ข้าวเป็นอาหารหลักที่เลี้ยงเราตั้งแต่เด็กจนจากโลกนี้ไป และยังเป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้หลักให้แก่ประเทศมานานหลายสิบปี ถึงแม้ในช่วงหลังจะมีสินค้าอื่นเป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้แซงหน้าข้าวก็ตาม ข้าวก็ยังเป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้ให้แก่ประเทศอย่างสม่ำเสมอ
รายได้จากสินค้าข้าวในปัจจุบัน ถึงแม้จะเทียบไม่ได้กับสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนหรือแผงวงจรไฟฟ้า แต่รายได้จากการส่งออกข้าวเป็นรายได้เกิดจากหยาดเหงื่อแรงงานของคนในประเทศตั้งแต่เริ่มปลูก เก็บเกี่ยว สี บรรจุ และส่งออก รายได้ส่วนใหญ่ตกอยู่ในประเทศ ยกเว้นส่วนที่เป็นค่าปุ๋ย ยาฆ่าแมลงที่ต้องนำเข้า ซึ่งไม่เหมือนสินค้าอุตสาหกรรมที่ส่วนใหญ่เราจะมีรายได้เฉพาะจากค่าแรงงานในการประกอบชิ้นส่วน
ประเทศไทยไม่ได้เป็นผู้ปลูกข้าวรายใหญ่ ผู้ปลูกข้าวรายใหญ่ คือประเทศจีน อินเดีย เวียดนาม ผลผลิตของไทยอยู่ในลำดับที่ 4 แต่ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่เป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งรักษาตำแหน่งนี้ติดต่อมาเป็นเวลาสิบกว่าปีแล้ว ถึงแม้จะมีคู่แข่งที่สำคัญตามมา ได้แก่ เวียดนาม สหรัฐอเมริกา อินเดีย แต่ไทยก็ทิ้งห่างไปเรื่อยๆ
กฎเกณฑ์การควบคุมดูแลการส่งออกข้าว
เนื่องจากข้าวเป็นสินค้าสำคัญของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์การควบคุมดูแล ให้เป็นไปในทางที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศโดยรวม สรุปได้ คือ
(1) ผู้ส่งออกจะต้องได้รับใบอนุญาตประกอบการค้าข้าวประเภทค้าข้าวส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ ตาม พ.ร.บ.การค้าข้าว พ.ศ.2486 จากกรมการค้าภายใน โดยมีคุณสมบัติที่สำคัญคือ เป็นนิติบุคคลมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท มีโรงเก็บข้าวหรือที่เรียกว่าโกดังที่ได้รับอนุญาตจากกรมศุลกากรให้ใช้เป็นโกดังส่งออกข้าวได้
(2) ในการส่งออกแต่ละครั้งต้องไปขอใบอนุญาตจากกรมการค้าต่างประเทศก่อน ศุลกากรจึงจะให้ส่งออกให้ แต่เดิมการส่งออกข้าวมีการกำหนดโควต้าส่งออกแต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันส่งออกได้ แต่ไม่มีการกำหนดโควต้าการส่งออก สำหรับผู้ที่ส่งออกที่จะขอรับใบอนุญาตส่งออก จะต้องไม่เคยเป็นผู้กระทำความเสียหายต่อการค้าระหว่างประเทศมาก่อน หรือมีกรรมการเคยเป็นกรรมการในนิติบุคคลดังกล่าว
