ช่องทางการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ
สำหรับมือใหม่ที่ยังสงสัยหรือไม่แน่ใจว่า การส่งสินค้าจากไทยไปยังต่างประเทศนั้น มีช่องทางไหนบ้าง วันนี้เรามาอ่านบทความนี้เพื่อเข้าใจช่องทางทั้งหมดกันครับ
แบบที่ 1 การส่งออกรูปแบบปกติทั่วไป
การส่งออกรูปแบบนี้เป็นเศรษฐกิจหลักของประเทศไทย เนื่องจากนิยมส่งสินค้าออกเป็นล็อตใหญ่ เช่น บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ หรือวางบนพาเลท หรือมีจำนวนหลายๆ กล่องในครั้งเดียว หรือมากหน่อยก็เหมาเรือเป็นลำ หรือเหมาคันรถไปเลยก็มี ซึ่งยอดขายก็มีจำนวนมากพอสมควร
การส่งออกรูปแบบนี้สินค้าที่ถูกผลิตในประเทศไทย จะถูกส่งออกผ่านท่าที่สนามบิน ไม่ว่าจะเป็นทางรถ ทางเรือ หรือเครื่องบิน โดยในแต่ละจุดนั้น จะมีด่านศุลกากรประจำอยู่ในแต่ละด่าน การส่งสินค้าต้องใช้เอกสารที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็น และเมื่อผ่านด่านก็จะได้เอกสารรับรองการนำสินค้าออกนอกราชอาณาจักร คือ ใบขนสินค้าขาออก ซึ่งถือว่าเป็นเอกสารสำคัญในการดำเนินพิธีศุลกากรนั่นเอง
ซึ่งผู้ส่งออกควรเป็นการดำเนินธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล เช่น บริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด (ทำในรูปแบบบริษัทจะสะดวกกว่า) โดยมีการจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกที่กรมศุลกากรก่อน จากนั้นค่อยดำเนินการส่งสินค้าออกนอกประเทศได้ โดยการดำเนินพิธีศุลกากรผ่านบริษัทชิปปิ้งหรือตัวแทนดำเนินพิธีศุลกากร
ข้อดีของการส่งออกแบบปกติทั่วไปนั้นมีหลายข้อดังนี้
- การส่งออกได้รับรองจากกรมศุลกากร ซึ่งถือว่าเป็นการรับประกันว่าเราจะไม่ทำผิดกฎหมายไม่ว่าจะเป็นประเภทสินค้า อากรขาออก รวมถึงขั้นตอนต่างๆ ในการส่งออก
- ลูกค้าต่างประเทศนิยมมากกว่า เนื่องจากการส่งออกแบบนี้ จะต้องผ่านด่านศุลกากรที่ถูกต้อง ทำให้เอกสารหลายๆ ชนิด เช่น Commercial Invoice, Packing List, Bill of Lading, Airway Bill รวมถึง Certificate of Origin ใบรับรองถิ่นกำเนิด ทำให้สะดวกและปลอดภัยในการนำเข้าไปยังประเทศปลายทาง
- ความปลอดภัยด้านการชำระเงิน เนื่องจากการชำระเงินบางประเภท เช่น Letter of Credit หรือ Bill for Collection ผู้นำเข้าต้องการเอกสารยืนยันการส่งออกจากผู้ส่งออก หากไม่ได้ส่งสินค้าผ่านศุลกากรตามขั้นตอนปกติแล้ว จะไม่ได้รับเอกสารดังกล่าวนั่นเอง
