การเคลื่อนย้ายของสินค้าจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่งนั้น มีขั้นตอนมากมาย ยิ่งกว่าการขนส่งในประเทศสุดๆ ครับ ถ้าในประเทศเราแค่ขนของจากโรงงานหรือโกดังไปส่งให้สถานที่ของลูกค้าก็เป็นอันจบ แต่การขนส่งระหว่างประเทศนั้นต้องมีการยกขึ้นลงรถจากโรงงานไปท่าเรือ หรือ ท่าอากาศยาน
จากนั้นก็ต้องผ่านพิธีศุลกากรก่อนจึงจะยกของลงเรือ หรือ ขึ้นเครื่องได้ แล้วขนส่งไปในท้องทะเลหรือท้องฟ้า ระหว่างทางก็ต้องเผชิญกับพายุมรสุมอีก พอไปถึงประเทศปลายทางก็ต้องผ่านพิธีศุลกากรนำเข้า แล้วก็ยกของลงจากเรือหรือเครื่องบินมาขนถ่ายลงรถไปส่งยังผู้นำเข้า
เห็นมั้ยครับ ขั้นตอนเยอะมาก ถ้าเรายังมองภาพไม่ออกว่าการส่งเป็นยังไง เราจะมีโอกาสทำงานผิดพลาดได้ทั้งเรื่องเอกสาร การคิดต้นทุน หรือความเสี่ยงอีกด้วย ทีนี้มาเริ่มจากช่องทางขนส่งก่อนนะครับ
ช่องทางการขนส่งระหว่างประเทศ
มีอยู่ 3 ช่องทาง ได้แก่ 1) ทางเรือ 2) ทางเครื่องบิน 3) ทางรถ ซึ่งแต่ละช่องทางมีข้อดีข้อเสียต่างกันไป เราไปดูแต่ละช่องทางกันครับ
การขนส่งทางเรือ
การขนส่งทางเรือนั้นเป็นช่องทางหลักในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเราจะใช้บริการของสายเรือในการขนส่งสินค้าที่มีน้ำหนักเยอะ หรือ มีขนาดใหญ่ และไม่ต้องเร่งรีบในการขนส่ง เพราะการเดินทางโดยใช้เรือใช้เวลานานมาก แต่เนื่องจากเรือมีขนาดใหญ่ ทำให้การบรรทุกสินค้าได้ทีละเยอะๆ และค่าใช้จ่ายถูกมากเมื่อเทียบกับการขนส่งแบบอื่น
สายเรือแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) Liner คือสายเรือที่มีเส้นทางการเดินเรือตายตัว เปรียบเสมือนรถเมล์ ที่ว่าสายนี้ต้องวิ่งจากที่นึงไปอีกที่นึง มีเวลาแน่นอน เหมือนเรานั่งรถเมล์ เหมาะกับสินค้าที่มีปริมาตรแน่ชัด ไม่ต้องกังวลหากต้องไปปะปนกับสินค้าอื่น
ส่วนอีกประเภทคือ 2) Charter เหมือนเรือรับจ้าง ที่จะรับเฉพาะเส้นทางที่เราต้องการให้ไป เหมือนเราเรียกแท็กซี่นั่นเอง เรือ charter นี้สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทย่อยๆ คือ 2.1) Voyage charter แบบเหมาเที่ยวเดียว 2.2) Time charter เหมาเวลา และ 2.3) Bareboat charter คือแบบเหมาเรือเปล่า
การที่เราจะไปใช้บริการสายเรือได้นั้น ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ อยากจะส่งเราจะติดต่อกับเรือได้โดยตรงนะครับ เนื่องจากเรือมีขนาดใหญ่มาก และคนทำธุรกิจเดินเรือ เค้ามีหน้าที่เดินเรือ ไม่มีเวลามานั่งหาคนเช่า สายเรือจึงหาตัวแทนที่เราเรียกว่า Freight Forwarder เป็นผู้ทำหน้าที่ขายพื้นที่บนเรือให้กับลูกค้าทั่วไปนั่นเอง ซึ่งตัวแทนสายเรือเหล่านี้ก็จะมาหาลูกค้าจากผู้นำเข้าส่งออกอย่างเราๆ นี่ล่ะครับ บางรายก็มีบริการเดินพิธีศุลกากรเป็นชิปปิ้งด้วยเลย เราจะสังเกตว่าสมัยนี้ทุกชิปปิ้งจะเป็นทั้งตัวแทนสายเรือและดำเนินพิธีศุลกากรไปในตัว บริษัทสายเรือก็อย่างเช่น MAERSK, HANJIN ที่เรามักจะเห็นเรือลำใหญ่ๆ น่ะครับ ฉะนั้นแล้วถ้าท่านจะจองพื้นที่ในเรือ อย่าเผลอโทรไปหาสายเรือโดยตรงนะครับ
อ่านเพิ่มเติมที่นี่ การส่งสินค้าทางเรือ
การขนส่งทางเครื่องบิน
