วิกฤตต้มยำกุ้ง
วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ซึ่งทำให้เงินบาทของไทย ที่เดิมใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบ Fixed Exchange Rate (Pegged) มาเป็นแบบลอยตัว (Float Exchange Rate) และทำให้ค่าเงินของไทยขยับจาก 25 บาท ต่อดอลล่าร์สหรัฐมาเป็น 55 บาท ในช่วงไม่กี่วัน
สถานการณ์ตอนนั้นทำให้ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจในทันที ค่าเงินบาทลอยตัวทำให้เงินคงคลังในแบงค์ชาติลดลงอย่างรวดเร็ว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์พังอย่างราบคาบ และส่งผลกระทบเศรษฐกิจฟองสบู่แตกลามไปหลายประเทศทั่วโลก เช่น อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ทำให้วิกฤตเศรษฐกิจนี้ถูกขนานนามว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” หรือ Tomyumkung Crisis ที่เกิดขึ้นมาจากในไทยเป็นที่แรกนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ ก็มีธุรกิจของไทยบางอย่าง สร้างโอกาสเติบโตได้อย่างมหาศาล และช่วยให้ประเทศไทยรอดพ้นวิกฤต นั่นก็คือ ธุรกิจส่งออก
เราอาจสงสัยว่า ธุรกิจส่งออก มีโอกาสอย่างไร แล้วส่งผลกระทบกับไทยอย่างไร เรื่องราวจะเป็นอย่างไร เราไปอ่านกันครับ
ก่อนอื่นขอย้ำว่านี่คือเรื่องเล่าจากประสบการณ์ตรงของผู้ที่เกิดในสมัยนั้น แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจโดยตรง แต่ก็รับฟังข้อมูลข่าวสารแล้วนำมาเล่าในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ซึ่งอาจจะไม่ได้ครอบคลุมทุกแง่มุม หากท่านผู้อ่านมีข้อมูลเพิ่มเติมที่เป็นประโยชน์ สามารถมาแบ่งปันกันได้ครับ
เรื่องที่หนี่ง ทำความเข้าใจกับอัตราแลกเปลี่ยน
ในสมัยก่อน ค่าเงินบาทของประเทศไทย (THB) ใช้ระบบค่าเงินแบบกำหนดตายตัว (Pegged Exchange Rate) ซึ่งก็คือการกำหนดค่าเงินของเราไว้กับสินทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งในขณะนั้นคือ ดอลล่าร์สหรัฐ (USD) โดยในขณะนั้น 1 เหรียญ เท่ากับ 25 บาท คำว่า 25 บาท นี้ อาจจะไม่ได้เป๊ะๆ ที่ 25.00 บาท จะมีเหลื่อมล้ำบ้างระดับสตางค์ แต่จะยึด 25 บาทเป็นหลัก
อย่างที่เราทราบกันว่า หากค่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบเงินต่างประเทศ เช่น USD ผู้ส่งออกก็จะไม่ชอบใจเพราะ เงินบาทแข็งค่าแปลว่าจะได้เงินรายได้ลดลงเวลาแลกกลับมาเป็นเงินไทย เช่น USD 1 = THB 25 เปลี่ยนเป็น USD 1 = THB 24 (ตัวเลขน้อยลงแปลว่าแข็งค่านะครับ) ซึ่งถ้าค่าเงินบาทแข็งค่านี้ ผู้ส่งออกเสียใจ แต่ผู้นำเข้าดีใจ เพราะซื้อของจากต่างประเทศได้ถูกลง
