Certificate of Origin (C/O) เอกสารรับรองถิ่นกำเนิด
ผู้นำเข้าส่งออกหรือผู้ให้บริการจะต้องคุ้นเคยกับเอกสารนี้เป็นอย่างดี เพราะเอกสารนี้มักจะใช้อยู่เป็นประจำ และมีการใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้นำเข้าส่งออกต้องเข้าใจ เอกสารรับรองถิ่นกำเนิด ให้มากขึ้นนั่นเอง
เอกสารรับรองถิ่นกำเนิดคืออะไร
ถ้าแปลตามตรงกับชื่อ คือเอกสารที่รับรองว่าสินค้าที่มีการผ่านแดนทั้งนำเข้าหรือส่งออกนั้น มีแหล่งที่มา ผลิตจากประเทศอะไร
ซึ่งในบางครั้งเราลืมนึกถึงลักษณะทั่วไปของการขนส่ง หากสินค้านั้นส่งออกจากท่าเรือประเทศไทย ไม่ได้มีความหมายว่าสินค้านั้นจะเป็นสินค้าที่ผลิตในไทย เพราะอาจมีสินค้าจากบางประเทศเช่น ลาว อาศัยท่าเรือไทยส่งออก หรือ สินค้าจากจีน ขอผ่านแดนไทย ไปขายที่อินโดนีเซีย เป็นต้น
การประทับตรา Made-in-Thailand ลงไป คือการรับรองถิ่นกำเนิดแล้วรึยัง
เมื่อพูดถึงประเด็นนี้ หลายคนคงนึกถึงการพิมพ์หรือประทับตรา Made in Thailand บนสินค้าใช่หรือไม่ คำตอบคือใช่และไม่ใช่
หากเราต้องการบอกว่าสินค้ามาจากประเทศอะไร เราก็ควรประทับตราประเทศนั้นลงไป แต่เราจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าสินค้านั้นมาจากประเทศนั้นจริงๆ คำตอบคือ พิสูจน์จากเอกสารยืนยันว่าผลิตที่ประเทศนั้นจริงๆ นั่นเอง
ประโยชน์ของเอกสารรับถิ่นกำเนิด
การรู้ว่าสินค้านี้มาจากประเทศใดมีประโยชน์อย่างไร หากถามว่ามีประโยชน์อย่างไร มีประโยชน์หลักๆ อยู่ 2 ประการ ได้แก่
1) เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศปลายทาง
ในหลายๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย มีมาตรการคว่ำบาตรทางการค้า หมายถึง การไม่คบค้าสมาคมกับบางประเทศ ด้วยเหตุผลด้านสิทธิมนุษยชน ระบอบการปกครอง การรุกล้ำอธิปไตยประเทศอื่น หรือเหตุผลต่างๆ นานา
ดังนั้นการทราบแหล่งที่มาของสินค้าว่าผลิตจากประเทศใด ก็มีส่วนทำให้การแยกแยะประเทศต้นทางทำได้ง่ายขึ้น
2) เพื่อให้ผู้นำเข้านำไปลดหย่อนภาษีนำเข้าประเทศปลายทาง
ในบางประเทศ รวมทั้งประเทศไทย มีการทำข้อตกลงทางการค้า ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) หรือ ข้อตกลงสิทธิประโยชน์พิเศษ (GSP) เพื่อได้รับลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีสำหรับสินค้าที่เข้าจากประเทศนั้นเป็นกรณีพิเศษ
เพื่อให้การคัดเลือกผู้ได้ลดหย่อนภาษีเป็นเรื่องง่ายขึ้น ประเทศปลายทางมักจะต้องการเอกสารการรับรองถิ่นกำเนิด ประกอบกับการพิจารณาลดหย่อนภาษีอีกด้วย
เอกสารรับรองถิ่นกำเนิด ขอได้ที่ไหนบ้าง
ในการออกเอกสารรับรองถิ่นกำเนิดนั้น โดยทั่วไปในประเทศไทยสามารถออกได้จาก 3 แหล่งหลักๆ ได้แก่
1.กรมการค้าต่างประเทศ
ในการทำข้อตกลงระหว่างประเทศ เรื่องการลดหย่อนภาษีระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศนั้น ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการออกใบรับรองถิ่นกำเนิดคือ กรมการค้าต่างประเทศ โดยเอกสารนี้จะมีผลกับการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีนำเข้าประเทศปลายทางเป็นอย่างมาก เพราะเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่นี้โดยตรง
2.หอการค้าแห่งประเทศไทย
เป็นหน่วยงานเอกชนที่มีเครือข่ายทั่วโลก และเอกชนบางประเทศได้รับความไว้วางใจซึ่งกันและกันเป็นอย่างสูง ทำให้สามารถออกเอกสารรับรองถิ่นกำเนิด โดยให้ปลายทางรับรองตามที่ตกลงกันไว้ก่อนเช่นกัน
3. บริษัทผู้ส่งออก
บริษัทผู้ส่งออก สามารถออกเอกสารภายในบริษัทรับรองเองได้ว่าสินค้านี้มาจากประเทศใด
หมายเหตุ ในการขอลดหย่อนภาษี ควรใช้เอกสารรับรองที่ได้จากหน่วยงานรัฐเท่านั้น ใบรับรองของเอกชน ได้แก่ หอการค้าหรือบริษัทส่งออก ไม่สามารถลดหย่อนภาษีได้
เอกสารรับรองถิ่นกำเนิด มีอะไรบ้าง
โดยหลักๆ จะมีเอกสารสองชนิด ชนิดแรกเรียกว่า เอกสารรับรองทั่วไป (C/O) และเอกสารรับรองแบบมีเงื่อนไข (Form) ดังนี้
1.C/O เอกสารรับรองถิ่นกำเนิดทั่วไป
มักจะใช้กับประเทศปลายทางที่ไม่ได้มีข้อตกลงทางการค้าแบบเจาะจง หรือไม่ได้มีการคุยกันเรื่องข้อตกลงทางการค้าไว้ เป็นการขอเอกสารรับรองเพื่อประโยชน์ในการระบุประเทศต้นทางเท่านั้น
2.Form C/O เพื่อรับรองเฉพาะรายประเทศ
ในปัจจุบันประเทศไทยมีการทำข้อตกลงทางการค้ามากขึ้น เมื่อมีการทำข้อตกลงกันแล้ว ฟอร์ม C/O มักจะมีชื่อเรียกเฉพาะ โดยมีชื่อเรียกดังนี้
Form A – ประเทศกลุ่มที่ให้สิทธิ GSP
Form D – ประเทศไทยกับประเทศในอาเซียนด้วยกัน
Form E – อาเซียน กับ ประเทศจีน
Form AK – อาเซียน กับ เกาหลีใต้
Form JTEPA – ไทย กับ ญี่ปุ่น
นอกจากนี้ยังมีฟอร์มอื่นๆ อีกมาก ซึ่งเราสามารถหาข้อมูลได้จาก ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) และ สิทธิพิเศษทางการค้า (GSP)
สนใจเรียนรู้เรื่องเอกสารเพิ่มเติม เอกสารนำเข้าส่งออก
สนใจคอร์สเรียนเอกสารนำเข้าส่งออก คอร์สเอกสารนำเข้าส่งออก
สนใจเรียนนำเข้าส่งออก ดูคอร์สต่างๆ ได้ที่นี่ครับ