ว่ากันว่าหากเราอยากรู้ว่างานของเราจะเป็นอย่างไรในอนาคต ให้มองที่หัวหน้าเรา แล้วถ้าธุรกิจเราจะเป็นแบบไหนในอนาคต ก็ให้มองที่คนทำธุรกิจแบบเดียวกับเรามาก่อน นี่เป็นหลักคิดหนึ่งที่ผมใช้วิเคราะห์ก่อนตัดสินใจ บวกด้วยความชอบในการติดต่อกับต่างประเทศ จึงทำให้เลือกทำธุรกิจส่งออก คำถามคือหลักคิดของผมคืออะไร วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังแบบละเอียดๆ นะครับ
ธุรกิจส่งออกเหมาะกับ SMEs
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อครับว่าธุรกิจส่งออกเหมาะกับธุรกิจรายย่อยพอๆ กับรายใหญ่ ในไทยเราอาจจะเล็ก แต่ถ้าไปต่างประเทศ เราก็ไม่ได้เสียเปรียบอะไรต่อบริษัทใหญ่ๆ มากนัก และสามารถพลิกชีวิตจากไม่มีอะไรเลย กลายเป็นมีมากมายมหาศาลได้อีก
สินค้าบางอย่าง ในไทยเราอาจจะรู้จักว่าเจ้าใหญ่ๆ คือใคร แต่คนต่างประเทศเค้าไม่รู้จักหรอกครับ ถ้ายังไม่เชื่อ ลองดูสินค้าพวกทูน่ากระป๋องเป็นตัวอย่าง สินค้าตัวนี้ในไทยมีแบรนด์ดังๆ ไม่กี่เจ้า แต่ในต่างประเทศ แบรนด์ที่ดังๆ กลับเป็นแบรนด์ที่หน้าตาบ้านๆ ธรรมดาของ SMEs ไทยนี่แหละครับ และมีอีกหลายๆ ธุรกิจที่เป็นแบบนี้ และที่สำคัญกว่านั้น ยังมีช่องว่างให้ทำตลาดอีกเพียบเลยนะครับ
มีคนช่วยเหลือเยอะ ทั้งภาครัฐและธนาคาร
การส่งออกคือหนึ่งในธุรกิจสำคัญของไทย เป็นตัวกระตุ้นและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจชั้นดีของไทยเลยครับ และในเมื่อมันสำคัญ ภาครัฐและธนาคารก็ให้ความสำคัญ มีการส่งเสริมมากมายทั้งโครงการต่างๆ การส่งข้าราชการไปประจำต่างประเทศเพื่อการค้าโดยเฉพาะ การจัดตั้งสมาคมต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเต็มที่ เห็นมั้ยครับ มีคนช่วยเหลือเยอะมาก ครั้งแรกที่ผมได้เข้าไปอยู่ในวงการความช่วยเหลือของรัฐ ถึงกับตกใจว่า โอ้โห ทำไมรัฐช่วยดีอย่างงี้ แต่ทำไมคนรู้น้อยจัง ฉะนั้นถ้าเราสนใจจะเริ่ม ไม่ต้องกลัวครับ คุณไม่มีวันเดินเดียวดาย
ได้เปิดประสบการณ์โลกกว้าง
การทำธุรกิจในต่างแดน ก็เหมือนการไปเปิดโลก เปิดสมองของเรา ได้เห็นอะไรที่ไม่เคยเห็น และไม่คิดว่าจะเห็น ได้เจอกับอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ทำให้รู้สึกว่าโลกนี้น่าอยู่ แม้บางครั้งผมก็แอบคิดว่าอยู่เมืองไทยสบายสุดแล้วจริงๆ
ธุรกิจส่งออกเก็บเงินง่ายดี
คุณอาจจะเซอร์ไพรส์เล็กๆ ว่าธุรกิจส่งออกนั้น ลูกค้าอยู่ห่างไกล ทำไมถึงเก็บเงินง่ายจัง จริงๆ แล้วคำว่าง่าย ไม่ได้หมายถึงเราเดินไปเก็บได้เลยหรอกครับ เพราะว่ามันยากนี่แหละ เลยมีคนสนใจเยอะ และคิดวิธีต่างๆ นานาเพื่อมาลดความเสี่ยงให้ทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้าครับ จริงแล้วมันก็ยากมาตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว เพียงแต่ว่ามันมีกลไกลบางอย่างที่ช่วยลดความเสี่ยงให้เราได้มากมาย เช่น การเปิด L/C การเก็บเงินล่วงหน้า การให้ธนาคารช่วยการันตี เป็นต้น
ในทางกลับกัน ถ้าคุณทำธุรกิจค้าขายในประเทศแบบปกติ หากลูกค้าเบี้ยวหนี้เรา คนตามหนี้ก็มีแค่เรา ไม่มีคนช่วยนะครับ ฉะนั้นผมมองว่าส่งออกเก็บเงินได้ง่ายกว่า
ธุรกิจส่งออกมีตลาดกว้างมาก