ในทางกลับกัน หากค่าเงินบาทอ่อน ก็แปลว่าผู้ส่งออกจะได้เงินเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผู้นำเข้าจะซื้อของแพงขึ้นนั่นเอง USD 1 = THB 25 เปลี่ยนเป็น 26 บาท ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น
อ่านเพิ่มเติม อัตราแลกเปลี่ยน
เรื่องที่สอง อัตราดอกเบี้ยและเศรษฐกิจ
อัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้ มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจเสมอ ถ้าให้นึกถึงหลักการง่ายๆ คือ หากธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงค์ชาติ) ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็จะใช้นโยบายลดดอกเบี้ยเงินฝาก เมื่อดอกเบี้ยเงินฝากลดลง ดอกเบี้ยเงินกู้ก็ลดลงด้วย ประชาชนที่มีเงินฝาก ก็จะรู้สึกว่าได้ดอกเบี้ยน้อยลง เลยลดการออมแล้วนำเงินมาลงทุนหรือทำธุรกิจแทน ทำให้เกิดการจ้างงาน เกิดเศรษฐกิจใหม่ๆ ขึ้น เช่น เปิดร้านหมูกระทะ เป็นต้น
ในทางกลับกันหากต้องการชะลอเศรษฐกิจ ก็แค่ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก เงินกู้ ทำให้คนลดการลงทุนลง แล้วนำมาเก็บสะสมไว้ การจ้างงาน การสร้างธุรกิจก็จะลดลง ชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจที่เร็วเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดเงินเฟ้อได้นั่นเอง
ถ้าถามว่าปัจจุบันดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์คือเท่าไหร่ คำตอบคือ 0.25 สตางค์ หรือ 1 สลึง แปลว่าฝากเงิน 100 บาท สิ้นปีได้ดอกเบี้ยกลับมาแค่ 0.25 สตางค์ เหรียญสลึงเหรียญเดียว ดอกเบี้ยต่ำมาก แปลเป็นนัยว่าแบงค์ชาติกำลังทำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่นั่นเอง
เรื่องที่สาม กำไรของธุรกิจและการกู้เงินแบงค์
ในขณะที่สมัยก่อนปี 2540 ตอนนั้นเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างมาก แบงค์ชาติก็พยายามชะลอการลงทุนเพราะกลัวเงินเฟ้อเกินไปด้วยการเพิ่มดอกเบี้ย ถ้าเราจำกันไม่ผิด ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ตอนนั้นอยู่ที่ร้อยละ 5 ฝากประจำร้อยละ 13 ดอกเบี้ยเงินฝากดีมากเลย จนมีคำกล่าวในสมัยนั้นว่า ถ้าอยากสบาย ให้หาเงินเยอะๆ แล้วมาฝากเงินกินดอกเบี้ยแบงค์ (แต่สมัยนี้ไม่มีแล้ว)
อย่างไรก็ตาม การขึ้นดอกเบี้ยสูงขนาดนั้น ไม่ได้ทำให้คนไทยหยุดการลงทุนเลยสักนิด ยังคงมีการลงทุนต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจดีมาก ลูกค้าของแบงค์ก็คือนักธุรกิจ นักลงทุน ถ้าแบงค์ต้องรับฝากเงินจากประชาชนทั่วไปร้อยละ 13 บาท แปลว่าแบงค์ต้องปล่อยกู้ให้ได้ดอกเบี้ยมากกว่าร้อยละ 13 สมมติว่าดอกเงินกู้คือร้อยละ 20
