกบ้าง แต่คิดว่าไปแล้วน่าจะเยอะกว่าตอนนั้นแน่ๆ โดยเฉพาะห้างต่างชาติที่มาจากเกาหลี ญี่ปุ่น อ้อ ลืมบอกไปนะครับว่าคนเกาหลีไปอยู่ที่นั่นเยอะมาก มาทำตลาดอาเซียน มองข้ามไทยไปเลย ไปตั้งที่เวียดนามเลย ทำโรงงาน หาลูกค้าในนั้นที่เดียวเสร็จสรรพ

ช่องทางการขนส่ง
การขนส่งทางเรือ

ช่องทางการขนส่งไปยังเวียดนาม

สำหรับช่องทางการขนส่งจะมีหลักๆ อยู่ 3 ช่องทาง ได้แก่ ทางเรือ ทางรถ และทางเครื่องบิน

ทางเรือ วิ่งจากท่าเรือกรุงเทพ ไปถึงโฮจิมินห์ ใช้เวลาแค่ 3 วันเท่านั้นครับ ส่วนทางรถใช้เวลาไม่เกิน 2 วัน และทางเครื่องบิน ใช้เวลาชั่วโมงเศษๆ เท่านั้นเองครับ

ส่วนใครจะส่งของไปทางไหน อันนี้ต้องไปศึกษาเองนะครับ หรือสามารถแอดไลน์มาปรึกษาผมได้ครับ

เงินต่างประเทศ
เงินยูโร

การชำระเงินส่งออกของลูกค้าเวียดนาม

ถ้าเป็นผู้นำเข้าตัวจริง เค้าก็จะใช้บริการธนาคารอยู่แล้วครับ แล้วธนาคารก็รองรับระบบการโอนเงินระหว่างประเทศอยู่แล้ว ไม่ต้องห่วงครับ สบายใจได้เลย ขอแค่เค้าโอนเงินมาจริง เงินมาถึงเราแน่นอน

สุดท้ายก็อยากให้ผู้ส่งออกที่ยังไม่แน่ใจว่าจะไปตลาดไหน ลองหาช่องทางหรือหาข้อมูลตลาดเวียดนามเป็นตัวเริ่มต้นก็ได้นะครับ วิธีการหาลูกค้า หรือช่องทางในการเข้าหาลูกค้าก็สามารถศึกษาต่อเพิ่มเติมได้ จากข้อมูลทั่วไปหรือจากคอร์สของเรา การชำระเงินระหว่างประเทศ ขอให้ทุกท่านโชคดีกับการทำธุรกิจครับ

สนใจเรียนคอร์สส่งออก อ่านรายละเอียดด้านล่างนี้ได้เลยครับ

คอร์สอบรมนำเข้าส่งออก

Add Line ID @intertrader
Facebook: inter trader academy
Email: intertraderacademy@gmail.com
ลงทะเบียนที่นี่

บทความเกี่ยวข้อง

Leave a Comment