(3) ข้าวที่ส่งออกต้องมีมาตรฐานที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด คือ ตามประกาศกระทรวงเรื่องมาตรฐานสินค้าข้าว พ.ศ.2540 แต่ถ้าเป็นข้าวหอมมะลิ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทย ตามประกาศกระทรวง พ.ศ.2544 และยังมีข้อกำหนดด้วยว่า ข้าวที่จะส่งออกต้องผ่านการตรวจสอบจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยด้วย
การตรวจสอบคุณภาพข้าวที่ส่งออก
ในการส่งออกข้าวจะต้องมีการตรวจสอบคุณภาพโดยผู้ตรวจสอบเอกชน หรือเรียกว่าเซอร์เวเยอร์ ที่ผู้ซื้อแต่งตั้ง ซึ่งแบ่งการตรวจสอบเป็นสอบขั้นตอน คือ ก่อนบรรทุก และขณะลำเลียงบรรทุกเพื่อส่งออก การตรวจสอบขั้นตอนแรก เป็นการไปแทงตัวอย่างรอบกองข้าวนำมาตรวจสอบ ถ้าผลการตรวจสอบดังกล่าวถูกต้องก็จะตรวจปล่อยบรรทุกเพื่อส่งออกได้ ขั้นตอนการตรวจปล่อยเซอร์เวเยอร์จะตรวจสอบข้าวโดยใช้ฉ่ำแทงตัวอย่างกระสอบข้าวที่ตรวจสอบทุกกระสอบ ถ้าคุณภาพไม่ได้มาตรฐานจะตัดกระสอบนั้นออก และจะมีการชั่งน้ำหนักโดยการสุ่มเป็นรายกระสอบ หรือทั้งคันรถ ในกรณีที่ลำเลียงโดยรถบรรทุก ขั้นตอนนี้จะมีผู้ตรวจสอบของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยไปร่วมตรวจสอบด้วย
ในปัจจุบันวิวัฒนาการในการส่งออกข้าวเปลี่ยนแปลงไป มีการใช้กระสอบโพลีเอทธีลีนบรรจุแทนกระสอบป่าน การบรรจุกระสอบใช้ตาชั่งและเครื่องเย็บอัตโนมัติ การตรวจสอบข้าวจึงไม่อาจใช้ฉ่ำแทงกระสอบสุ่มตัวอย่างได้ เพราะจะทำให้กระสอบโพลีเอทธีลีนขาดรั่ว จึงปรับปรุงวิธีการตรวจสอบ โดยไปตรวจสอบขณะบรรจุข้าวใส่กระสอบโพลีเอทธีลีน
การตรวจปล่อยของเจ้าพนักงานศุลกากร
การส่งออกข้าวส่วนใหญ่ผู้ส่งออกจะขอให้เจ้าพนักงานศุลกากรไปตรวจปล่อย ณ โกดังส่งออก ถ้าเรือใหญ่ที่จะรับบรรทุกข้าวจอดเทียบท่า ที่โกดังส่งออกก็สามารถลำเลียงขนข้าวขึ้นเรือใหญ่ได้เลย แต่ถ้าเป็นการส่งออกจากโกดังที่เรือใหญ่ไม่ได้เทียบท่า ต้องลำเลียงโดยรถบรรทุกหรือเรือโป๊ะไปลำเลียงขึ้นเรือใหญ่อีกต่อหนึ่ง ข้าวที่ตรวจปล่อยลงเรือแล้วจะมีการประทับตราครั่งที่รถบรรทุกหรือที่ผ้าใบที่ปิดระวางเรือ และถือว่าข้าวดังกล่าวอยู่ในอารักขาของศุลกากร
การลำเลียงข้าวโดยเรือโป๊ะ เพื่อไปขนถ่ายขึ้นเรือใหญ่นั้น จะมีจุดที่สำคัญๆ 3 จุดคือ
เทียบข้าวเรือใหญ่ที่จอดเทียบท่าโกดังส่งออกแถวสาธุประดิษฐ์ หรือพระประแดง
เทียบข้าวเรือใหญ่ที่จอดกลางน้ำ คือ กลางแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณตั้งแต่สาธุประดิษฐ์ ไปจนถึงบริเวณบางปลากด สมุทรปราการ