การขนส่งทางเครื่องบินก็เป็นที่นิยมไม่แพ้กันนะครับ โดยเฉพาะสมัยนี้ที่ต้องการความรวดเร็วมากขึ้น การส่งของทางเครื่องบินนี้เหมาะกับสินค้าที่มีน้ำหนักเบา มีปริมาตรไม่มากเกินไป และสินค้าที่มีอายุการใช้งานสั้นๆ เช่น ดอกไม้ พืชผัก เป็นต้น แต่ความรวดเร็วก็มีราคานะครับ ส่วนใหญ่การขนส่งทางเครื่องบินจะมีราคาแพงมาก ผมเคยส่งผลไม้ไปทางเครื่องบินเพราะเหตุจำเป็น (ปกติควรส่งทางเรือ) ปรากฏว่าค่าส่งแพงกว่าค่าของอีกครับ
การส่งของผ่านเครื่องบินก็คล้ายๆ กับทางเรือ คือ จะมีการส่งแบบฝากสายการบินไป หรือ เจาะจงเฉพาะสายการบินที่ขนส่งสินค้าเท่านั้น
มาถึงตรงนี้ก็จะมีหลายท่านเกิดความสงสัยว่าแล้วเวลาเราส่งสินค้าผ่านทางไปรษณีย์ไปต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งจะใช้บริการรับส่งสินค้า เช่น DHL, FEDEX พวกนี้ต้องทำขั้นตอนยังไง ต้องขอบอกไว้ตรงนี้เลยครับว่าการส่งผ่าน Courier นั้นไม่เหมือนการส่งออกแบบทั่วไปนะครับ
อ่านเพิ่มเติมที่นี่ ขนส่งทางอากาศ
การขนส่งแบบพิเศษ (Courier)
อย่างที่ทราบกันดีครับว่าการส่งของไปมาระหว่างประเทศนั้นต้องผ่านหลายขั้นตอนมาก แต่ก็มีข้อสงสัยว่าถ้าเราแค่ส่งจดหมายฉบับนึง หรือแค่ของขวัญชิ้นเดียว คงไม่ต้องมาจ้างชิปปิ้งเคลียร์ของ ประกอบกับการส่งของบางอย่างต้องใช้ความเร่งด่วน ศุลกากรทั่วโลกจึงอนุโลมให้มีการขนส่งแบบพิเศษขึ้นมา คือมีการจัดช่องทางพิเศษ มีขั้นตอนการเคลียร์ของนำเข้าโดยเฉพาะ ซึ่งในโลกนี้จะมีแค่ไม่กี่บริษัทที่ได้รับสิทธินี้ ได้แก่ DHL, FEDEX, UPS, USPS, TNT เราอาจจะสงสัยว่าถ้าส่งไปรษณีย์ไทยก็ได้ใช่มั้ย จริงๆ แล้วไปรษณีย์ไทยก็เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ UPS สำหรับการจัดส่งในต่างแดน เป็นต้น
สำหรับการคิดค่าใช้จ่ายนั้น จะมีการคิดค่าใช้จ่ายแบบขนส่งทางอากาศเหมือนสายการบินทั่วๆ ไป แต่อาจจะมีราคาสูงกว่าบ้าง เพราะเค้าให้บริการรวดเร็ว
การขนส่งทางรถ
บางประเทศที่มีพื้นที่ชายแดนติดกัน มีถนนเชื่อมต่อกัน ก็สามารถใช้การขนส่งทางรถได้ เช่น ไทย กับ เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา หรือแม้แต่ไปไกลหน่อยแบบจีนเวียตนามก็ทำได้ การขนส่งทางรถนั้นจะเหมาะกับสินค้าที่มีน้ำหนักมากและปริมาตรใหญ่ เหมือนกับทางเรือ แต่ว่าจะราคาสูงกว่าเนื่องจากขนได้ทีละไม่เยอะมาก อย่างมากก็ 1-2 ตู้ เทียบกับเรือที่ขนได้ทีนึงเป็นพันๆ ตู้ แต่การขนส่งทางรถจะดีกว่าตรงที่ใช้เวลาสั้นกว่ามาก การคิดค่าขนส่งนั้นจะคิดเป็นคิวบิกเมตร หรือ ตามน้ำหนัก ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้าด้วย
การขนส่งแบบเหมาจ่าย (Cargo)
การขนส่งทางรถผ่านชายแดนก็จะต้องมีการผ่านพิธีศุลกากรเช่นกัน แต่หากต้องใช้พิธีการแบบเดียวกับทางเรือหรือเครื่องบิน เราจะต้องแกะออกมาตรวจสอบหรือสแกนทีละคัน ต้องใช้เวลามากและยุ่งยาก ดังนั้น บริษัทขนส่งระหว่างประเทศเลยมีบริการเคลียร์ของผ่านพิธีศุลกากรไปด้วยเลยทีเดียว เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลามาก และก็จะให้เราเหมาจ่ายทั้งค่ารถ ค่าเคลียร์ภาษีขาเข้า หรือภาษีมูลค่าเพิ่มเลยทีเดียว
สนใจคอร์สเรียนนำเข้าส่งออก คลิกที่นี่