ลองนึกถึงลูกค้าหนึ่งประเทศ เช่น ถ้าเราขายสินค้าในไทย แล้วมีลูกค้าซื้อของเราประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนประชากรไทย ก็ประมาณ 6 แสนคน แค่นี้เราก็พอแล้วครับ
แล้วถ้าเกิดว่าเราไปขายได้อีกประเทศล่ะ มีประชากรพอๆ กับไทย นั่นเท่ากับเรากำลังเพิ่มมูลค่าธุรกิจเป็นทวีคูณเลยนะครับ บางคนอาจจะแย้งว่ามีตลาดมากกว่าหนึ่งที่ก็ดีหรอก แต่ไปทำงานสองประเทศก็ต้องเหนื่อยสองเท่า ผมมีข้อเสนอแนะในข้อถัดไปครับ
ไม่ต้องติดต่อกับลูกค้าเยอะ
ในการส่งออกสินค้าไปแต่ละประเทศนั้น เราไม่จำเป็นต้องติดต่อลูกค้าเยอะ เพราะว่าเราจะต้องหาตัวแทน (Agent) ของแต่ละประเทศเพื่อให้เค้าทำตลาดให้กับสินค้าเรา และทางเลือกที่ดีที่สุดคือการให้คนท้องถิ่นทำตลาดให้ ลองนึกภาพบริษัทน้ำดำที่มาทำตลาดในไทยเป็นเวลานาน เค้าก็ไม่ได้มากระจายสินค้าเอง หรือนำเสนอสินค้าเอง เค้าก็จ้างบริษัทตัวแทนจำหน่าย (Distributor) ในไทยนี่แหละ ให้ช่วยทำตลาดให้ เพราะไม่มีใครรู้ตลาดดีไปกว่าคนท้องถิ่นตัวเอง
และในเมื่อเราต้องทำงานเฉพาะกับตัวแทนจำหน่าย งานเราก็น้อยลง เพราะให้ตัวแทนรับผิดชอบเอง (ข้อเสียก็มีนะครับ) ทำให้เราเอาเวลาไปโฟกัสกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงการขยายตลาดไปอีกหลายๆ ประเทศได้ด้วย
ในบริษัทไทยหลายๆ แห่ง ที่ขายของเข้าห้างโมเดิร์นเทรด มีเซลล์หนึ่งคนต่อหนึ่งห้าง แต่ในการส่งออก เซลล์หนึ่งคนสามารถดูแลลูกค้าได้หลายประเทศเลยนะครับ
มีเวลาว่างทำอย่างอื่นได้
ต่อจากข้อที่แล้ว การทำส่งออกก็ไม่ได้ว่างขนาดนั้นหรอกครับ แต่ว่าเราสามารถบริหารจัดการเวลาได้ ในกรณีที่เรานำงานบางอย่างที่ไม่ได้สำคัญกับธุรกิจไปให้คนอื่นทำ (Outsource) เช่น การทำบัญชี การขนส่ง หรือการผลิต เป็นต้น หน้าที่เราก็คือการหาสินค้า หาลูกค้า และจัดส่งให้ตรงที่ลูกค้าต้องการ รวมถึงการทำตลาดให้ลูกค้าเราด้วยครับ เห็นมั้ยครับ งานไม่ค่อยเยอะเลย
คู่แข่งที่เป็นคนไทยน้อยมาก
เมื่อคุณขายของในประเทศ คุณจะเจอความโหดร้ายของพ่อค้าแม่ค้าไทย เลียนแบบเก่งมาก ตัดราคาเก่งมาก นึกอะไรไม่ออก ลดราคาไว้ก่อน ซึ่งแตกต่างจากคู่แข่งหลายๆ ประเทศ ถ้าคู่แข่งขายเท่านี้ เค้าจะไม่อยากขายน้อยกว่า เพราะกลัวได้กำไรน้อยกว่า แต่ใช้วิธีเพิ่มมูลค่าให้สินค้าแทน โอเค ราคาเท่าเดิม กำไรเท่าเดิม แต่มีประโยชน์มากกว่าเดิม ฉันทำได้นะ เธอสนรึเปล่า
แต่เมื่อเราออกไปต่างประเทศแล้ว เราแทบจะนับจำนวนคู่แข่งเราได้เลยว่ามีแค่หยิบมือเดียว เพราะคนไทยโดยส่วนใหญ่ อยากทำส่งออก แต่ไม่เคยเริ่ม ไม่เคยศึกษา และไม่เคยลงมือทำจริงจัง เพราะประเทศเราก็มีตลาดอยู่พอสมควร หรือบางคนก็ติดความสบาย จะไปเหนื่อยต่างประเทศทำไม ขายในไทยก็พอแล้ว ในขณะที่ต่างประเทศ เวลาเค้าคิดเรื่องธุรกิจ เค้าจะคิดตลาดทั้งในและต่างประเทศ โตไปพร้อมๆ กัน
ผมมองว่านี่คือข้อดีมากๆ ของผู้ส่งออกไทย หรือผู้ที่สนใจทำธุรกิจส่งออก หากเราได้เรียนรู้ หาวิธีการทำส่งออกให้ได้ผลแล้ว ตลาดมหาศาลกำลังรอเราอยู่นะครับ
สำหรับผู้ที่สนใจจริงจังตั้งใจ ก็ขอให้เริ่มจากการหาความรู้ก่อนได้เลยครับ เรียนจากที่ไหนก็ได้ที่ผู้สอนมีประสบการณ์และแนวคิดที่เหมาะสม ซึ่งสถาบันเราก็มีคอร์สเปิดให้เรียนนะครับ เหมาะกับมือใหม่ที่ไม่รู้อะไรเลย รวมถึงคนที่อยากเริ่มต้นแบบเป็นเร็ว หรือบางคนที่เคยมาเรียนก็คือคนที่กำลังจะส่งออกแล้วก็มีครับ