อีกจุดหนึ่ง คือ กรณีเรือใหญ่จอดรับบรรทุกบริเวณเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นกรณีที่รับบรรทุกข้าวบางส่วน จากบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาจนเรือใหญ่กินน้ำลึกใกล้เคียงกับความลึกของร่องน้ำส่วนที่เหลือเรือใหญ่ ต้องเคลื่อนย้ายไปรอรับบรรทุกที่เกาะสีชัง หรือเป็นกรณีที่เรือใหญ่มีระวางบรรทุกมากเข้ามาในร่องน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้ ต้องรอรับบรรทุกเฉพาะที่เกาะสีชังเท่านั้น การลำเลียงโดยเรือโป๊ะรับบรรทุกเป็นเรือใหญ่ที่เกาะสีชัง ภาษาในการส่งออก เรียกว่า “ออกเกาะ”
การตรวจสอบปริมาณข้าวที่บรรทุก
ในการตรวจสอบข้าวบรรทุกขึ้นรถ หรือลงเรือโป๊ะไปลงเรือใหญ่จะมีการนับจำนวนข้าวที่จะส่งออก โดยผู้เกี่ยวข้องสามฝ่าย คือ
ฝ่ายเจ้าของโกดัง ฝ่ายคนงานคนถ่ายเพื่อคิดค่าแรง และฝ่ายรถบรรทุกหรือเรือโป๊ะที่รับบรรทุก ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็รักษาผลประโยชน์ของตน กิจการที่ผิดพลาดเกือบไม่มีเลย
ข้าวที่ผ่านการตรวจปล่อยขึ้นรถบรรทุกหรือลงเรือโป๊ะลำดังกล่าว จะถือเป็นตัวเลขส่งออกแน่นอนไม่ได้ ตัวเลขที่แน่นอน คือ ข้าวที่รับบรรทุกขึ้นเรือใหญ่แล้ว การนับปริมาณข้าวที่บรรทุกขึ้นเรือใหญ่จะมีผู้เกี่ยวข้องเกือบทุกฝ่าย คือ ตัวแทนผู้ส่งออก(ถ้ามี) ฝ่ายตัวแทนเรือ ฝ่ายคนงานที่ลำเลียงขนข้าวและฝ่ายเรือโป๊ะ
เมื่อลำเลียงข้าวขึ้นบรรทุกบนเรือใหญ่ เจ้าพนักงานศุลกากรประจำเรือใหญ่จะแทงในใบขนสินค้ารับบรรทุก ปริมาณนี้จึงเป็นตัวเลขการส่งออกข้าวที่แน่นอน
ปริมาณที่บรรทุกขึ้นเรือใหญ่ไม่ครบ (SHORT SHIP)
ข้าวที่ผ่านการตรวจปล่อยจากโกดังส่งออก บรรทุกลงเรือโป๊ะหรือบางกรณีบรรทุกขึ้นรถยนต์ อาจจะบรรทุกขึ้นเรือใหญ่ได้ไม่ครบทั้งหมด มีสาเหตุที่สำคัญหลายประการ เช่น กระสอบบรรจุข้าวแตก และไม่มีกระสอบบรรจุใหม่ ข้าวเสียหายเพราะเปียกน้ำ ตัวแทนเรือไม่รับบรรทุก หรือระวางบรรทุกเต็มหรือบางกรณีเรือโป๊ะไปถึงเรือใหญ่ล่าช้ากว่าที่กำหนด เรือใหญ่ออกไปแล้ว เป็นต้น ข้าวที่บรรทุกขึ้นเรือใหญ่ไม่หมดดังกล่าว จะขนกลับโกดังได้ต้องมีใบปล่อยจากเจ้าพนักงานศุลกากรด้วย
จากขั้นตอนการส่งออกข้าวที่กล่าวมาโดยสรุป คงทำให้ผู้อ่านนึกภาพออกว่า การส่งออกข้าวแต่ละขั้นตอน มีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ตัวเลขที่ถือว่ามีการส่งออกที่ถูกต้องแท้จริง คือ ข้าวที่มีการบรรทุกขึ้นเรือใหญ่ และศุลกากรแทงในใบขนสินค้ารับบรรทุกแล้ว จึงมั่นใจได้ว่าสถิติการส่งออกข้าวที่ไทย เป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่ง เป็นแชมป์มาสิบกว่าปีติดต่อกัน เป็นแชมป์จริงไม่ใช่แชมป์จากตัวเลขลม
บทความนี้ได้รับข้อมูลไม่ทราบที่มา แต่สถาบันขอนำมาเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ส่งออกไทย หากท่านใดเป็นเจ้าของบทความสามารถแจ้งได้ทีี่ไลน์ เพื่อให้เครดิตต่อไปครับ