คำถามน่าสนใจคือ ธุรกิจอะไรบ้างที่ทำให้หาเงินมาพอที่จะได้ใช้ดอกเบี้ยแบงค์ร้อยละ 20 บาทต่อปีได้ บางธุรกิจอาจทำได้ แต่ส่วนใหญ่มันไม่ใช่ธุรกิจปกติ เพราะมันคือการเก็งกำไรนั่นเอง
ถ้าจำไม่ผิด ในสมัยนั้นนิยมทำบ้านจัดสรรกันเยอะมาก ซื้อที่ดินมาแปลงหนึ่ง ปลูกบ้านจัดสรรพร้อมขายในอีก 6 เดือน ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว คนที่ทำมาหากินได้ก็นิยมนำเงินมาลงทุนต่อ โดยเฉพาะทำบ้านจัดสรรเพราะมันกำไรดีจากค่าเงินนั่นเอง
เมื่อใครๆ ก็ทำเงินได้ง่าย ทุกคนก็อยากจะกู้แบงค์ แต่สถานการณ์ตอนนั้นเงินที่แบงค์ไม่พอให้กู้ แบงค์ชาติจึงออกนโยบายไปกู้เงินจากต่างประเทศได้ และแน่นอนว่าเงินกู้จากต่างประเทศที่พัฒนาแล้วก็ย่อมปล่อยดอกเบี้ยถูกกว่าของไทย ทำให้คนไทยนิยมกู้จากต่างประเทศมากขึ้น
เรื่องที่สี่ รวยแล้วเอาเงินทำอะไรดี
ถ้าเราอยู่ในสถานการณ์ที่เงินหามาได้ด้วยความง่ายดาย เราจะทำอะไรครับ โดยธรรมชาติของคน อะไรที่หามาง่าย ก็จะออกไปง่าย เงินก็เช่นกัน เมื่อเงินหาง่าย ก็ออกง่าย ออกไปกับสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งในสมัยนั้นสินค้าฟุ่มเฟือยคือสินค้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าแบรนด์เนม เสื้อผ้า เครื่องสำอาง ฯลฯ ทำให้สมัยนั้นประเทศไทย นำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่การส่งออกกลับนิ่ง เพราะว่าใครๆ ก็สนใจแต่จะทำธุรกิจในประเทศไทย เพราะเงินหาง่ายนั่นเอง
เรื่องที่ห้า การบริหารอัตราแลกเปลี่ยนแบบตายตัว
ถ้ายังจำเรื่องแรกกันได้ ประเทศไทยกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนแบบตายตัว ซึ่งมันไม่ได้สะท้อนค่าเงินที่แท้จริง ลองนึกภาพว่าประเทศไทยตอนนั้นต้องนำเข้ามากกว่าส่งออกแน่นอน เมื่อนำเข้ามากกว่าส่งออก แปลว่าในตลาดการเงิน คนไทยต้องการเงินต่างประเทศมากกว่าคนต่างประเทศต้องการเงินไทย ค่าเงินของไทยจึงอ่อนค่าลง
อย่างไรก็ตาม จากนโยบายกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนตายตัว ทำให้มันยังคงที่ 25 บาท ต่อ หนึ่งเหรียญสหรัฐฯ
คำถามคือทำได้ยังไง
วิธีการคือ ให้สมมติว่าเงินบาทไทยอยู่ในตุ่มสองใบ ใบแรกเงินในตลาดโลก ส่วนตุ่มใบที่สองคือ คือเงินในกระเป๋าเรา คือเงินในคลังแบงค์ชาติ
ตุ่มใบแรกคือเงินในตลาดโลก ถ้าประเทศไหนส่งออกเยอะๆ ก็จะมีคนอยากได้เงินของประเทศนั้นๆ เพื่อเอามาจ่ายเงินให้กับผู้ส่งออก ทำให้เงินในตุ่มนี้ลดลง และเมื่ออะไรที่มีจำนวนลดลง มูลค่ามันก็มากขึ้น ทำให้ค่าเงินแข็งขึ้นนั่นเอง