- เพิ่มความน่าเชื่อถือให้องค์กร หากเราเป็นลูกค้า แล้วผู้ขายสินค้า (ผู้ส่งออก) แนะนำให้ใช้วิธีที่ไม่ถูกต้องในการส่งออก ผู้นำเข้าอาจจะคิดได้เช่นกันว่าสินค้าที่ผลิตและส่งมานั้น อาจไม่ถูกต้องเช่นกัน
แบบที่ 2 การส่งออกผ่านช่องทางด่วนพิเศษ
การส่งออกรูปแบบนี้ มักใช้วิธีการส่งสินค้าทางไปรษณีย์หรือผู้ให้บริการขนส่งด่วนพิเศษ (Courier) เช่น DHL, FEDEX, UPS เป็นต้น ซึ่งการขนส่งลักษณะนี้จะเอกลักษณ์เฉพาะในเรื่องของขั้นตอนกฎระเบียบและเอกสาร โดยส่วนใหญ่จะคล้ายกับการขนส่งทางอากาศ (Air Freight)
สินค้าที่เหมาะกับการขนส่งประเภทนี้ ได้แก่ สินค้าที่มีน้ำหนักเบา ปริมาตรไม่สูง และมีจำนวนไม่มาก เช่น สินค้าตัวอย่าง สินค้าแฮนด์เมด รวมถึงสินค้าที่มีราคาสูง เช่น เครื่องประดับ จิวเวลรี่ พระเครื่อง อีกด้วย การขนส่งชนิดนี้มีไว้สำหรับรองรับการค้าขายขนาดใหญ่ เพราะเหมาะกับการส่งสินค้าตัวอย่าง รวมทั้งการรองรับการค้าขายออนไลน์ข้ามพรมแดน (Cross Border E-Commerce) ที่ผู้ซื้อนิยมซื้อสินค้าทีละชิ้นอีกด้วย
การส่งออกสินค้าทางไปรษณีย์หรือด่วนพิเศษนั้น สามารถทำได้ทั้งในรูปแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล การออกใบขนสินค้าสามารถทำได้ โดยใช้ใบขนชนิดพิเศษ โดยการขนส่งประเภทนี้ไม่ต้องติดต่อชิปปิ้งโดยตรง เพราะไปรษณีย์หรือบริษัท Courier ทั้งหลาย จะดำเนินการผ่านพิธีศุลกากรแทนเราแบบเบ็ดเสร็จนั่นเอง
แบบที่ 3 การส่งออกแบบขายเงินสด
การค้าลักษณะนี้จะเกิดจากการซื้อขายโดยใช้เงินสดเป็นหลัก ซึ่งผู้ซื้อเป็นชาวต่างประเทศ อาจจะซื้อในไทย แล้วให้ส่งไปทางขนส่งพิเศษ (Cargo) รวมถึงการค้าชายแดนด้วย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วการค้าผ่านช่องทางนี้มักจะเป็นการค้าแบบบุคคลธรรมดา มีน้อยมากที่จะทำในรูปแบบบริษัท เพราะการนำสินค้าผ่านแดน จะทำผ่านบริษัทตัวแทน (Cargo) ที่มักเรียกตัวเองว่าชิปปิ้ง และให้บริการแบบเหมาจ่าย คิดเงินเป็นน้ำหนักกิโล หรือ ปริมาตร ซึ่งอาจจะไม่ได้รับใบขนสินค้าชาออกแบบถูกต้องตามกระบวนการทุกขั้นตอนนั่นเอง
การขนส่งแบบนี้เหมาะกับการขายสินค้าผ่านชายแดนใกล้เคียง หรือการค้าแบบไม่เข้าในระบบบริษัท ซึ่งผู้ส่งออกต้องบริหารจัดการการรับเงิน รวมถึงแหล่งที่มารายได้ให้ถูกต้องเพราะอาจเกิดปัญหากับสรรพากรหรือศุลกากรในภายหลังได้
ในการประกอบธุรกิจส่งออกนั้น หากยังไม่แน่ใจว่าควรทำรูปแบบไหน ให้ติดต่อขอข้อมูลจาก กรมศุลกากร หรือ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือหากต้องการปรึกษากับสถาบัน สามารถติดต่อได้ตามช่องทางด้านล่างนี้ได้เลยครับ