พฤติกรรมผู้บริโภคของประเทศอาเซียน

สินค้าไทยนั้นเป็นที่ยอมรับในหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน เนื่องจากมีคุณภาพดี ราคาไม่แพง และภาพลักษณ์ของสินค้าไทยดีมาก รวมถึงภาพลักษณ์ประเทศก็สะท้อนออกมาในสินค้าไทยเช่นกัน ซึ่งปัจจัยนี้ทำให้ตลาดอาเซียนเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงมากสำหรับสินค้าไทย

อย่างไรก็ตาม การนำสินค้าเข้าไปยังแต่ละประเทศนั้น ไม่ใช่ว่าเราจะเอาสินค้าบ้านเราไปขายทั้งอย่างนั้นได้เลย บางประเทศต้องมีการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์สำหรับส่งออกให้เหมาะสมกับสภาพของแต่ละประเทศ  

หากเราสนใจตลาดอาเซียน ลองมาดูกันว่าแต่ละประเทศมีความต้องการอย่างไรกันบ้าง

สิงคโปร์

เป็นประเทศที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง เนื่องจากรายได้ดีที่สุดในกลุ่มอาเซียน ชาวสิงคโปร์มักเลือกสินค้าจากแบรนด์เป็นหลัก ต้องการแบรนด์ที่เชื่อถือได้ มีชื่อเสียงและคุณภาพสูง จะไม่ลองสินค้าที่ไม่มีคุณภาพหรือไม่น่าเชื่อถือเด็ดขาด

รสนิยมของชาวสิงคโปร์นั้น เนื่องจากเป็นประเทศที่ต้องติดต่อกับต่างประเทศตลอดเวลา ทำให้รับวัฒนธรรมจากหลากหลายเชื้อชาติ ซึ่งมีผลให้ชาวสิงคโปร์เปิดรับทุกวัฒนธรรม โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตก ที่มีอิทธิพลมาก โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ทำให้สินค้าต่างๆ โดยเฉพาะสินค้าแฟชั่น ถูกครอบคลุมโดยวัฒนธรรมตะวันตกนั่นเอง

นอกจากแฟชั่นแล้ว ชาวสิงคโปร์ยังใส่ใจในสุขภาพเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพ จึงนิยมการหาผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น อาหารเสริม ยาบำรุงร่างกาย มารับประทาน และยินดีที่จะจ่ายเงิน หากสินค้านั้นมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการได้จริง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการศึกษาสูงจะนิยมบริโภคอาหารออแกนิคมากขึ้นอีกด้วย

บรูไน

บรูไนเป็นประเทศเศรษฐีน้ำมันในย่านอาเซียน ประชากรทั้งประเทศประมาณ 400,000 คน ร่ำรวยมาก ความร่ำรวยต่อประชากรเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ทำให้การจับจ่ายใช้สอยนั้น เน้นไปที่ของมีมูลค่าสูง นิยมสินค้าแบรนด์เนม หรูหราฟุ่มเฟือย และให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้ามาก

อย่างไรก็ตาม แม้จะชอบสินค้ามูลค่าสูง แต่วัฒนธรรมในการนับถือศาสนาอิสลาม ทำให้เกิดข้อจำกัดบางอย่าง ทั้งในเรื่องกฎระเบียบ ข้อห้าม ซึ่งหากเรานำสินค้าไปทำตลาดในบรูไน ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย

ตลาดอาหารเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เห็นภาพชัดที่สุด เนื่องจากประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามนั้น นิยมทานอาหารที่ถูกหลักศาสนา ได้แก่ อาหารฮาลาล และคุณภาพสินค้าต้องได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด

มาเลเซีย

เป็นประเทศมุสลิมในย่านอาเซียนที่มีกฎระเบียบเคร่งครัดมาก ทำให้การกินอาหารต้องใช้ฮาลาลเป็นมาตรฐานอย่างเคร่งครัด ประกอบกับการเป็นประเทศชาตินิยม ทำให้การทำตลาดของสินค้าไทย หากมีความใกล้เคียงกับสินค้าท้องถิ่น จะมีปัญหาในเรื่องขั้นตอนและกฎระเบียบการนำเข้า รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ เรียกง่ายๆ คือถูกกีดกันมากกว่าทั่วไป อย่างไรก็ตาม สินค้าที่คนไทยทำได้ดี หรือที่มาเลเซียก็เป็นที่นิยมในชาวมาเลเซียเช่นกัน

ชาวมาเลเซียนิยมตัดสินใจซื้อสินค้าจากความสะดวกสบายในชีวิต เริ่มนิยมอาหารแปรรูปมากขึ้น สินค้าที่ทำให้ภาพลักษณ์ดูดี สินค้าฟุ่มเฟือย ก็เป็นทีนิยมมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะสินค้าเกี่ยวกับไอทีและการทานอาหารนอกบ้าน โดยรสนิยมของชาวมาเลเซียนั้นหลากหลายตามเชื้อชาติ (มาเลย์ จีน อินเดีย)

พฤติกรรมในการใช้ชีวิตนั้น คล้ายๆ คนไทย มีการทานอาหาร 3 มื้อ และมีของว่างพวกบิสกิตกับน้ำชา นอกจากนี้คนรุ่นใหม่ยังนิยมอาหารที่ให้คุณค่าต่อร่างกาย เช่น อาหารที่มีสารอาหารพิเศษ มากกว่าเดิมอีกด้วย