ในทางกลับกัน ถ้าประเทศไหนนำเข้าเยอะ ในตุ่มนั้นก็มีเงินสกุลนั้นๆ เททิ้งเรี่ยราดเยอะ เพราะไม่มีใครอยากได้ ซึ่งเมื่อจำนวนเงินเยอะขึ้น ค่าเงินนั้นก็อ่อนค่าลงนั่นเอง
เงินบาทขณะนั้นอยู่ในสถานการณ์ที่สอง เพราะเรานำเข้ามากกว่าส่งออก ไม่ค่อยมีใครอยากได้เงินบาท ทำให้มีเงินบาทเป็นจำนวนมากอยู่ในตุ่มนี้
จำได้มั้ยครับว่าเป้าหมายของค่าเงินเราคือ 25 บาท ซึ่งการนำเข้าทำให้ค่าเงินมันอ่อนกว่า 25 บาทแน่ๆ แต่มันยังเป็น 25 บาทได้เพราะว่าแบงค์ชาติสมัยนั้น ใช้วิธีเอาเงินต่างประเทศในคลังตัวเอง (ตุ่มใบที่สอง) ไปซื้อเงินบาทจากตลาดโลก (ตุ่มใบที่หนึ่ง) กลับเข้ามา เพื่อให้จำนวนเงินบาทในตุ่มใบแรก มีน้อยลงและค่าเงินกลับไปอยู่ที่ 25 บาทเหมือนเดิมนั่นเอง
จนกระทั่งวันหนึ่ง เงินในคลังของไทยแทบไม่เหลือแล้ว แบงค์ชาติเลยบอกว่าจะไม่พยุงค่าเงินแล้วนะ ขออนุญาตปล่อยลอยตัว ทำให้ค่าเงินในตอนนั้นสะท้อนภาพที่แท้จริง และหลุดจาก 25 บาท ไปเป็น 55 บาทในที่สุด
กรณีถ้าพูดให้เห็นภาพ หากมีน้ำรั่วจากในตุ่ม สิ่งที่เราควรทำคือเอาอะไรมาอุด แต่การเติมเงินต่างประเทศในกระเป๋าตัวเองเข้าไปในตลาดโลก ก็เหมือนการไม่อุดรูรั่ว แต่ตักน้ำเติมตลอดเวลา นั่นทำให้หมดแรงและหมดเงิน จนต้องประกาศลอยตัวค่าเงินนั่นเอง
เรื่องที่หก ลอยตัวค่าเงินแล้วเกิดอะไรขึ้น
เมื่อลอยตัวค่าเงินแล้วจาก 25 บาท เป็น 55 บาท สิ่งที่เกิดขึ้นก็คืออะไรที่เคยซื้อจากต่างประเทศ ราคาก็เพิ่มขึ้นเป็นอีกเท่าตัว จำได้มั้ยครับว่าเราทำอะไรบ้าง มีนักธุรกิจกู้เงินจากต่างประเทศ สมมติว่ากู้มาร้อยละ 15 ก็จะต้องคืนร้อยละ 30 เมื่อต้นทุนสูงขึ้นเท่าตัว ก็ต้องรีบขายบ้าน ลดราคากัน เพื่อเอาเงินไปโปะหนี้ พอคนนึ่งลดอีกคนก็ลดราคาตาม ทำให้ราคาบ้านตกทันที
เท่านั้นยังไม่พอ การลดคนก็เป็นการลดต้นทุนด้วยอย่างหนึ่ง พนักงานก็เลยโดนปลดออกจากตำแหน่งกันเยอะแยะ พอคนไม่มีเงินก็ไม่มีกำลังซื้อบ้าน รถ ก็ขายไม่ได้ สุดท้ายก็โดนยึด พอของขายไม่ได้ ธุรกิจก็ไปต่อไม่ได้ พอไม่ไหวก็ต้องล้มลายไป และเมื่อคนนึงล้ม อีกคนก็ล้มตามไป นั่นทำให้เกิดฟองสบู่แตกนั่นเอง
เรื่องที่เจ็ด ทำยังไงต่อละทีนี้
ประเทศไทยก็เลยต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยการกู้เงินจากธนาคารระหว่างประเทศ (IMF) และเมื่อกู้มาได้ เค้าไม่ได้ให้เงินกับดอกเบี้ยมาอย่างเดียว IMF มีเงื่อนไขให้ประเทศไทยต้องเปิดกฎระเบียบหลายๆ อย่าง ซึ่งถูกเอาเปรียบแน่นอน แต่เราไม่มีทางเลือกมากนักก็ต้องยอมในบางเรื่อง (แต่ไม่ใช่ทุกเรื่อง) สถานภาพตอนนั้นคือเป็นประเทศไทยเป็นลูกหนี้ธนาคาร ทำให้ค่อนข้างอับอายพอสมควร
จากนั้นเมื่อกู้เงินมาได้แล้วก็ต้องมาหาวิธีใช้หนี้ ทำให้เงินงอกเงย รวมถึงแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สิ่งที่ต้องทำเป็นอย่างแรกในตอนนั้นก็คือลดการนำเข้า เน้นการบริโภคในประเทศ จนมีคำขวัญที่ว่า “ไทยช่วยไทย กินของไทย ใช้ของไทย เที่ยวเมืองไทย ร่วมใจประหยัด” อะไรที่เป็นของนอก ก็จะไม่ได้รับการยอมรับเท่าไหร่
การทำแบบนี้มีสองเหตุผลครับ
หนึ่ง การที่คนไทยซื้อของไทย ทำให้คนไทยมีรายได้มากขึ้น เมื่อมีรายได้มากขึ้น ก็เสียภาษีได้มากขึ้น ทำให้รัฐรีบเอาเงินไปใช้หนี้ได้เร็วขึ้นนั่นเอง
สอง การส่งเสริมการส่งออก ให้สินค้าไทยส่งไปขายต่างประเทศมากขึ้น เพราะหากส่งออกมากขึ้น ค่าเงินก็แข็งค่าขึ้น ทำให้เราจ่ายดอกเบี้ย IMF รวมถึงใช้หนี้ต่างประเทศน้อยลง
เรื่องที่แปด ที่มาของการเติบโตของธุรกิจส่งออก
อีกเหตุผลหนึ่งที่การส่งออกสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วก็คือ การที่ค่าเงินบาทอ่อนนั่นเอง ผู้เขียนเคยไปเป็นนักศึกษาฝึกงานสมัยนั้น ไปออกบูธที่เมืองทอง มีฝรั่งมาดูของที่บูธแล้วก็เขียนใบสั่งซื้อมูลค่าเป็นล้านๆ บาทตรงนั้นเลย นั่นเพราะเงินบาทไทยตอนนั้นอ่อนค่า ทำให้สินค้าไทยราคาถูกนั่นเอง
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ธุรกิจในไทยส่วนใหญ่จึงหันมาผลิตสินค้าเพื่อส่งออกต่างประเทศ อาศัยจังหวะที่ค่าเงินถูก และคนในประเทศไม่ค่อยมีกำลังซื้อ เน้นการผลิตเพื่อส่งออก ทำให้ยอดส่งออกสูงขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นค่าเงินบาทก็แข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึง 40 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้นยังไม่พอ สามารถแข็งค่าขึ้นได้อีกจนถึง 35 เหรียญด้วยซ้ำ
นอกจากปัจจัยทางเศรษฐกิจแล้วยังมีปัจจัยการเข้าร่วมองค์การการค้าระหว่างประเทศ (WTO) ทำให้สินค้าไทยได้รับการลดกำแพงภาษีจากประเทศสมาชิก และไทยก็ได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมนี้เต็มๆ
การส่งออกช่วยชาติจริงๆ
หากประเทศไทยพึ่งพาแต่ธุรกิจในประเทศเพียงอย่างเดียว ผมค่อนข้างมั่นใจว่าเศรษฐกิจจะไม่รอด เพราะโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ พึ่งพากำลังซื้อจากต่างประเทศมากพอสมควร โดยเฉพาะการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นสัดส่วนของ GDP มากถึงร้อยละ 70 เลยทีเดียว
ดังนั้น ผู้เขียนขอเชิญชวนให้คนไทย นักธุรกิจไทย ที่ยังขายสินค้าเฉพาะในประเทศ เจอปัญหาการแข่งขันสูง ลูกค้าน้อย กำลังซื้อไม่ค่อยมี คู่แข่งตัดราคา อยากให้ท่านลองหันมามองธุรกิจนี้ดูบ้าง แล้วจะพบว่าน่านน้ำสีครามนั้นมีจริง
สนใจคอร์สเรียนนำเข้าส่งออก คลิกที่นี่