อินโดนีเซีย

อินโดนีเซียเป็นประเทศมุสลิมเช่นกัน แต่เนื่องจากจำนวนประชากรเยอะมาก และมีความห่างระหว่างรายได้ค่อนข้างสูง ทำให้ตลาดค่อนข้างแบ่งกันชัดเจน โดยผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ยังเน้นการซื้อสินค้าแบบคุ้มค่า เปรียบเทียบราคา หากใครทำตลาดกลุ่มนี้ต้องควบคุมราคาให้ดี

อย่างไรก็ตามชาวอินโดนีเซียนิยมสินค้านำเข้า โดยเฉพาะสินค้าไทย ที่มีภาพลักษณ์ดูดี คุณภาพดี ราคาไม่แพง ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมใช้จ่ายไปกับอาหารมากถึงครึ่งนึงของค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยพฤติกรรมการกินอาหารนั้น นิยมตั้งแต่อาหารสด อาหารแปรรูปที่เริ่มมีมากขึ้น รวมถึงการทานอาหารนอกบ้านอีกด้วย

สำหรับอาหารเกี่ยวกับสุขภาพนั้น เริ่มนิยมมากขึ้น เพราะคนใส่ใจสุขภาพมีจำนวนมากขึ้น แต่ยังมีตลาดที่เล็กอยู่เมื่อเทียบกับอาหารทั่วๆ ไป

ฟิลิปปินส์

ชาวฟิลิปปินส์เป็นประเทศในอาเซียนที่ได้รับวัฒนธรรมจากตะวันตกมากที่สุด เนื่องจากเคยได้รับการปกครองโดยสเปนและสหรัฐอเมริกา ผู้คนส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษได้ และสำเนียงดีด้วย ซึ่งทำให้รสนิยมสินค้านั้นอิงไปทางตะวันตก โดยให้ความสำคัญกับแบรนด์ที่ได้รับความนิยมสูงมาก และยังไม่ค่อยเปลี่ยนแบรนด์บ่อยเท่าไหร่

ตลาดอาหารนั้นถือเป็นตลาดใหญ่เช่นกัน เพราะชาวฟิลิปปินส์นิยมบริโภคอาหารจำนวนมาก (ทานข้าวมากกว่าคนไทย) รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวกับความบันเทิงทั้งหลายก็จะได้รับความนิยมมากเช่นกัน

สำหรับสินค้าความงามนั้นเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่ทำจากธรรมชาติ ด้วยเหตุผลของการรับวัฒนธรรมมาจากสหรัฐอเมริกานั่นเอง

เวียดนาม

ชาวเวียดนามมีความหลากหลายในเรื่องรสนิยมการบริโภค แบ่งตามภูมิประเทศ เพราะการเปิดรับต่างชาติจะอยู่ในระดับต่างกัน มีตั้งแต่ภาคเหนือที่จะชาตินิยม ยึดติดกับแบรนด์ท้องถิ่นหรือแบรนด์ที่เคยซื้อ จะเปลี่ยนแบรนด์ยาก ในขณะที่ทางใต้ จะนิยมของใหม่ ชอบลองของใหม่ การซื้อของเลือกจากการตัดสินใจในช่วงนั้นๆ มากกว่า การมั่นคงต่อแบรนด์ในแบรนด์หนึ่ง

ชาวเวียดนามที่อยู่ในเมือง จะนิยมไลฟ์สไตล์และสินค้าที่เป็นตะวันตกมากขึ้น ธุรกิจอาหาร แฟรนไชส์ ฟาสต์ฟู้ดจะขายดีมากขึ้นเป็นพิเศษ โดยเฉพาะธุรกิจร้านกาแฟ ซึ่งมีขนาดใหญ่มาก

ด้วยความเจริญทางเศรษฐกิจมากขึ้น ทำให้คนเวียดนามนิยมซื้อสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าจากตะวันตก สินค้าไทยก็ยังได้รับความนิยมเช่นกัน โดยมีกลุ่มลูกค้าเฉพาะที่นิยมอาหาร ขนมไทย ในขณะที่บางส่วนก็พยายามทำสินค้าให้มีคุณภาพและรสชาติใกล้เคียงกับไทยมากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >> ส่งออกเวียดนาม

เมียนมาร์ / ลาว / กัมพูชา

กลุ่มประเทศเหล่านี้นิยมสินค้าจากไทยมาก เพราะได้รับอิทธิพลจากสื่อไทย (เหมือนคนไทยชอบดูซีรีส์เกาหลี เลยเปิดรับอาหาร แฟชั่น บันเทิงเกาหลี) ทำให้การทำตลาดสินค้าไทยในกลุ่มประเทศเหล่านี้ทำได้ง่ายกว่าที่อื่น

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าสินค้าทุกตัวจะขายได้ เพราะต้องขึ้นอยู่กับรสนิยม ช่องทาง ภาพลักษณ์ รวมถึงคุณประโยชน์ของสินค้านั้นด้วย

การตัดสินใจซื้อสินค้านั้น เน้นไปที่ความคุ้มค่าเป็นหลัก หากราคาสูงเกินไป จะทำให้การตอบรับไม่ค่อยดี

ติดตามข่าวสารส่งออก

Add Line ID @intertrader
Facebook: inter trader academy
ลงทะเบียนที่นี่

คอร์สเรียนนำเข้าส่งออก

บทความเกี่ยวข้อง

Leave a Comment